องค์การโทรศัพท์เดินหน้าโครงการมือถือ 1900 พร้อมให้บริการกลางปี 44

ข่าวทั่วไป Monday August 7, 2000 11:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--ทศท.
องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เร่งปฏิบัติงานตามแผนการจัดตั้งบริษัท เอ ซี ที โมบาย จำกัด เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบใหม่ย่านความถี่ 1900 เมกะเฮิรตซ์ ภายในกลางปี 2544 ให้เป็นทางเลือกของประชาชนในการใช้บริการ
นายสมบัติ อุทัยสาง ผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า องค์การจะถือหุ้นในบริษัทใหม่นี้ร้อยละ 54.98 คิดเป็นเงินประมาณ 659.80 ล้านบาท การสื่อสารแห่งประเทศไทยถือหุ้นร้อยละ 40 คิดเป็นเงิน 480 ล้านบาท และบริษัทวิทยุการบินฯ ถือหุ้นร้อยละ 0.02 คิดเป็นเงิน 2 แสนบาท นอกจากนี้จะให้พนักงานขององค์การโทรศัพทฯ และการสื่อสารฯ ถือหุ้นร่วมกันอีกร้อยละ 5 คิดเป็นเงิน 60 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนากิจการโทรคมนาคม โดยบริษัท เอ ซี ที โมบาย จำกัด บริหารและจัดการแบบธุรกิจเอกชนโดยได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำคำสั่ง กฎระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจทั่วไปมาใช้บังคับ ทำให้มีอิสระในการดำเนินงาน นอกจากนี้ ยังได้รับสิทธิให้สามารถปรับค่าบริการได้อย่างอิสระ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับกลยุทธ์ทางการตลาด ทั้งนี้อัตราค่าบริการที่ปรับในภาพรวมจะไม่เกินอัตราค่าบริการที่องค์การโทรศัพท์ฯ และการสื่อสารฯ กำหนด
โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบดิจิตอลในย่านความถี่ 1900 เมกะเฮิรตซ์ เป็นทางเลือกใหม่ให้ประชาชนด้วยคุณภาพบริการที่ดีและราคาถูก จะเปิดให้บริการประมาณกลางปี 2544 ตามแผนการดำเนินงานระยะที่ 1 บริษัท เอ ซี ที โมบาย จำกัด จะก่อสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1900 เมกะเฮิรตซ์ให้ครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งประกอบด้วยชุมสาย 3 ชุมสาย สถานีฐาน 500 สถานี ศูนย์บำรุงรักษา ระบบสนับสนุนลูกค้าและจัดทำบิล ซึ่งสามารถรองรับผู้ใช้บริการได้ 100,000 เลขหมาย และจะดำเนินการเจรจากับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เดิมเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1900 เมกะเฮิรตซ์ ไปใช้ในเขตภูมิภาคได้โดยอาศัยสถานีฐานของผู้ให้บริการรายอื่นๆ เพื่อประหยัดการลงทุน สำหรับระยะที่ 2 บริษัทจะพัฒนาโครงข่ายที่มีอยู่เดิมให้เป็นโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุคที่ 3 (3G) และจะขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 เป็นต้นไป
สำหรับเทคโนโลยีระบบโทรศัพท์ที่จะนำมาให้บริการนั้น ขณะนี้องค์การโทรศัพท์ฯ และบริษัทร่วมทุนกำลังศึกษาความเหมาะสมระหว่างระบบ GSM 1900, IS-95 CDMA และ IS-136 TDMA โดยคำนึงถึงศักยภาพในการให้บริการเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพสัญญาณ และความสามารถในการพัฒนาให้เข้าสู่ระบบ 3G ที่ให้บริการได้ทั้ง เสียง ภาพ และข้อมูล--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ