กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานยอดจำหน่ายรถยนต์ในเดือนมกราคม 2544 ด้วยยอดจำหน่ายรวม 17,031 คัน เพิ่มขึ้น 8.5% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว โดยการขยายตัวเกิดขึ้นในตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ และรถกระบะ 1 ตัน ด้วยยอด 11,297 คัน เพิ่มขึ้น 16.1% และ 9,892 คัน เพิ่มขึ้น 26.8% ตามลำดับ ประเด็นสำคัญ 1 ตลาดรถยนต์โดยรวมยังไม่แสดงถึงสัญญาณการขยายตัวมากนัก เนื่องจากผู้บริโภคยังไม่มั่นใจในการตัดสินใจซื้อ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่เสร็จสิ้น และนโยบายเศรษฐกิจ การเงิน-การคลัง ที่ยังไม่ได้มีการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 2 จากเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา มีการตัดสินใจซื้อรถจำนวนมากเนื่องจากกิจกรรมส่งเสริมการขายของค่ายรถยนต์เกือบทุกบริษัท ประกอบกับการใช้เงินพิเศษล่วงหน้ากับการตัดสินซื้อ ทำให้ส่งผลต่อยอดจำหน่ายในเดือนมกราคมที่มีการซื้อไม่สูงมากนัก นอกจากนั้นในเดือนมกราคมเป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองปีใหม่ ผู้บริโภคมักให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว และพักผ่อนมากกว่าการตัดสินใจซื้อสินค้าที่มีราคาแพง เช่นรถยนต์ 3 ถึงแม้ผู้บริโภคจะเริ่มคุ้นเคยกับสภาวะราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลโดยตรงต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับตลาดรถยนต์นั่งซึ่งมีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจน้อยกว่ารถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ทำให้เดือนแรกของปี 2544 ตลาดรถยนต์นั่งมีอัตราการขยายตัวลดลง 3.9% ในขณะที่ตลาดรถกระบะ 1 ตัน ขยายตัว 26.8% ทำให้ยอดขยายตัวโดยรวมเป็นบวกอยู่ได้ 4 แคมเปญส่งเสริมการขายของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ที่ยื่นข้อเสนอพิเศษที่กระตุ้นการตัดสินใจซื้อรถยนต์ของผู้บริโภค ส่วนใหญ่มักจบสิ้นลงในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และมีส่วนในการกวาดความต้องการซื้อรถยนต์ของผู้บริโภคให้เหลือน้อยลงในเดือนนี้ด้วย ทำให้ค่ายรถยนต์บางบริษัทลดกำลังการผลิตลงเพื่อความเหมาะสมของต้นทุนและการจำหน่าย 5 ผู้บริโภคอาจจะชลอการตัดสินใจซื้อต่อไปจนกระทั่งต้นไตรมาสที่ 2 เพื่อรอรับเงื่อนไขพิเศษ รวมทั้งรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ที่จะมีการแนะนำในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 22 ที่จะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายน 2544 สรุปยอดการจำหน่ายรถยนต์ของเดือนมกราคม 2544 ตัวเลขจำหน่ายตลาดรถรวม จำนวน 17,031 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่แล้วมีอัตราเพิ่มขึ้น 8.5% อันดับที่ 1 อีซูซุ 4,542 คัน เพิ่มขึ้น 70.2% ส่วนแบ่งการตลาด 26.7% อันดับที่ 2 โตโยต้า 3,716 คัน ลดลง 19.2% ส่วนแบ่งการตลาด 21.8% อันดับที่ 3 นิสสัน 2,346 คัน เพิ่มขึ้น 58.3% ส่วนแบ่งการตลาด 13.8% ตลาดรถยนต์นั่ง จำนวน 5,734 คัน ลดลง 3.9% อันดับที่ 1 ฮอนด้า 1,847 คัน เพิ่มขึ้น 18.3% ส่วนแบ่งการตลาด 32.2% อันดับที่ 2 โตโยต้า 1,576 คัน ลดลง 41.8% ส่วนแบ่งการตลาด 27.5% อันดับที่ 3 นิสสัน 850 คัน เพิ่มขึ้น 29.2% ส่วนแบ่งการตลาด 14.8% ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน จำนวน 9,892 คัน เพิ่มขึ้น 26.8% อันดับที่ 1 อีซูซุ 4,228 คัน เพิ่มขึ้น 69.3% ส่วนแบ่งการตลาด 42.7% อันดับที่ 2 โตโยต้า 1,777 คัน เพิ่มขึ้น 18.1% ส่วนแบ่งการตลาด 18.9% อันดับที่ 3 ฟอร์ด 1,514 คัน เพิ่มขึ้น 88.5% ส่วนแบ่งการตลาด 15.3% ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ จำนวน 11,297 คัน เพิ่มขึ้น 16.1% อันดับที่ 1 อีซูซุ 4,537 คัน เพิ่มขึ้น 70.9% ส่วนแบ่งการตลาด 40.2% อันดับที่ 2 โตโยต้า 2,140 คัน เพิ่มขึ้น 13.0 ส่วนแบ่งการตลาด 18.9% อันดับที่ 3 ฟอร์ด 1,514 คัน เพิ่มขึ้น 88.5% ส่วนแบ่งการตลาด 13.4%--จบ---อน-