ผู้สูงอายุ – อ้วนเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง แพทย์แนะหมั่นตรวจสุขภาพสามารถป้องกันได้

ข่าวทั่วไป Tuesday April 26, 2016 15:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111 โรคความดันโลหิตสูง สามารถพบได้กับผู้สูงวัย เพราะฉะนั้นเมื่ออายุมากขึ้นความดันก็จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ โอกาสพบความดันโลหิตสูงในคนสูงอายุก็จะมากกว่าคนที่อายุน้อย และในส่วนที่คนน้ำหนักตัวเกินหรืออยู่ในภาวะอ้วนก็จะทำให้แรงต้านทานของเส้นเลือดที่อยู่ในร่างกายสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ วิธีการสังเกตอาการต่อความเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่มากกว่า 90% ของคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง 2 – 3 ปีแรก มักจะไม่มีอาการ เพราะฉะนั้นในช่วง 2 – 3 ปีแรกอาจจะกำลังอยู่ในภาวะความดันโลหิตสูงโดยที่เราไม่ทราบมาก่อน แต่เมื่อความดันเริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีภาวะแทรกซ้อนเราอาจจะเริ่มมีอาการ เช่น เริ่มปวดศีรษะบ่อย ๆ เวียนศีรษะบ่อย ๆ ขณะที่ภาวะแทรกซ้อนโรคความดันโลหิตสูงเกิดขึ้นกับเส้นเลือด เพราะฉะนั้นทุกที่ในร่างกายที่เส้นเลือดไปถึงก็สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูงได้เช่น ตั้งแต่เส้นเลือดในสมองมีภาวะเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตกมีภาวะเส้นเลือด ที่มีการเปลี่ยนแปลงมีภาวะหลอดเลือดที่หัวใจ ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบ หรือมีภาวะหัวใจโต มีภาวะของโรคไต หรือภาวะของเส้นเลือดที่แขนขาเกิดการแข็งตัวมากขึ้น นอกจากนี้ ถ้าเกิดมีอาการปวดศีรษะ เวียนหัวบ่อย ๆ ควรจะตรวจวัดความดัน หรือพบว่าความดันเริ่มสูง เช่นมากว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ก็สามารถวินิจฉัยว่า เริ่มมีความดันโลหิตสูงควรมาพบแพทย์เพื่อให้คำแนะนำในการรักษา โดยการตรวจวินิจฉัย ส่วนใหญ่โรคนี้ทำการตรวจง่าย ๆ ด้วยการวัดความดัน ปัจจุบันมีอุปกรณ์วัดความดันที่ขายตามท้องตลาด แต่ว่าวิธีการที่เหมาะสมจะต้องวัดให้ถูกต้อง ขนาดตัวที่วัดความดันจะต้องมีขนาดทีเหมาะสมกับแขน ซึ่งก่อนวัดจะต้องไม่ดื่มเครื่องดืมแอลกอฮอล์ หรือกาแฟเป็นเวลามากกว่า 30 นาที ซึ่งต้องนั่งพัก 5 -10 นาที ก่อนในการตรวจวัด เนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงสามารถขึ้น ๆ ลง ๆ ได้อยู่ตลอดเวลา และแพทย์จะมีอุปกรณ์เครื่องตรวจวัดความดันที่กลับไปตรวจวัดที่บ้านได้เรียกว่า ambulatory blood pressure monitoring จะเป็นเครื่องมือที่ติดตัวคนไข้ไว้กับตลอด 24 ชั่วโมง เช่น ช่วงเช้า กลางวัน เย็น หรือกลางคืน หรือช่วงที่เรามีกิจวัตรประจำวัน สามารถเป็นการยืนยันได้ว่า มีความดันโลหิตสูงหรือไม่ สำหรับวิธีการรักษามีทั้งใช้ยาและไม่ใช้ยาเริ่มต้นจากการไม่ใช้ยาก่อนคือ พยายามอย่าเครียด ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ เรื่องการรับประทานอาหารไม่ควรรับประทานส่วนที่มีเกลือผสมมากจนเกินไป พยายามลดน้ำหนัก ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ หากว่าวิธีการเหล่านี้ลองแล้วยังไม่ดีขึ้น ไม่ได้ผล แพทย์จะเริ่มรักษาด้วยวิธีการใช้ยา โรคความดันโลหิตสูงถือเป็นภัยเงียบ ที่เกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว มาพร้อมกับภัยร้ายต่างๆ ทางที่ดีควรที่จะตรวจเช็คร่างกายว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคนี้หรือไม่ จะได้ทำการรักษาอย่างทันท่วงที

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ