กทม. จัดโครงการแปรรูปกล่อง UHT หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ช่วยลดปริมาณขยะ

ข่าวทั่วไป Thursday June 1, 2000 09:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--กทม.
ที่ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร วันนี้ (31 พ.ค.43) เวลา 13.00 น. นายอัศวิน อภัยวงศ์ โฆษกคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ว่า ปัจจุบันคนไทยใส่ใจต่อสุขภาพโดยหันมาบริโภคนมมากขึ้น แต่ปริมาณขยะที่เป็นกล่องนมก็มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะ “โครงการนมโรงเรียน” ที่จัดตั้งขึ้นโดยกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมการบริโภคนมของเด็กนักเรียนคิดเป็นปริมาณการบริโภคตลอดปี 58 ล้านกล่อง ดังนั้น เพื่อเป็นการลดปัญหาขยะของเมืองซึ่งตกปีละหลายพันตัน กรุงเทพมหานคร โดย บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จึงได้ดำเนินโครงการแปรรูปบรรจุภัณฑ์ของเหลวหรือกล่อง UHT ขึ้น เพื่อเป็นการลดปริมาณมูลฝอยที่เกิดจากการบริโภคอาหารเหลวที่บรรจุในกล่องยูเอชที โดยการนำขยะกล่องยูเอชทีหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ โดยแปรรูปเป็น “แผ่นประกอบ” หรือ “แผ่น GREEN BOARD ” เพื่อใช้เป็นวัสดุทดแทนไม้ที่ใกล้จะหมดไป นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมรายได้ให้กับประชาชนโดยจะมีการเปิดศูนย์ฝึกอาชีพโดยใช้ผลิตภัณฑ์ GREEN BOARD เป็นวัตถุดิบในการผลิต ตลอดจนใช้ทดแทนไม้ที่ใช้ในการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และจะเป็นส่วนช่วยในการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนด้วย
โครงการแปรรูปบรรจุภัณฑ์ของเหลวหรือกล่อง UHT นี้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรที่จะแปรรูปกล่อง UHT แบบให้เปล่า จำนวน 1 เครื่อง จาก บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำของโลก ด้านการพัฒนาระบบเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต การบรรจุ และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเหลว โดยการดำเนินโครงการดังกล่าว บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ
โฆษกคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมคณะผู้บริหารฯได้เห็นชอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล พ.ศ.2530 ทั้งนี้ เนื่องจากข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล พ.ศ.2530 ได้กำหนดบุคคลผู้มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือประเภท ข. ว่า ได้แก่ ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) อาสาสมัคร สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ตามโครงการของกรุงเทพมหานคร โดยให้ได้รับสิทธิในการ ช่วยเหลือเฉพาะตัวไม่รวมถึงบุคคลในครอบครัว และสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขตสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้เฉพาะการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการเท่านั้น ดังนั้น จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อบัญญัติดังกล่าว ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นโดยให้ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขตามโครงการของกรุงเทพมหานครหรือของกระทรวงสาธารณสุข ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลรวมถึงบุคคลในครอบครัวด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล พ.ศ.2537 ที่ได้กำหนดให้อาสาสมัครสาธารณสุขตาม โครงการของกรุงเทพมหานคร เป็นผู้มีสิทธิประเภท ก. ซึ่งได้รับความช่วยเหลือรวมถึงบุคคลในครอบครัว รวมทั้งให้อาสาสมัครประเภทอื่น ๆ ตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกำหนด อาทิ อปพร. ได้รับการช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลเป็นการเฉพาะตัวด้วย ตลอดจนให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขตได้รับสิทธิในการดูแลด้านสุขภาพอนามัยเช่นเดียวกับข้าราชการ และลูกจ้างของกรุงเทพมหานคร สำหรับร่างข้อบัญญัตินี้จะนำเสนอสภากรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ