ปภ. ประสานทุกภาคส่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง - เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน

ข่าวทั่วไป Tuesday May 3, 2016 11:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 29 จังหวัด ขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรัง เพื่อป้องกันผลผลิตได้รับความเสียหาย ติดตามประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการจากกรมอุตุนิยมวิทยา และวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำในพื้นที่ สำหรับช่วงระหว่างวันที่ 28 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2559 จะเกิดพายุฤดูร้อนขึ้นได้ในบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากพายุลมแรง พร้อมกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำที่มีจำกัดอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเพียงพอตลอดจนถึงช่วงต้นฤดูฝน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง โดยมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 29 จังหวัด รวม 154 อำเภอ 705 ตำบล 5,679 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 7.58 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ แยกเป็น จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภค 11 จังหวัด ได้แก่ น่าน พิจิตร ลำพูน ตาก สุรินทร์ ขอนแก่น ชัยนาท สระบุรี ชลบุรี ตรัง และประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำเพื่อการเกษตร 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา สุโขทัย นครพนม มหาสารคาม บุรีรัมย์ กาญจนบุรี สระแก้ว และจันทบุรี และจังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร 9 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ นครราชสีมา เพชรบุรี ตราด สตูล กระบี่ นครศรีธรรมราช และหนองบัวลำภู รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรรเทาสาธารณภัย ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยสูบน้ำจากแหล่งต่างๆ เข้าพื้นที่การเกษตร และระบบการผลิตน้ำประปา พร้อมจัดรถบรรทุกน้ำนำน้ำสะอาดไปเติมในภาชนะเก็บกักน้ำกลางประจำหมู่บ้านให้สอดคล้องกับวงรอบการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น อีกทั้งจากการประสานข้อมูลกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและสารสนเทศ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า เกษตรกรใน พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งมีความเสี่ยงต่อผลผลิตได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากยังไม่มีน้ำในระบบกักเก็บสำหรับสนับสนุนการปลูกข้าวไปจนกว่าจะถึง ช่วงเดือนกรกฎาคม 2559 จึงขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรังรอบที่ 2 โดยกักเก็บน้ำฝนสำหรับใช้ในการทำนา ติดตามประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการจากกรมอุตุนิยมวิทยา และวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำในพื้นที่ นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า จากการประสานข้อมูลกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ช่วงระหว่างวันที่ 28 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2559 จะเกิดพายุฤดูร้อน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากพายุลมแรง โดยอยู่ให้ห่างจากต้นไม้และสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันการล้มทับ อย่างไรก็ตาม ฝนที่ตกลงมาในระยะนี้ จะช่วยคลายความร้อน เพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ และเพิ่มความชื้นในอากาศ ส่งผลให้การปฏิบัติการฝนหลวงมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงขอให้ประชาชนกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำที่มีจำกัดอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ลักลอบสูบน้ำเพื่อนำไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ เพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่ภาครัฐกำหนด ส่งผลให้มีน้ำอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งถึงช่วงต้นฤดูฝน หากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 เพื่อประสานให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ