ชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องสำรวจ แรงงานไทย กับ ความสุขมวลรวม ยุครัฐบาล บิ๊กตู่กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 15 จังหวัด

ข่าวทั่วไป Wednesday May 11, 2016 10:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เนื่องในวันแรงงานที่กำลัจะมาถึงในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) ได้นำเสนอผลสำรวจเรื่อง สำรวจ แรงงานไทย กับ ความสุขมวลรวม ยุครัฐบาล บิ๊กตู่ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา มุกดาหาร ขอนแก่น อุดรธานี ปทุมธานี ลพบุรี นครปฐม ชลบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา และนราธิวาส จำนวนทั้งสิ้น 5,966 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการช่วงวันที่ 1 – 29 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา พบว่า ปัจจัยทางด้านครอบครัวของแรงงานไทยเป็นตัวช่วยให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานมีความสุขสูงถึง 7.44 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 อย่างไรก็ตาม การเมืองเป็นตัวถ่วงที่ทำให้แรงงานไทยมีความสุขต่ำสุดที่ 5.74 คะแนน แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าความสุขในช่วงที่มีความวุ่นวายทางการเมืองขัดแย้งรุนแรงที่เคยทำให้ความสุขของประชาชนตกต่ำลงเกือบถึง 0 ดร.นพดล กล่าวว่า ในผลวิจัยครั้งนี้ ครอบครัวเป็นตัวช่วย แต่การเมืองเป็นตัวถ่วง ความสุขของผู้ใช้แรงงาน ในขณะที่ ความสุขใจ ความสุขกายและความสุขตามแบบอย่างชีวิตพอเพียงทำให้แรงงานไทยมีความสุขอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าทุกตัว และเมื่อแรงงานไทยนึกถึงเงินในกระเป๋าของตนเองก็ยังมีความสุขค่อนข้างมากได้ 6.40 คะแนน โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.9 มีเงินเก็บ จะมีมากหรือน้อยก็มีเงินเก็บ แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.3 ก็ยังเป็นหนี้ และเมื่อวิเคราะห์ความสุขมวลรวมของประชาชน พบว่า แรงงานไทยเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 54.3 ที่มีความสุขมวลรวมค่อนข้างมาก ถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 34.2 มีความสุขระดับปานกลาง และร้อยละ 11.5 มีความสุขค่อนข้างน้อยจนถึง ไม่มีความสุขเลย เมื่อแบ่งออกเป็นชาย และหญิง พบว่า แรงงานหญิงมีความสุขมวลรวมสูงกว่าแรงงานชาย โดยแรงงานหญิงร้อยละ 55.7 มีระดับความสุขค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด ในขณะที่แรงงานชายร้อยละ 52.8 ตามลำดับ ที่น่าสนใจคือ เมื่อจำแนกออกเป็น กลุ่มแรงงานในระบบ และ กลุ่มเรงงานนอกระบบ พบว่า แรงงานนอกระบบมีความสุขน้อยกว่าแรงงานในระบบ โดย แรงงานนอกระบบมีความสุขอยู่ที่ 6.02 ในขณะที่ แรงงานในระบบมีความสุขอยู่ที่ 7.14 ดร.นพดล กล่าวว่า ผลวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความสุขในกลุ่มแรงงานไทยคือ ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวผู้ใช้แรงงานเอง คือเจอความทุกข์ก็แก้ทุกข์กันไปเอง ฝ่ายนโยบายของรัฐน่าจะเข้ามาส่งเสริมจุดแข็งของครอบครัวแรงงานไทยให้มากขึ้น ยิ่งดูผลสำรวจความสุขในกลุ่มแรงงานนอกระบบจะพบว่าแรงงานไทยนอกระบบกำลังเป็นโจทย์ที่ท้าทายให้รัฐบาลและฝ่ายนโยบายพิจารณาว่า แรงงานไทยนอกระบบจำนวนมากกำลังถูกแย่งอาชีพโดยกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ตามกฎหมายให้เข้ามาทำงานแบบกรรมกรใช้แรงงานกับงานบ้านเท่านั้น แต่ปัจจุบันพัฒนาตัวเองเป็นคนขายอาหาร ขายผัก ขายโทรศัพท์มือถือ ขายเสื้อผ้า กระจายไปตามห้างร้าน โรงพยาบาลและแม้แต่ในรั้วมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ "ปัญหาที่น่ากังวัลคือ มีแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองมาทำงานแบบไร้ฝีมือแต่ตอนนี้ใช้ช่องว่างทางกฎหมายและการไม่บังคับใช้กฎหมายเป็นเจ้าของกิจการมีสาขาธุรกิจขยายตัว จ้างให้คนไทยเป็นนายจ้างเพื่อหลบหนีความผิด ส่วนแรงงานไทยจำนวนมากถูกผลักดันไปประกอบอาชีพอิสระอื่นที่รายได้ไม่แน่นอนไม่มั่นคง และกำลังต้องการหลักประกันทางสังคมเข้าไปดูแลมากขึ้นผ่านสำนักเสริมสร้างความมั่นคงแรงงานนอกระบบของกระทรวงแรงงาน แต่ก็ติดขัดข้อกฎหมายต่างๆ มากมายและการบังคับใช้กฎหมายที่หย่อนยาน รัฐบาลและ คสช. จึงต้องทำงานหนักขึ้นไปอีกเพื่อปกป้องแรงงานไทยไม่ให้ถูกแย่งอาชีพมากไปกว่านี้ หากทำได้อย่างมีประสิทธิภาพน่าจะทำให้ความสุขของแรงงานนอกระบบสูงเทียบเท่ากับความสุขของแรงงานในระบบตลอดไป" ดร.นพดล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ