มทร.ธัญบุรี ร่วมกับ สคช. จัดทำมาตรฐานวิชาชีพ “รักษาความปลอดภัย”

ข่าวทั่วไป Tuesday April 19, 2016 17:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี รศ.ดร.เนตร์พัณณา ยาวิราช ผู้จัดการโครงการวิจัยมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสาขาธุรกิจรักษาความปลอดภัย คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) และผู้ประกอบการ จัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาอาชีพธุรกิจรักษาความปลอดภัย โดยให้ข้อมูลว่า ผู้ประกอบการอาชีพรักษาความปลอดภัยในปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 5 แสนคน และคาดว่าจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามความต้องการขององค์การ หน่วยงานและชุมชนในสังคม การจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพธุรกิจรักษาความปลอดภัยจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งขณะนี้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังร่วมกันจัดทำมาตรฐานอาชีพ โดยมีการประชุมคณะทำงานจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาอาชีพธุรกิจรักษาความปลอดภัย ไปแล้ว 5 ครั้ง ระหว่างเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2558 โดยแบ่งสาขาวิชาชีพเป็น 3 สายงานสำคัญ คือ 1.งานรักษาความปลอดภัยอาคารสถานที่และทรัพย์สิน 2.งานรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ เช่น ผู้นำประเทศ หรือบุคคลสำคัญจากต่างประเทศที่เดินทางมายังประเทศไทย หรือที่เดินทางไปต่างประเทศ ผู้มีตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ รวมทั้งดารา ศิลปิน นักฟุตบอล นักร้อง นางงาม นักธุรกิจ ฯลฯ และ 3.งานรักษาความปลอดภัยขนส่งทรัพย์สินมีค่า เช่น รถขนเงินธนาคาร หรือพาหนะในการเคลื่อนย้ายทรัพย์สิน เช่น อัญมณี วัตถุโบราณ หรือของมีค่าต่าง ๆ ซึ่งล้วนเป็นทรัพย์สินที่ประมาณค่ามิได้ จึงต้องดูแลเป็นอย่างดี จึงมีการจัดทำมาตรฐานอาชีพ "ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการช่วยกันจัดทำ ซึ่งเบื้องต้นได้ข้อสรุปจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้อยู่ในอาชีพรักษาความปลอดภัย ทุกภาคส่วนเห็นด้วยกับการจัดทำมาตรฐานอาชีพสาขาธุรกิจรักษาความปลอดภัย เพื่อยกระดับทรัพยากรมนุษย์ในอาชีพให้มีมาตรฐานเช่นเดียวกับนานาประเทศทั่วโลก เพื่อทำหน้าที่ป้องกัน รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับบุคคล สถานที่ เช่น โรงเรียน โรงงาน บริษัท ห้างร้าน หน่วยงาน สำนักงาน ธนาคาร อุตสาหกรรมต่าง ๆ และท่าอากาศยาน เป็นต้น และหากทำหลักสูตรมาตรฐานเสร็จสมบูรณ์ สถานศึกษาสามารถนำไปใช้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการได้ ทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีที่เกิดจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้ด้วย" รศ.ดร.เนตร์พัณณา อธิบาย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ