ข้อกำหนดการศึกษาวิจัย (TOR) โครงการวิจัยและพัฒนาระบบการจัดระดับ สถาบันอุดมศึกษาไทย : สาขาวิชาครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์

ข่าวทั่วไป Tuesday May 30, 2000 10:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--สำนักงานคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ
1. หลักการและเหตุผล
การเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ จากกระแสโลกาภิวัตน์ ได้ส่งผลกระทบต่อระบบอุดมศึกษาไทยหลายประการ สาเหตุสำคัญเกิดจากการที่ระบบอุดมศึกษาไทยไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างทันการณ์ จนทำให้เกิดความอ่อนแอในระบบบริหารและการจัดการอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่อง จากการประเมินผลการพัฒนาอุดมศึกษาในช่วงแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 และฉบับที่ 8 พบว่า อุดมศึกษาประสบปัญหาวิกฤตหลายประการโดยเฉพาะด้านคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ซึ่งสะท้อนจากผู้ใช้ผลผลิตของสถาบัน จนมีกระแสเรียกร้องจากสาธารณชนให้มีการปฏิรูปอุดมศึกษาทั้งระบบอย่าง จริงจัง ประกอบกับเป็นที่คาดการณ์กันว่าจากนโยบายการขยายการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ จะส่งผลให้แนวโน้มความต้องการการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นเกินกว่าสองเท่าตัว และจะส่งผลกระทบให้สถาบันอุดมศึกษาจำเป็นต้องเร่งปรับปรุง ทั้งในเชิงปริมาณและการพัฒนาคุณภาพเพื่อรองรับคลื่นนักศึกษาดังกล่าว
จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการจัดอันดับและจัดระดับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ รวมทั้งการจัดประชุมสัมมนา สำรวจความคิดเห็นหลายครั้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ข้อสรุปตรงกันว่า การจัดระดับสถาบันอุดมศึกษาเป็นกลไกหนึ่งในการติดตามความก้าวหน้า และการพัฒนาคุณภาพสถาบันอุดมศึกษาไทย รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการประเมินภายนอกของสถานศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 มาตรา 49 ที่กำหนดให้สถานศึกษาทุกแห่งต้องได้รับการประเมินอย่างน้อย 1 ครั้งในทุก 5 ปี และเสนอผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน ประเทศไทยจึงควรดำเนินการให้มีการจัดระดับสถาบันอุดมศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชนของประเทศไทยเอง โดย หน่วยงานที่เป็นกลาง และในการดำเนินงานควรคำนึงถึงประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ จึงพิจารณาเห็นว่าการจัดระดับสถาบัน อุดมศึกษาไทยนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุดมศึกษาของประเทศ และจะเป็นกลไกหนึ่งในการติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงาน และการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการของสถาบันอุดมศึกษา อันจะส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตของสถาบันดังกล่าวแล้ว การดำเนินงานดังกล่าว จะทำให้ผู้เรียนได้รับทราบข้อสนเทศที่เป็นประโยชน์ ก่อนการตัดสินใจเลือกศึกษาตามความเหมาะสมและความต้องการของตน ตลอดจนมีประโยชน์ต่อผู้ใช้ผลผลิตของสถาบันอุดมศึกษาในหลากหลายแง่มุม จึงได้ร่วมมือกับสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ดำเนินการโครงการวิจัยและพัฒนาระบบการจัดระดับสถาบันอุดมศึกษาไทย ในสาขาวิชาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เป็นสาขาแรก ทั้งนี้ สำนักงานฯ ได้ แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดระดับสถาบันอุดมศึกษาไทยซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ สื่อมวลชน และคณะทำงานจัดระดับสถาบันอุดมศึกษาไทย สาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ขึ้น เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
2. วัตถุประสงค์ของโครงการ
2.1 เพื่อดำเนินการวิจัยและพัฒนาระบบการจัดระดับสถาบันอุดมศึกษา ที่เหมาะสมกับสภาพและบริบทของประเทศไทย
2.2 เพื่อทดลองใช้ระบบการจัดระดับสถาบันอุดมศึกษาที่พัฒนาขึ้นกับสาขาวิชาครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์
3. ขอบเขตของการดำเนินงาน
3.1 วิจัยและพัฒนาระบบการจัดระดับ (rating) สถาบันอุดมศึกษาที่ใช้ได้กับสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญา ทั้งของรัฐและของเอกชน
3.2 วัตถุประสงค์ของการจัดระดับสถาบันอุดมศึกษา มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาและการให้ข้อมูลข่าวสารสำหรับผู้บริโภค
3.3 วิธีการกำหนดองค์ประกอบหลัก ตัวชี้วัด นิยาม และค่าน้ำหนักแต่ละองค์ประกอบ ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย สามารถเก็บข้อมูลได้ง่าย สะดวกและประหยัด มีความชัดเจน โปร่งใส และเป็นธรรม รวมทั้งครอบคลุมภารกิจทั้งมวลของสถาบันอุดมศึกษา
3.4 คุณสมบัติของระบบการจัดระดับสถาบันอุดมศึกษาไทย
1) แสดงถึงและส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา และการพัฒนาผู้เรียนในระดับอุดมศึกษาโดยเฉพาะในเรื่อง value added
2) แสดงถึงและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาหรือความก้าวหน้าในการดำเนินภารกิจ และหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้ง ความสำคัญของสถาบันอุดมศึกษาที่พึงมีต่อสังคมและประเทศ
3) แสดงถึงและส่งเสริมความมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการบริหารจัดการ และดำเนินภารกิจของสถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนศักยภาพในการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัตน์และการพัฒนาประเทศ
3.5 การรายงานผล ประกอบด้วยรายงานผลการวิจัยและพัฒนาระบบการจัดระดับสถาบันอุดมศึกษาไทย และผลการจัดระดับสถาบันอุดมศึกษาไทยในสาขาวิชาครุศาสตร์ / ศึกษาศาสตร์ ปี 2543
4. วิธีการและขั้นตอนในการดำเนินการวิจัย
4.1 คณะกรรมการอำนวยการฯ แต่งตั้งคณะทำงานจัดระดับสถาบันอุดมศึกษาไทยสาขาวิชาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ และให้นโยบายในการดำเนินงาน
4.2 นักวิจัยเสนอโครงการ (proposal) ต่อคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพิจารณาคัดเลือก โดยระบุสาระตามขอบเขตการดำเนินงาน รวมทั้งแผนและวิธีการดำเนินงาน งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอน/กิจกรรม โดยละเอียด
4.3 เมื่อได้รับการคัดเลือกแล้ว นักวิจัยดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาโดยกำหนดองค์ประกอบหลัก ตัวชี้วัดและนิยาม ตลอดจนน้ำหนักความสำคัญของแต่ละองค์ประกอบ เสนอที่ประชุม คณะทำงาน และคณะกรรมการอำนวยการ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ
4.4 นักวิจัยดำเนินการให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับองค์ประกอบหลักและตัวชี้วัด จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนกลุ่มที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ
4.5 นักวิจัยกำหนดวิธีการรวบรวมข้อมูล สร้างเครื่องมือ และตรวจสอบเครื่องมือตามระเบียบวิธีวิจัยโดยละเอียด
4.6 นำเสนอคณะกรรมการอำนวยการ พิจารณาให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ
4.7 นักวิจัยดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล ประมวลผล และวิเคราะห์ข้อมูล
4.8 นักวิจัยจัดทำรายงานผลการวิจัยและพัฒนาระบบการจัดระดับสถาบันอุดมศึกษาไทย และรายงานผลการจัดระดับสาขาวิชาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ปี 2543 เสนอคณะทำงานฯ สภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ คณะกรรมการอำนวยการ และกกศ. ประกอบด้วยสาระสำคัญเกี่ยวกับระเบียบวิธีที่ใช้ ตาราง แผนภาพ แผนภูมิแสดงผลการศึกษาวิจัย ผลการวิเคราะห์ข้อมูล และผลการจัดระดับ รวมทั้งบทวิเคราะห์ /วิจารณ์ เกี่ยวกับผลการจัดระดับสถาบันอุดมศึกษาในสาขาวิชาครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ และจัดทำเอกสารผลการจัดระดับสถาบันอุดมศึกษาสาขาวิชาครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ ฉบับที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณชน
4.9 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ จัดพิมพ์และเผยแพร่ (หมายเหตุ : ขั้นตอน 4.3-4.7 นักวิจัยนำเสนอความก้าวหน้าเป็นระยะๆ ตามที่คณะทำงานเห็นสมควร)
5. ระยะเวลาและแผนดำเนินการวิจัย ระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 9 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2543 - กุมภาพันธ์ 2544 กิจกรรม พ.ค.. มิ.ย. ก.ค. ส.ค.. ก.ย. ต.ค. พ.ย.. ธ.ค.. ม.ค. ก.พ. 1. นักวิจัยเสนอโครงการต่อคณะกรรมการ อำนวยการฯ คัดเลือก . . . . . . . . . 2. นักวิจัยดำเนินการศึกษาวิจัยกำหนด องค์ประกอบหลัก และตัวชี้วัด . . . . .. .. . . 3. นักวิจัยดำเนินการวิจัยและ โครงการนำร่อง . . . . . . 4. คณะทำงานและคณะกรรมการ- อำนวยการ พิจารณาให้ความ เห็น . . . . . . . 5. นักวิจัยจัดทำรายงานเสนอ คณะกรรมการอำนวยการ . . . . . . . . . 6. เสนอ กกศ . . . . . . . . . 7. เผยแพร่ต่อสาธารณชน . . . . . . . . .
6. การประเมินผล
6.1 ประเมินความคิดเห็นของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ที่เข้าร่วมโครงการ
6.2 ประเมินผลจากการใช้ระบบการจัดระดับ
7. วิธีการเสนอโครงการเพื่อขอรับทุนสนับสนุน
7.1 คณะนักวิจัย นักวิชาการ หน่วยงาน/องค์การทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจ ติดต่อขอรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกำหนดในการศึกษาวิจัย (TOR) ได้ที่ : สำนักงานโครงการปฏิรูปอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 หรือทางโทรศัพท์ 668-7110-24 ต่อ 2511, 2513, 2515 หรือ web site : www.onec.go.th ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
7.2 คุณสมบัติของผู้เสนอโครงการต้องไม่เป็นกรรมการ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดระดับสถาบันอุดมศึกษาไทย และคณะทำงานจัดระดับสถาบันอุดมศึกษาไทย สาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์
7.3 คณะกรรมการอำนวยการจะพิจารณาคัดเลือกโครงการที่เหมาะสม และ/หรือแจ้งผู้เสนอโครงการให้ปรับปรุง และ/หรือลงนามในสัญญาเพื่อเริ่มดำเนินโครงการตามแผน
คณะนักวิจัยที่ประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์หลากหลายสาขา ที่จะเอื้อต่อการดำเนินโครงการอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
7.4 คณะนักวิจัยที่ได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินการ ต้องเสนอรายงานความก้าวหน้าเป็นระยะ ๆ เพื่อรับทุนสนับสนุนซึ่งแบ่งเป็นงวด ๆ ประมาณ 4 งวด พร้อมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงการดำเนินงาน ดังนี้
รายงานครั้งที่ 1 เมื่อศึกษาวิจัย กำหนดองค์ประกอบหลักและตัวชี้วัดแล้วเสร็จ
รายงานครั้งที่ 2 เมื่อสร้างเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลและตรวจสอบเครื่องมือแล้วเสร็จ
รายงานครั้งที่ 3 เมื่อดำเนินการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลแล้วเสร็จ
รายงานครั้งที่ 4 รายงานผลการศึกษาวิจัยและจัดระดับฉบับสมบูรณ์แล้วเสร็จ
7.5 ผู้สนใจเสนอโครงการ (proposal) เข้ารับการพิจารณาตามข้อกำหนด ต้องระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัย (methodology) วิธีการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอน และแผนการดำเนินงาน รวมทั้งงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานแต่ละขั้นตอน/กิจกรรมโดยละเอียด ตลอดจนผลงาน ประสบการณ์และประวัติคณะวิจัย และส่งได้ที่ :
สำนักงานโครงการปฏิรูปอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ โทร. 668-7110-24 ต่อ 2511, 2513, 2515 ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2543
8. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
การจัดระดับสถาบันอุดมศึกษาไทย จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพสถาบันอุดมศึกษา อันส่งผลต่อคุณภาพของการผลิตบัณฑิตและการดำเนินภารกิจโดยรวมของสถาบัน ให้สามารถพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ ส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพของประเทศ
9. หน่วยงานที่รับผิดชอบ
คณะกรรมการอำนวยการจัดระดับสถาบันอุดมศึกษาไทย และสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ