นโยบายเศรษฐกิจและที่อยู่อาศัยที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

ข่าวอสังหา Monday October 12, 2015 10:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ตามที่รัฐบาลพยายามส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในภาวะที่แทบไม่มีลู่ทางในการลงทุนเป็นการสร้างความเสี่ยงแก่ภาคเอกชนเป็นอย่างยิ่ง ส่วนการสร้างบ้านคนจนเลียนแบบรัฐบาลทักษิณก็อาจจะกลายเป็นการเอื้ออาทรผู้รับเหมา ตามที่ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พยายามกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภาคเอกชน โดยอ้างว่าเศรษฐกิจถึงก้นเหวแล้ว แต่ในการประเมินของธนาคารโลก อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยยังจะลดต่ำลงในปีหน้า จาก 2.5% เหลือ 2.0% การผลักดันให้ภาคเอกชนลงทุนในขณะที่ยังไม่เห็นลู่ทางการลงทุนที่ชัดเจนเท่ากับเป็นการผลักดันให้นักลงทุนพบกับอันตรายจากความเสี่ยง ดังนั้นรัฐบาลจึงพึงสังวร ถึงแม้ว่าตัวเลข GDP จะไม่สูงก็ไม่จำเป็นต้องรีบเร่ง "ปั๊ม" เพราะอาจยิ่งตกต่ำกว่าที่คาดคิด หากการลงทุนของภาคเอกชนไม่ประสบความสำเร็จดังหวัง ภาวะในขณะนี้นักลงทุนจึงมักถือทุนไว้ในมือก่อนเพื่อรอจังหวะที่เหมาะสมต่อไป ในภาวะนี้รัฐบาลอาจออกพันธบัตรเพื่อการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคจะเป็นประโยชน์กว่าการให้ภาคเอกชนไปลงทุนอย่างสุ่มเสี่ยง ยิ่งกว่านั้น พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยังมีโครงการที่จะสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยเลียนแบบโครงการของอดีตนายกฯ ทักษิณ อย่างไรก็ตามภาวะตลาดในขณะนี้ไม่มีความขาดแคลนที่อยู่อาศัยแต่อย่างใด จึงไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่ และภาคเอกชนของไทยสามารถสร้างที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนในราคาถูกโดยรัฐบาลไม่จำเป็นต้องอุดหนุนแต่อย่างใด การก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยตามนโยบายดังกล่าว จึงอาจเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ สำหรับตัวอย่างนโยบายบ้านเอื้ออาทรในอดีต รัฐบาลทักษิณเคยคิดจะสร้างถึง 1 ล้านหน่วย แต่สุดท้ายวางแผนไว้เพียง 6 แสนหน่วย เพราะความต้องการมีจำกัด แต่สร้างได้จริงเพียงราว 3 แสนหน่วย และมีเป็นจำนวนมากที่ยังไม่มีผู้ซื้อ ส่วนหน่วยที่มีผู้อยู่อาศัยก็มีเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นผู้ซื้อ แต่เป็นผู้เช่า แสดงว่าไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายที่จะให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยของตัวเอง การสร้างบ้านเอื้ออาทรเท่ากับเป็นการเอื้ออาทรต่อผู้รับเหมาก่อสร้าง การออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อระดมทุนมาก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคน่าจะเป็นลู่ทางการลงทุนที่มั่นคงที่สุดของประชาชน และการส่งเสริมให้ภาคเอกชนพัฒนาที่อยู่อาศัยด้วยมาตรการด้านผังเมือง การจัดหาที่ดินหรืออื่น ๆ ย่อมจะดีกว่าที่รัฐบาลจะก่อสร้างที่อยู่อาศัยเอง เพราะรัฐบาลไม่ต้องเสียเงินอุดหนุนใด ๆ ในปัจจุบันมีบริษัทพัฒนาที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ของภาคเอกชนเป็นจำนวนมากที่จัดหาที่อยู่อาศัยแก่ประชาชนได้ดีกว่าภาครัฐ เช่น บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ที่พัฒนามา 20 ปี ได้ 415 โครงการรวม 163,630 หน่วย ในขณะที่การเคหะแห่งชาติพัฒนามานานกว่าเกือบเท่าตัว กลับสร้างได้เคหะชุมชนได้เพียง 142,103 หน่วย ไม่นับรวมการปรับปรุงชุมชนแออัด บ้านเอื้ออาทร ฯลฯ อ้างอิง 1. "สมคิด" ลั่นศก.ไทยถึงจุดต่ำสุดและกำลังจะปรับตัวดีขึ้น เรียกร้องเอกชนเชื่อมั่นในปท. 2. ดึงเอกชนขาย"บ้านคอนโด"ไม่เกิน7แสน สั่งเคหะทำแผน10ปีป้อนผู้มีรายได้น้อย2ล้านครัวเรือน 3. พฤกษา เรียลเอสเตท บริษัทพัฒนาที่ดินเบอร์ 1 อ้างอิง: AREA แถลง ฉบับที่ 308/2558: วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ