พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2559 ทำขวัญธัญญาหารพืชพันธุ์ มอบความเชื่อมั่นสู่เกษตรกรไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday May 17, 2016 17:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม 2559 เวลาประมาณ 08.30 น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นผู้แทนพระองค์เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งมายังพลับพลาที่ประทับ ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อเป็นองค์ประธานในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2559 ฤกษ์พิธีไถหว่าน ระหว่างเวลา 08.29 – 09.09 น. ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประกอบด้วยพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งเป็นการประกอบพระราชพิธีวันแรกที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม 2559 และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ โดยประกอบพระราชพิธีในวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม 2559 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ทั้งนี้ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีการซึ่งกระทำขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและส่งเสริม บำรุงขวัญเกษตรกร เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปีอันถือเป็นเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นฤดูกาลแห่งการทำนา การจัดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปีนี้ ฤกษ์การไถหว่านอยู่ในระหว่างช่วงเวลา 08.29 – 09.09 น. ผู้ทำหน้าที่เป็นพระยาแรกนาปี 2559 คือ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวอมรรัตน์ แขวงโสภา นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการพิเศษ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และว่าที่ร้อยตรีหญิงณฐมน อยู่เล่ห์ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ กรมชลประทาน เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวนันทินี ทองคงเหย้า นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร และนางสาวฉมาพันธ์ สุพรมอินทร์ นักวิชาการตรวจสอบบัญชีปฏิบัติการ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ คู่เคียงมีจำนวน 16 ราย และผู้เชิญเครื่องอิสริยยศ จำนวน 4 ราย พระโคแรกนา ได้แก่ พระโคเพิ่ม และพระโคพูล โดยพระโคเพิ่ม มีความสูง 157 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 225 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 193 เซนติเมตร อายุ 6 ปี ส่วนพระโคพูล มีความสูง 155 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 236 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 196 เซนติเมตร อายุ 6 ปี พระโคสำรอง ได้แก่ พระโคพอ และพระโคเพียง ในวันประกอบพระราชพิธีนั้น จะได้มีการพยากรณ์ถึงความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารของประเทศ พระยาแรกนาได้ตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงทายหยิบผ้านุ่งแต่งกาย ซึ่งแต่ละผืนล้วนมีความหมายแตกต่างกันออกไป ได้แก่ หากหยิบได้ผ้า 4 คืบ พยากรณ์ว่าน้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ หยิบได้ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี หยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่ม จะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ไม่ได้ผลเต็มที่ ในการนี้ นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ถวายรายงานการพยากรณ์ เสี่ยงทายผ้านุ่งของพระยาแรกนา และพระโคกินเลี้ยง นอกจากนี้พราหมณ์จะเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ที่ตั้งเลี้ยงพระโค ซึ่งผลเสี่ยงทาย คือ หากพระโคกิน ข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี พระโคกินถั่วหรืองา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี พระโคกินน้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี และหากพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง อนึ่ง วันพระราชพิธีพืชมงคลนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้เป็น "วันเกษตรกร" ประจำปีอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงได้จัดงานวันเกษตรกรควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตลอดมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดให้มีการคัดเลือกเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2559 เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีรายชื่อดังนี้ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2559 จำนวน 16 สาขาอาชีพ คือ 1) สาขาอาชีพทำนา ได้แก่ นายสันทัด วัฒนกูล จังหวัดอุทัยธานี 2) สาขาอาชีพทำสวน ได้แก่ นายอุดม วรัญญูรัฐ จังหวัดจันทบุรี 3) สาขาอาชีพไร่นา ได้แก่ นายดิลก ภิญโญศรี จังหวัดชัยภูมิ 4) สาขาอาชีพไร่นาส่วนผสม ได้แก่ นายทอง หลอมประโคน จังหวัดบุรีรัมย์ 5) สาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่ นางอนงค์ ศรีไชยบาล จังหวัดร้อยเอ็ด 6) สาขาอาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นายสมบัติ บุญถาวร จังหวัดกระบี่ 7) สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายชนธัญ นฤเศวตานนท์ จังหวัดยะลา 8) สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายอนุสรณ์ พงษ์พานิช จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 9) สาขาอาชีพปลูกสวนป่า ได้แก่ นายหนูเคน ทูลคำ จังหวัดบุรีรัมย์ 10) สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นายอำนวย เตชะวรงค์สกุล จังหวัดนครปฐม 11) สาขาบัญชีฟาร์ม ได้แก่ นายสุริยะ ชูวงศ์ จังหวัดเพชรบุรี 12) สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ นายพัฒน์พงษ์ มงคลกาญจนคุณ จังหวัดกาญจนบุรี 13) สาขาการใช้วิชาเกษตรดีที่เหมาะสม ได้แก่ นายนิโรจน์ แสนไชย จังหวัดลำพูน 14) ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ นายสมสุข เพชรกาญจน์ จังหวัดสงขลา 15) สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ นายสิทธิศักดิ์ พันธุ์พิริยะ จังหวัดตราด 16) สาขาเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ นายบัณฑิต กูลพฤกษี จังหวัดตราด สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2559 จำนวน 13 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มเกษตรกรทำนา ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำนาบ้านร้องประดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ 2) กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำสวนควนเมา จังหวัดตรัง 3) กลุ่มเกษตรกรทำไร่ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำไร่โป่งน้ำร้อน จังหวัดเชียงใหม่ 4) กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงหมูหลุมครบวงจรบ้านกะทม จังหวัดสุรินทร์ 5) กลุ่มเกษตรกรทำประมง หรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนชมรมปลาเชียงราย จังหวัดเชียงราย 6) กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปปลาบ้านห้วยบง 2 จังหวัดหนองบัวลำภู 7) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านสร้างแป้น จังหวัดยโสธร 8) กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนท่านผู้หญิงจันทิมาพึ่งบารมี จังหวัดสกลนคร 9) กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านโพนแพง จังหวัดกาฬสินธุ์ 10) สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดสกลนคร 11) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนประเภทข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านดงลิง จังหวัดกาฬสินธุ์ 12) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนประเภทข้าวอื่น ๆ ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลงิ้วราย จังหวัดพิจิตร 13) วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตำบลนางลือ จังหวัดชัยนาท สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2559 จำนวน 7 สหกรณ์ คือ 1) สหกรณ์การเกษตร ได้แก่ สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคขุนในเขตปฏิรูปที่ดินปางศิลาทองจำกัด จังหวัดกำแพงเพชร 2) สหกรณ์โคนม ได้แก่ สหกรณ์นิคมแม่แตงจำกัด จังหวัดเชียงใหม่ 3) สหกรณ์นิคม ได้แก่ สหกรณ์เดินรถกระทุ่มแบนจำกัด จังหวัดสมุทรสาคร 4) สหกรณ์ผู้ผลิตยางพารา ได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยางโนนสุวรรณจำกัด จังหวัดบุรีรัมย์ 5) สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลตำรวจจำกัด กรุงเทพมหานคร 6) สหกรณ์ร้านค้า ได้แก่ ร้านสหกรณ์โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชจำกัด จังหวัดนครศรีธรรมราช 7) สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเขื่อนเพชรโค้งข่อยจำกัด จังหวัดเพชรบุรี ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2559 จำนวน 3 สาขา คือ 1) นายคำพันธ์ เหล่าวงษี เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง 2) นายอัคระ ธิติถาวร เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น 3) นายอคิศร เหล่าสะพาน เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ