1,000 โจอี้และสุหฤทก็ช่วยป่าไม่ได้แถมช่วยทำลายป่า!?!

ข่าวอสังหา Tuesday May 3, 2016 10:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ตามที่คุณโจอี้ บอยและคุณสุหฤทตั้งใจไปปลูกป่าที่จังหวัดน่าน นับเป็นสิ่งที่พึงอนุโมทนา แต่ ดร.โสภณ ฟันธง ต่อให้มี 1,000 โจอี้บอยและสุหฤท ก็ช่วยป่าไม้ไม่ได้ แท้จริงการปลูกป่าเป็นการมอมเมาประชาชนเพื่อทำลายป่า! อย่าฝันหวานไป ตามข่าวกล่าวว่าทั้งคุณอภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต (โจอี้ บอย) และคุณสุหฤท สยามวาลา ได้บริจาคเงินกันรวมกันร่วม 1 ล้านบาทเพื่อปลูกป่าประมาณ 500,000 ไร่นั้น (bit.ly/26NAdh1) นับเป็นสิ่งที่พึงอนุโมทนาในความปรารถนาดีของทั้งสองฝ่าย แต่สิ่งที่สังคมพึงทราบก็คือ เงินจำนวนนี้แทบไม่ส่งผลต่อการปลูกป่าเลย ท่านทราบหรือไม่ว่างบประมาณในการปลูกป่าแล้วตกเป็นเงินประมาณ 4,000 บาทต่อไร่ (bit.ly/1rgjSjY) ดังนั้นเงิน 1 ล้านบาทจึงปลูกได้เพียง 250 ไร่ ถ้าจะปลูก 500,000 ไร่ ต้องใช้เงินประมาณ 2,000 ล้านบาท ที่สำคัญปลูกแล้วก็ใช่ว่าจะรอด ส่วนมากตายเสียอีก ขนาด ปตท. ยังปลูกป่าได้แค่ 1 ล้านไร่ (bit.ly/1Px1QCQ) ท่านทราบหรือไม่ว่าปีหนึ่ง ๆ ป่าไม้ของไทยถูกทำลายไปประมาณ 1 ล้านไร่ ท่านทราบหรือไม่ว่า 1 ล้านไร่นั้นกว้างใหญ่ขนาดไหน ขนาดใหญ่กว่ากรุงเทพมหานครที่ 1,568 ตารางกิโลเมตรเล็กน้อยเท่านั้น!! นายสืบ นาคะเสถียร ได้สละชีวิตของตนเองเพื่อเรียกร้องให้มีการรักษาป่าไม้ แต่นี่เท่ากับท่านสละชีวิตไปสูญเปล่า เพราะป่าไม้ก็ยังหายไปอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้เราไม่ควรอนุโมทนากับการฆ่าตัวตาย แต่สิ่งที่ท่านทำยิ่งใหญ่กว่าที่คุณโจอี้ บอยและคุณสุหฤททำมากมาย ก็ยังช่วยอะไรไม่ได้เลย ประเด็นสำคัญที่พึงพิจารณาก็คือ เจ้าหน้าที่ปล่อยให้มีการตัดไม้ทำลายป่ากันมากมายได้อย่างไร ทำไมไม่ปราบปรามอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาก็มักมีข่าวเจ้าหน้าที่หรือ 'ผู้มีสี' ฝ่ายต่างๆ ต่างตัดไม้ทำลายป่ากันมากมาย แต่แทบจับมือใครดมไม่ได้ ดังนั้นการส่งเสริมการปลูกป่า ให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไปช่วยกันปลูก อาจทำให้เป็นกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ที่น่ารักน่าชัง แต่ไม่มีประสิทธิผลแต่อย่างใด ป่าที่ปลูกมักตายในเวลาไม่ช้า การปลูกป่ายิ่งไม่ได้ผล ที่สำคัญที่สุดก็คือ การปลูกป่ากลายเป็นยาเบื่อเมาให้ประชาชนในเมืองเข้าใจว่าเป็นหนทางการแก้ไขปัญหาป่าไม้ ดังนั้นใครที่ไปปลูกป่าก็จะได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญกันใหญ่ ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ค่อยใส่ใจการปราบปรามการบุกรุกทำลายป่า เพราะเป็นงานเสี่ยง งานยาก งานที่ต้องจริงจัง หากภาคเอกชนจะทำดีเพื่อป่าไม้ ก็ควรร่วมกันบริจาคเงินเพื่อตั้งทีมอาสาสมัครกล้าตายไปช่วยกันรายงาน-เปิดโปงการบุกรุกทำลายป่ามากกว่าการปลูกป่า โดยจ้าง "มืออาชีพ" ไปสำรวจแล้ว เชื่อว่าการทำเช่นนี้คงช่วยปรามการบุกรุกป่าได้ชะงัดทีเดียว ในการแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่านั้น รัฐบาลควรเน้นการปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าด้วยมาตรการทางกฎหมายเป็นสำคัญ ไม่ใช่การให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการปลูกป่า หากฉุกคิดกันสักนิด การส่งเสริมการปลูกป่าอาจเท่ากับเป็นการบิดเบือนประเด็น ทำให้สังคมส่วนรวมไม่มีโอกาสตระหนักถึงความจริงที่ทรัพยากรของประเทศถูกปล้นทำลายลงไปทุกวันเพราะหลงนึกว่าป่าสามารถปลูกเสริมแทนพอกัน ในขณะที่การปลูกป่าจึงกลายเป็นการมองทางออกของปัญหาแบบ 'ม้าลำปาง' ที่กลายเป็นการช่วยไม่นำพา ไม่รบกวนการปล้นทำลายป่าโดยไม่ตั้งใจไป ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ ดร.โสภณ เสนอแนวทางดังต่อไปนี้: 1. การพิทักษ์ทรัพย์ในเบื้องต้น เพื่อไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้ายทรัพย์ซึ่งนำเข้ามาในพื้นที่อย่างผิดกฎหมาย 2. ส่งฟ้องศาล ซึ่งตามกฎหมาย ทรัพย์เหล่านั้นย่อมตกเป็นสมบัติของแผ่นดิน อย่าให้ใครอ้างความจนมาทำลายชาติ 3. ทำการประเมินค่าทรัพย์สินที่ดินนี้ให้เหมาะสมกับศักยภาพของที่ดิน 4. จัดการประมูลโดยกรมบังคับคดีหรือหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้สนใจนำไปใช้เพื่อการใช้ประโยชน์ นำรายได้เข้ารัฐ 5. นำเงินที่ได้จากการประมูลมาใช้เพื่อการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าในขอบเขตทั่วประเทศต่อไป หากทางราชการสามารถดำเนินการให้ได้เช่นนี้ ก็จะเป็นการสร้างความโปร่งใสและเป็นบรรทัดฐานในการจัดการป่าไม้ซึ่งที่ดินของรัฐหรือของส่วนรวมเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายต่อไป อ้างอิง: AREA แถลง ฉบับที่ 152/2559: วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th; www.facebook.com/dr.sopon4) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ