ข้อมูลประกอบการบรรยาย หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 43 เรื่อง "กระทรวงพาณิชย์กับการกำหนดและการพัฒนานโยบายความมั่นคงแห่งชาติ"

ข่าวทั่วไป Wednesday June 13, 2001 14:41 —ThaiPR.net

ข้อมูลประกอบการบรรยาย
หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 43
หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่นที่ 13
เรื่อง "กระทรวงพาณิชย์กับการกำหนดและการพัฒนานโยบายความมั่นคงแห่งชาติ"
โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอดิศัย โพธารามิก)
ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ
วันพุธที่ 13 มิถุนายน 2544
--------------
การพาณิชย์กับความมั่นคงแห่งชาติ
ความมั่นคงแห่งชาติ หมายถึง การที่ชาติมีเศรษฐกิจที่มั่นคง สังคมที่มั่นคง ส่วนการป้องกันประเทศก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ แต่มิใช่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเฉพาะทางด้านการทหารเท่านั้น อย่างไรก็ตามทุกส่วนก็มีความสำคัญต่อประเทศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันและมีความสัมพันธ์อย่างสอดคล้องกัน ดังจะเห็นได้จากชาติใดกำลังเศรษฐกิจอ่อนแอ ก็ไม่สามารถเสริมกำลังทหารได้ และกำลังเศรษฐกิจจะมั่นคงได้ยากถ้าสังคมและการเมืองไม่อำนวย
การที่เศรษฐกิจและสังคมจะมีความมั่นคงได้นั้น ต้องยอมรับว่าจำเป็นต้องอาศัยพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ คือ การพาณิชย์ เพราะการพาณิชย์ เป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดรายได้ เกิดการจ้างงาน เกิดการขยายการลงทุนเพื่อขยายการผลิตในสาขาต่างๆ เพื่อป้อนสินค้าสู่ตลาด เกิดการพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ปริมาณการค้าที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ประเทศชาติและประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการกินดีอยู่ดี สุดท้ายความมั่นคงก็จะเกิดกับระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการพาณิชย์ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการพาณิชย์ จึงมีบทบาทโดยตรงในการสร้างความมั่นคงให้กับสังคมและประเทศชาติ
บทบาทหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์กับการพัฒนาความมั่นคงแห่งชาติ
กระแสโลกาภิวัตน์และสภาพแวดล้อมโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างกว้างขวาง และจะส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยที่สังคมไทยมีอาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งในด้านหนึ่งการเปิดประเทศรับกระแสดังกล่าวจะยังประโยชน์ต่อการเจริญเติบโต และเป็นพลังกดดันให้ระบบเศรษฐกิจไทยต้องเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน แต่อีกด้านหนึ่งกระแส
โลกาภิวัตน์ อาจสร้างปัญหาใหญ่หลวงต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยได้ หากเราไม่สร้างความมั่นคงและเข้มแข็งให้กับตัวเอง ดังที่ประเทศประสบวิกฤตมาแล้วเมื่อ 3 ปีก่อน จากการเปิดเสรีตลาดการเงินโดยขาดการเตรียมตัวอย่างเหมาะสม
เพื่อสนับสนุนและพัฒนานโยบายความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์จึงมีแนวทางในการ
ดำเนินงานด้านการพาณิชย์ เพื่อสร้างความมั่งคั่งและมั่นคงให้กับประชาชนและประเทศชาติ ดังนี้
1. การพัฒนาตลาดและรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร
การผลิตภาคเกษตรกรรมยังคงมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เพราะประมาณ 60 % ของประชากรไทยเป็นเกษตรกร ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงมีนโยบายแน่วแน่ที่จะรักษาเสถียรภาพระดับราคาสินค้าเกษตรและยกระดับราคาสินค้าให้สูงขึ้น เพื่อให้เกษตรกรซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศมีรายได้ที่มั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันจะนำมาซึ่งการเพิ่มขึ้นของการบริโภคสินค้าอื่นๆ เกิดการขยายตัวในภาคการผลิต และส่งผลต่อเนื่องของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยกระทรวงพาณิชย์มีการดำเนินการดังนี้
? การพัฒนาระบบตลาดสินค้าเกษตร ได้แก่
(1) เตรียมจัดตั้งตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า เพื่อสร้างรายได้ที่แน่นอนให้กับเกษตรกร และลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการเปิดตลาด ซึ่งสินค้าที่จะซื้อขายในเบื้องต้นมี 4 สินค้า ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และกุ้งกุลาดำ
(2) ส่งเสริมพัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตร เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ปัจจุบันมีตลาดกลางที่ส่งเสริมรวม 86 แห่ง ในพื้นที่ 38 จังหวัด เป็นตลาดกลางข้าวและพืชไร่ ผักและผลไม้ และสัตว์น้ำ เกษตรกรที่จำหน่ายผลผลิตผ่านตลาดกลางจะได้รับราคาสูงกว่าตลาดท้องถิ่น เช่น ข้าวเปลือกเฉลี่ยตันละ 200 บาท
(3) ส่งเสริมการจัดทำตลาดข้อตกลงซื้อขายสินค้าเกษตร โดยใช้แบบสัญญาข้อตกลงซื้อขายมาตรฐานในการซื้อขายสินค้าหลายชนิด ได้แก่ สับปะรด ข้าวโพดหวาน หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วเขียวผิวมัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี เพื่อเสริมสร้างให้การซื้อขายสินค้าเกษตรระหว่างเกษตรกรกับผู้รับซื้อเป็นไปด้วยความเป็นธรรม
(4) การจัดซื้อและจำหน่ายสินค้า โดย อคส. จะเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อสินค้าจากผู้ผลิตและขายให้กับผู้ซื้อในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นการช่วยยกระดับราคาสินค้าและให้ประชาชนซื้อสินค้าได้ในราคาถูก
? ช่วยเหลือเกษตรกรให้จำหน่ายผลผลิตได้ราคา
(1) การแทรกแซงตลาดตามมติคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร
(คชก.) โดย อคส. เข้าแทรกแซงยกระดับราคาสินค้าพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว กาแฟ หอมแดง มะนาว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หอมหัวใหญ่ ลูกเดือย ไข่ไก่ ไก่เนื้อ สุกร ปลาโอ สับปะรด ทุเรียน ลำไย เงาะ มะนาว พริกแห้ง อ้อยและน้ำตาลทราย และน้ำนมดิบ เป็นต้น ในปีงบประมาณ 2544 ได้อนุมัติวงเงินช่วยเหลือด้านการตลาดสินค้าเกษตร จำนวน 7,426 ล้านบาทสำหรับสินค้า 6 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว กาแฟ และไข่ไก่
? ส่งเสริมพัฒนาคุณภาพผลผลิต เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรและผู้ประกอบการค้าพัฒนา
และปรับปรุงคุณภาพการผลิตซึ่งจะช่วยให้ขายได้ราคาดีขึ้น เช่น จัดประกวดข้าวหอมมะลิ ข้าวตราคุณภาพ เมล็ดกาแฟพันธุ์โรบัสต้า การรับรองคุณภาพข้าวหอมมะลิบรรจุถุง เป็นต้น
2. การพัฒนาและส่งเสริมการส่งออก
การส่งออก เป็นตัวจักรสำคัญที่นำความเจริญเติบโตและความมั่นคงมาสู่เศรษฐกิจไทย เพราะการส่งออกเป็นแหล่งนำเข้ารายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ และเป็นตัวที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการผลิต การจ้างงาน และการกระจายรายได้ ซึ่งล้วนแต่มีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ เห็นได้จากในปี 2543 รายได้จากการส่งออกมีสัดส่วนสูงถึง 55.8 % ของ GDP และการส่งออกก็เป็นตัวจักรสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤต
ดังนั้น ภายใต้กระแสการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลกจากการเปิดเสรีการค้า และทุกประเทศต่างหันมาใช้การส่งออกเป็นตัวหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจ การเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน จึงกลายเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการส่งเสริมการส่งออกของไทย กระทรวงพาณิชย์ ได้มีนโยบายและการดำเนินงานในการพัฒนาและส่งเสริมการส่งออก ดังนี้
? ส่งเสริมและแก้ไขปัญหาการส่งออก
(1) มาตรการเร่งรัดและผลักดันการส่งออก ดำเนินการดังนี้
- โครงการผลักดันการส่งออกสู่ตลาดใหม่ มีการดำเนินการใน 7 ตลาด ได้แก่ ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกาใต้ ยุโรปตะวันออก เอเซียใต้ และจีน รวม 127 ประเทศ โดยมีมาตรการพิเศษเพื่อช่วยสนับสนุนภาคเอกชนหาช่องทางเข้าสู่ตลาดใหม่ ได้แก่ การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปตลาดใหม่ การชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ การอนุมัติให้นำค่าใช้จ่ายมาคำนวณหักภาษีได้ 2 เท่า เป็นต้น
- โครงการสร้างเครือข่ายกระจายสินค้าที่มีชื่อทางการค้าของตนเองในต่างประเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้าง Brand Name สินค้าไทยในอนาคต โดยมุ่งเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก 5 กลุ่ม ได้แก่ อาหาร สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รองเท้าและเครื่องหนัง
- โครงการศูนย์ผลักดันสินค้า (Product Champion Center) กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งศูนย์ผลักดันสินค้าขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2541 สำหรับสินค้านำร่อง 3 รายการ คือ อัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งทอ และเครื่องหนัง เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ในการประสานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อขยายการส่งออกให้มากขึ้น
- โครงการศูนย์สินค้าส่งออก (Thailand Export Mart) เปิดดำเนินการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2543 ณ อาคารศูนย์สินค้าส่งออก ถนนรัชดาภิเษก เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ส่งออกไทยในการเสนอสินค้าและติดต่อธุรกิจกับผู้ซื้อจากต่างประเทศอย่างมีระบบด้วยการจัดแสดงตัวอย่างสินค้าอย่างต่อเนื่อง เสริมด้วยการให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับผู้ผลิต/ส่งออก ตลอดจนการบริการนัดหมายให้ผู้ซื้อผู้ขายได้พบกันโดยตรง
(2) การพัฒนาและส่งเสริมการค้าชายแดน
การสร้างความมั่นคงให้กับชายแดนของประเทศ จำเป็นต้องอาศัยการค้าเป็นเครื่องมือแทนที่จะใช้ด้านการทหารเพียงอย่างเดียว เพราะประเทศเพื่อนบ้านมีศักยภาพในการผลิตสินค้าต่ำกว่าไทยมากและจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยในปริมาณสูง กระทรวงพาณิชย์ จึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านให้เพื่มมากขึ้น โดยใช้การค้าขายระหว่างกันเป็นเครื่องมือ ซึ่งมีการดำเนินการที่สำคัญได้แก่
- การลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรและวัตถุดิบจากลาวและกัมพูชา
- การเปิดคลีนิคการค้าชายแดนในพื้นที่ชายแดน 1 จังหวัด เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการค้า รวมทั้งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบและวิธีการค้าต่างๆ
- ดำเนินโครงการส่งเสริมการค้าชายแดน ใน 4 โครงการ คือ โครงการการกระชับความร่วมมือและความสัมพันธ์ภาครัฐ โครงการพัฒนาบุคลากรด้านการผลิตและการส่งออก โครงการภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อพัฒนาอาชีพ และโครงการพัฒนาตลาด
(3) ส่งเสริมและขยายตลาดธุรกิจบริการ โดยให้ความสำคัญกับธุรกิจบริการที่ไทยมีศักยภาพสูง เช่น ธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพ ธุรกิจบริการการศึกษา เป็นต้น
ซึ่งธุรกิจบริการจะเป็นสื่อในการขยายการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่ง เช่น ร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ต้องสั่งสินค้าเกษตร เครื่องปรุงรส เครื่องใช้ต่างๆ จากไทย เป็นต้น
(4) เร่งรัดแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการส่งออก โดยให้ความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เช่น การแก้ไขปัญหาสภาพคล่องโดยการเร่งรัดการคืนภาษี การตั้งศูนย์ประสานสินเชื่อ การแก้ไขระเบียบการส่งออกรถยนต์ให้สะดวกรวดเร็วขึ้น การช่วยเจรจาแก้ไขปัญหาการค้ากับประเทศต่างๆ เช่น ปัญหาสุขอนามัย ปัญหาการทุ่มตลาด เป็นต้น
3. การเจรจาการค้าระดับพหุภาคี และทวิภาคี
* การประชุมเจรจาภายใต้กรอบการค้าพหุภาคี ได้แก่ องค์การการค้าโลก (WTO)
การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา
* การประชุมเจรจาภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าภูมิภาค ได้แก่
อาเซียน เอเปค อาเซม
* การประชุมทวิภาคี เช่น การประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ระหว่าง
ไทยกับประเทศต่างๆ ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม อิรัก เป็นต้น การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ (JC) ไทย-อิหร่าน
(1) การรักษาสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค
ผู้บริโภคโดยทั่วไปขาดการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนที่จะรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ในขณะที่
ผู้ประกอบการค้าโดยทั่วไปมีการรวมกลุ่มเป็นสมาคมการค้า ชมรมการค้าที่ค่อนข้างเข้มแข็ง ทำให้ผู้บริโภคอาจถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น สินค้าไม่มีคุณภาพตามกำหนดจำนวนสินค้าไม่ครบ และหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามสัญญาผูกพันต่างๆ เป็นต้น กระทรวงพาณิชย์จึงไม่มีมาตรการที่จะป้องกันปัญหาดังกล่าว คือ
* การกำกับดูแลและป้องกันการผูกขาดตัดตอน ได้แก่ การกำหนดราคาตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เช่น กำกับดูแลสินค้าที่จำเป็นแก่การครองชีพ จำนวน 73 รายการ โดยกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย แจ้งล่วงหน้าก่อนการปรับราคม กำหนดราคาสินค้าควบคุม 16 รายการ กำหนดการแสดงราคาและค่าบริการ การป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิด และผู้ฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภค
* การติดตามภาวะค่าครองชีพ เงินเฟ้อ และภาวะเศรษฐกิจ
* การกำกับดูแลมาตรฐานด้านปริมาณและคุณภาพสินค้าใน และพฤติกรรมของผู้ประกอบการค้า เช่น การตรวจสอบคุณภาพน้ำมัน มาตรฐานเครื่องชั่งตวงวัด เป็นต้น
* การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้เอาประกันภัยและประชาชน
- การสร้างความเป็นธรรมในเรื่องอัตราเบี้ยประกันภัยและความคุ้มครองตามกรมธรรม์
- การเร่งรัดการชดใช้ค่าสินไหม/การชดใช้เงินผลประโยชน์ตามสัญญา การพัฒนาคุณภาพการบริการของบริษัทประกันภัย
- การกำกับดูแลความมั่นคงและสภาพคล่องของบริษัทประกันภัย
- การส่งเสริมพัฒนาธุรกิจประกันภัย
* การเผยแพร่ความรู้ให้กับผู้บริโภคทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมทั้งการสนับสนุนการรวมกลุ่มของผู้บริโภคเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของตนเอง
(2) ส่งเสริมการแข่งขันและเสริมสร้างความเป็นธรรมทางการค้า
* ส่งเสริมให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรม เช่น มิให้ธุรกิจมีการกระทำการ
ตกลงร่วมกันผูกขาด ลดหรือจำกัดการแข่งขัน
* ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า เช่น การกำกับดูแล
ธุรกิจที่มีพฤติการณ์ขัดต่อกฎหมายแข่งขันทางการค้า พิจารณาคำร้องเรียนการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ
(3) ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ
* ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจประกันภัย เช่น ปรับปรุงโครงสร้างการประกันภัยรถยนต์
ภาคสมัครใจใหม่ให้เป็นมาตรการในการพัฒนาส่งเสริมธุรกิจประกันภัย ปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับการเปิดเสรี ปรับปรุงการจัดทำกรมธรรม์ จัดระบบการค้าก๊าซปิโตรเลียม
* ส่งเสริมสถาบันการค้า เช่น หอการค้า สมาคมการค้า คลังสินค้า ไชโล ห้องเย็น
* ส่งเสริมการจัดตั้งร้านค้าชุมชน สนับสนุนเงินทุน ให้ความรู้ด้านการจัดการ
* ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
1) ส่งเสริมการค้าชายแดนและเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน
* ส่งเสริมการค้าชายแดน
* ความร่วมมือกับประเทศอนุภูมิภาค ได้แก่ โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย
อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) โครงการร่วมมือทางเศรษฐกิจในลุ่มแม่น้ำโขง โคงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ บังคลาเทศ พม่า ศรีลังกา ไทย (BIMST-EC)
2) ปกป้องและรักษาผลประโยชน์ทางการค้า
* ใช้กฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศปกป้องการผลิต/การค้าสินค้าในประเทศ เช่น
ตอบโต้และแก้ต่างทางการค้ากับประเทศคู่ค้า เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและตอบโต้การอุดหนุน (AD/CVD) Safegard และ Special Safeguard
* เจรจาโดยใช้เวทีองค์การการค้าโลกในการแก้ไขปัญหาทางการค้า
* สนับสนุนให้มีการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) แเจรจาเพื่อขยายเวลา
การใช้สิทธิให้นาน
* ประสานเจรจาเพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคและลดข้อกีดกันทางการค้า
(1) บริการด้านการพาณิชย์และจัดระเบียบธุรกิจ
1) จัดระเบียบและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ
* กำหนดหลักเกณฑ์การบริหารการนำเข้า-ส่งออกสินค้าไทยให้สอดคล้องกับสถานการณ์
เศรษฐกิจของต่างประเทศ เช่น ออกหนังสือสำคัญในการนำเข้าและส่งออกสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าว สิ่งทอ มันสำปะหลัง ยาง
* ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ทะเบียนธุรกิจ การจัดทำบัญชีและการตรวจสอบ
การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ชั่ง ตวง วัด และน้ำมันเชื้อเพลิง
* ปรับปรุงระบบการค้าก๊าซหุงต้ม
2) บริการด้านการพาณิชย์
* บริการเอกสารรับรองทางการค้า
* บริการด้านทะเบียนธุรกิจ ทรัพย์สินทางปัญญา
* บริการข้อมูลข่าวสารการพาณิชย์
* เผยแพร่กฎระเบียบและข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งออก
3) ส่งเสริมและพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาของไทย
* คุ้มครองงานทรัพย์สินทางปัญญา โดยให้บริการด้านการจดทะเบียน และกำกับ
ดูแลการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
* ประสานและอำนวยความสะดวกการจดทะเบียนเพื่อคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์
ทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยในต่างประเทศ
* กระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของทรัพย์สินทางปัญญา
ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า และเสริมสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคง
* ส่งเสริมการคิดค้นออกแบบผลิตภัณฑ์ และการประดิษฐ์ของคนไทย โดยร่วมมือ
กับหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าไทย
* พัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นสากล และเป็นส่วนเสริมการค้าเสรีและ
เป็นธรรม
4) ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจประกันภัย
* กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้มีความมั่นคง และเป็นที่ยอมรับของประชาชน
* พัฒนาการให้ระบบการประกันภัยสามารถทำธุรกิจด้านอื่นได้กว้างขวางขึ้น
* ส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วรร่วมในการกำหนดนโยบายและมาตรการในการพัฒนา
ส่งเสริมธุรกิจประกันภัย
* ปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ. การประกันภัย ให้มีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับการเปิด
เสรีและจูงใจให้ต่างชาติร่วมทุน
นโยบายการพาณิชย์และเศรษฐกิจระหว่างประเทศของรัฐบาล
- รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะยกระดับนโยบายด้านการค้าต่างประเทศจากการเน้นเพียงเร่งรัดการส่งออก
ในทุกระดับสู่การพัฒนาเครือข่ายการตลาดเข้าสู่ระดับโลก และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างทันการณ์ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยผนึกและสอดรับเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกอันเข้มแข็งในโลกยุคไร้พรมแดน โดยมีแนวทางดังนี้
ด้านการพาณิชย์
(1) สนับสนุนและผลักดันให้ภาคเอกชนยกระดับความพร้อมในการเผชิญการแข่งขันเสรีในเวที
การค้าระหว่างประเทศ โดยใช้แนวความคิดการตลาดสมัยใหม่ การพัฒนาองค์กรและบุคลากรการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร การวางแผนและพัฒนาการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด และสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการจำหน่ายให้ได้ประโยชน์สูงสุดในเชิงต้นทุนและการตลาด ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในเชิงของทักษะ เทคโนโลยี และวิทยาการที่จำเป็นในการแข่งขันระดับโลก
(2) พัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้าสินค้าและบริการในภูมิภาค
และเป็นศูนย์กลางการแสดงสินค้าระหว่างประเทศ
(3) ส่งเสริมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างโอกาสผู้ประกอบการในการเข้าสู่ตลาดโลก
โดยเร่งผลักดันมาตรการและกฎหมายที่จำเป็นต่อการประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
(4) เร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารราชการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศ
และต่างประเทศ เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจในการสนับสนุนและส่งเสริมการส่งออกทั้งในด้านการตลาด และข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนช่วยแก้ไขอุปสรรคการค้าในต่างประเทศ
ด้านการค้าสินค้าและบริการ
(1) ส่งเสริมให้กิจการของไทยสามารถครอบครองเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาที่มาจาก
แหล่งอื่น แล้วนำมาพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้สามารถทำการผลิตที่มีความหลากหลายกว่าของเดิม และ
ส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนเพื่อเปิดโอกาสให้นักคิดและผู้ประกอบการไทยพัฒนาภูมิปัญญาไทยเข้าสู่ระบบคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทย
(2) ส่งเสริมให้ธุรกิจค้าปลีกขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถดำรงอยู่ และปรับตัวรองรับการ
แข่งขันการเปิดเสรีด้านการค้าบริการ
(3) ส่งเสริมให้ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นใหม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบเทศบัญญัติที่
ว่าด้วยการแบ่งเขตสถานที่ของธุรกิจค้าปลีกในอนาคต
(4) จะส่งเสริมและพัฒนาบทบาทขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งภาครัฐและ
เอกชน รวมทั้งแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย และกำหนดมาตรการต่างๆ ในการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภคและยกระดับผลผลิตและบริการของประเทศ
ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
(1) สนับสนุนการค้าเสรีในการค้าระหว่างประเทศ โดยคำนึงถึงระดับความพร้อมและประโยชน์
ของประเทศและผู้ประกอบการภายในประเทศ รวมทั้งผลักดันการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อภาคเอกชนไทยในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ
(2) เน้นบทบาทเชิงรุกในเวทีการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รวมทั้งผลักดันให้เกิด
การเจรจาในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมและคำนึงถึงผลประโยชน์
และข้อจำกัดของประเทศกำลังพัฒนา
(3) สนับสนุนและผลักดันนโยบายการค้าเสรีอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมการค้า การลงทุนกับ
ประเทศเพื่อนบ้าน และการค้าชายแดน และพัฒนาไปสู่ฐานการผลิตสินค้าหรือการให้บริการร่วมกัน
ในภูมิภาค
(4) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลด้านการค้า
และการลงทุน และวิะคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎข้อบังคับและการลงทุนระหว่างประเทศ
เพื่อประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์ของนโยบายต่างประเทศ รวมทั้งการเจรจาการค้า
และการลงทุนระหว่างประเทศ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ โทร. 281-9723, 282-6171-9 : 1176-7 โทรสาร. 82-6623--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ