เอคเซนเชอร์ลงทุนกว่า 840 ล้านเหรียญฯ ในการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร ปรับการเรียนรู้โฉมใหม่ เน้นดิจิทัลเต็มตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 11, 2016 12:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์ เอคเซนเชอร์ (ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก: ACN) ใช้เงินลงทุน 841 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีการเงิน 2015 เพื่อฝึกอบรมและพัฒนาทักษะวิชาชีพให้แก่พนักงานรวม 15 ล้านชั่วโมง หรือเฉลี่ยมากกว่าคนละ 40 ชั่วโมง โดยการพัฒนาทักษะต่าง ๆ เน้นไปในด้านดิจิทัล มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ ผลักดันให้ 390,000 คนได้ปลดปล่อยความคิดใหม่ ๆ สร้างสรรค์นวัตกรรม และพัฒนาความเชี่ยวชาญจำเพาะระดับสูงที่จำเป็นต้องใช้รองรับความต้องการของลูกค้าเอคเซนเชอร์และชุมชนต่าง ๆ "ในฐานะที่เป็นองค์กรที่พัฒนาด้วยทาเลนต์ เราจึงพัฒนาแนวทางการเรียนรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ช่วยให้คนเติบโตในสายวิชาชีพได้" นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าว "ดิจิทัลคือกุญแจสำคัญต่อการเรียนรู้ที่เอคเซนเชอร์ เราจะยังคงลงทุนต่อเนื่องในเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาการฝึกอบรมให้กับบุคลากรให้ได้อย่างรวดเร็วและรองรับความต้องการอย่างทันท่วงที ลูกค้าจึงสามารถวางใจในความสามารถและผลลัพธ์ที่มีเพียงเอคเซนเชอร์เท่านั้นที่ตอบโจทย์" ปรับโฉมการเรียนรู้ด้วย Accenture Connected Learning หัวใจสำคัญในการลงทุนด้านนี้คือ Accenture Connected Learning ระบบการเรียนรู้ที่ผสมผสานระหว่างการเรียนในห้องกับการเรียนด้วยระบบดิจิทัลที่เชื่อมโยงพนักงานกับสาระวิชาชีพ และการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร นับตั้งแต่มีการเปิดตัวระบบ Accenture Connected Learning เมื่อต้นปีการเงิน 2015 เอคเซนเชอร์ได้พัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญระดับสูงที่สามารถตอบโจทย์และรองรับความต้องการทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ได้เร็วขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา ขณะเดียวกัน ระบบ Accenture Connected Learning ก็ยังเปิดโอกาสให้พนักงานเอคเซนเชอร์พัฒนาทักษะไปได้อีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักออกแบบทัศนศิลป์ ออกแบบสถาปัตยกรรมข้อมูล จัดการสินเชื่ออสังหาฯ หรือด้านอื่น ๆ ทักษะเหล่านี้จะช่วยเพิ่มพูนความสามารถในสายงานอาชีพ และพัฒนาความชำนาญที่จำเป็นต่อการแข่งขันในตลาด ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสความก้าวหน้าของพนักงานเองด้วย "ระบบ Accenture Connected Learning ทำให้เกิดการเรียนรู้ต่อเนื่อง ยืดหยุ่น และเข้าถึงได้สำหรับทุกคน" นนทวัฒน์อธิบาย "พนักงานของเราเรียนรู้ได้ดีที่สุดจากการติดต่อสื่อสาร เชื่อมโยงถึงกัน ประสานงานและร่วมมือกันฝึกฝนภายใต้สถานการณ์จำลองที่จะต้องประสบในการทำงานจริงกับลูกค้า โดยครอบคลุมตั้งแต่การใช้ทักษะเบื้องต้น ไปจนถึงความรู้เฉพาะด้านอุตสาหกรรม ซึ่งพนักงานสามารถศึกษาเรียนรู้ ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม และในหลาย ๆ เรื่อง ก็ไม่ต้องมีการคัดเลือกหรืออนุมัติใด ๆ เพียงแค่คลิกที่แอพพลิเคชั่น ก็เริ่มศึกษาเรียนรู้กันได้เลย" ระบบ Accenture Connected Learning มีองค์ประกอบเด่น ๆ ดังนี้: ห้องเรียนออนไลน์กว่า 50 ห้อง ที่ช่วยให้บุคลากรของเอคเซนเชอร์ที่แม้จะอยู่ต่างพื้นที่กัน ก็สามารถร่วมเรียนและโต้ตอบในชั้นเรียนได้ โดยมีผู้บริหารระดับสูงของเอคเซนเชอร์และผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อนั้น ๆ เป็นผู้สอน ทั้งนี้ เอคเซนเชอร์มีแผนขยายห้องเรียนเสมือนอีกเท่าตัว ให้มีจำนวนรวมกว่า 100 แห่ง ภายในปีการเงิน 2016 นี้ หลักสูตรการเรียนการสอนออนไลน์กว่า 24,000 สาขาวิชา และกระดานเรียนรู้ (Learning board) กว่า 900 กระดาน ที่คัดสรรโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งพนักงานของเอคเซนเชอร์เลือกเรียนและแบ่งปันข้อมูลความคิดเห็นกันได้ เปิดโอกาสให้เรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ ได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เวลาใด การพัฒนาบุคลากรจึงเกิดขึ้นได้นอกบรรยากาศห้องเรียนตามปกติ ศูนย์การเรียนรู้ในภูมิภาคทั้ง 5 ศูนย์ เปิดโอกาสให้พนักงานเรียนรู้ในบรรยากาศแบบห้องเรียนตามปกติ เป็นศูนย์พัฒนาศักยภาพพนักงานในพื้นที่นั้น ๆ ปัจจุบันเอคเซนเชอร์มีศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ บังกาลอร์ในอินเดีย กัวลาลัมเปอร์ในมาเลเซีย ลอนดอนในอังกฤษ แมดริดในสเปน และเซนต์ ชาร์ลส์ รัฐอิลินอยส์ (ใกล้กับชิคาโก) ในสหรัฐอเมริกา เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญกว่า 100 เครือข่าย เป็นบรรยากาศการเรียนรู้ใหม่ล่าสุดในระบบ Accenture Connected Learning ที่ช่วยให้บุคลากรของเอคเซนเชอร์ทั่วโลกที่อยู่ในสายอาชีพเดียวกันมารวมตัวกัน เช่น ด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ หรือรวมผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรม เช่นการธนาคาร เป็นต้น ชุมชนวิชาชีพเหล่านี้ ช่วยให้พนักงานใช้ประโยชน์จากพลังเครือข่ายระดับโลกได้ โดยการถามตอบ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทำงานร่วมกัน สร้างสรรค์นวัตกรรม แลกเปลี่ยนบทเรียน ข้อมูลอินไซต์ และอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการพัฒนาวิชาชีพ หรือเพื่อปรับใช้กับสถานการณ์ในขณะนั้น การฝึกอบรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการลงทุนทั้งหมดที่เอคเซนเชอร์ใช้ในการพัฒนาและผลักดันให้บุคลากรประสบความสำเร็จ ทั้งในด้านวิชาชีพและชีวิตส่วนตัว และเพื่อให้การพัฒนาและส่งเสริมวิชาชีพพนักงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในช่วงต้นปีการเงินนี้ เอคเซนเชอร์ได้เริ่มเปลี่ยนจากการใช้ระบบการบริหารแบบวัดผลงานประจำปี ไปเป็นการพูดคุยเพื่อจัดลำดับความสำคัญเรื่องต่าง ๆ ในอนาคต จุดแข็งที่พัฒนาขึ้น และการสร้างโอกาสความก้าวหน้าที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า นอกจากนี้ เพื่อให้พนักงานสามารถดูแลครอบครัวไปด้วย ทำงานและก้าวหน้าไปด้วยได้ บริษัทจึงได้ขยายวันลาคลอดหรือลาไปดูแลบุตรในฐานะบิดาออกไปในหลายประเทศ เพื่อเป็นการสนับสนุนคนที่เลือกอยู่บ้านหลังคลอดหรือหลังรับบุตรบุญธรรม และช่วยให้ปรับตัวพร้อมกลับมาทำงานได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ