ปภ. รายงานสถานการณ์ภัยในหลายพื้นที่ พร้อมบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง

ข่าวทั่วไป Wednesday April 20, 2016 13:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์ภัยในหลายพื้นที่ โดยมีพื้นที่ประสบวาตภัย 6 จังหวัด ซึ่ง ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น อีกทั้งในช่วงวันที่ 19 - 21 เมษายน 2559 หลายพื้นที่ของประเทศไทยจะมีพายุฤดูร้อน ส่วนสถานการณ์ภัยแล้ง มี 27 จังหวัด ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ทั้งนี้ ปภ. ได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยทหารช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยสูบน้ำจากแหล่งน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรกรรม ผลิตน้ำประปา แจกจ่ายน้ำ อุปโภคบริโภค รวมถึงผลิตน้ำดื่มสะอาดแจกจ่ายประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น สำหรับสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ มี 7 จังหวัดที่คุณภาพอากาศอยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดย ปภ. ได้ระดมเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยฉีดพ่นละอองน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นและลดปริมาณหมอกควันในอากาศ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัย โดยมีพื้นที่ประสบวาตภัย 6 จังหวัด 20 อำเภอ 28 ตำบล 64 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหาย 366 หลัง ประกอบด้วยจังหวัดนครราชสีมา กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด บึงกาฬ ศรีสะเกษ และขอนแก่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจ ความเสียหายและให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น โดยแจกจ่ายอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านเรือน ถุงยังชีพ เครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยแล้ว อีกทั้งจากการติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ช่วงวันที่ 19 - 21 เมษายน 2559 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นได้ โดยมีลักษณะอากาศของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ จึงได้ประสาน 53 จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ เฝ้าระวังสถานการณ์ภัย และประกาศเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากพายุลมแรง โดยอยู่ให้ห่างจากต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันการถูกล้มทับ และลดความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า ในส่วนของสถานการณ์ภัยแล้ง ขณะนี้มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 27 จังหวัด 136 อำเภอ 614 ตำบล 4,911 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 6.55 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนน้ำ จึงได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ พร้อมจัดสรรน้ำอย่างรัดกุมมากที่สุด โดยให้ความสำคัญกับน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลัก รวมถึงให้วางแผนการนำน้ำจากแหล่งอื่น มาใช้ทดแทนแหล่งน้ำผิวดินที่มีปริมาณจำกัด โดยเฉพาะการขุดบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่ที่มีน้ำใต้ดินเพียงพอ การประสานปฏิบัติการฝนหลวง ในพื้นที่เหนือเขื่อน เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนให้เพียงพอต่อการจัดสรรน้ำในกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยทหารแจกจ่ายน้ำแก่ผู้ประสบภัยแล้ง โดยสูบน้ำจากแหล่งน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรกรรม 46,492,629 ลูกบาศก์เมตร สูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเข้าแหล่งน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปา 6,511,992,000 ลิตร แจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภค 260,862,284 ลิตร ผลิตน้ำดื่มสะอาดแจกจ่ายประชาชน 1,104,000 ลิตร นายฉัตรชัยฯ กล่าวต่อไปถึงสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือว่า จากการติดตามคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) มีค่าระหว่าง 51 – 309 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) มีค่าระหว่าง 57 – 182 โดยมี 7 จังหวัดที่คุณภาพอากาศอยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน และพะเยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยฉีดพ่นละอองน้ำ เพิ่มความชุ่มชื้นและลดปริมาณหมอกควันในอากาศ ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ