มพช.วางรากฐานระยะยาวรองรับการกระจายอำนาจ

ข่าวทั่วไป Wednesday June 27, 2001 17:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--มพช.
ชี้ผลของการใช้เงินภายใต้มาตรการเสริมการพัฒนาชนบทและชุมชน (มพช.) สามารถจ้างผู้มีการศึกษาจำนวน 28,775 คน เพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศรองรับภารกิจการถ่ายโอน ในอนาคต
สำนักงานบริหารโครงการ คณะกรรมการบริหารจัดการมาตรการเสริมการพัฒนาชนบทและชุมชน (สบค.) แจ้งว่า ปัจจุบันมาตรการเสริมการพัฒนาชนบทและชุมชน (มพช.) ได้ดำเนินการมาเข้าสู่เดือนที่เก้าของการดำเนินมาตรการนับตั้งแต่เดือนคุลาคม 2543 เป็นต้นมา มีการอนุมัติเงินจากสำนักงบประมาณแล้ว 3,676.94 ล้านบาท ( ณ วันที่ 8 มิถุนายน 2544) หรือคิดเป็นร้อยละ 95.52 ของวงเงินโครงการรวมทั้งสิ้น 4,272 ล้านบาท
ในจำนวน 5 โครงการหลักที่ได้รับอนุมัติ ประกอบด้วยโครงการพัฒนาขีดความสามารถให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนเมืองและชนบท โครงการท่องเที่ยวไทยและท่องเที่ยวเชิงเกษตร โครงการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทในศาล โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการของรัฐ
ผลของการดำเนินโครงการดังกล่าว มุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพให้กับองค์กรและชุมชนในท้องถิ่นเป็นสำคัญ เพื่อวางรากฐานในการพัฒนาประเทศในระยะยาว สอดรับกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมทั้งเป็นการเสริมประสิทธิภาพการให้บริการของหน่วยงานราชการ โดยเน้นการจ้างงานในกลุ่มผู้มีการศึกษา ในระดับอนุปริญญา ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และปริญญาโท เพื่อให้เกิดการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง สามารถบรรเทาการว่างงานจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง
สำหรับตัวเลขการจ้างงาน มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 28,775 คน แบ่งเป็น โครงการพัฒนาขีดความสามารถให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่นมีว่าจ้างผู้สำเร็จการศึกษา จำนวน 23,253 คน โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการของรัฐ มีการจ้างงานรวม 4,989 คน และโครงการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทในศาล มีการจ้างงาน 533 คน เพื่อช่วยปฏิบัติหน้าที่ในศาล 149 แห่ง
“โครงการที่มีการจ้างงานมากที่สุด ได้แก่ โครงการพัฒนาขีดความสามารถให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะมีการกระจายงบประมาณสู่ท้องถิ่น 20 %-ของงบประมาณแผ่นดิน ในปี 2544 โครงการนี้จะเป็นการปูพื้นนฐานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรปกครองท้องถิ่นให้มีศักยภาพที่จะรองรับงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้นจากภารกิจการถ่ายโอนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการวางแผน การจัดทำงบประมาณ ที่ตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น”
ประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการ มพช. ยังมีส่วนสำคัญในการจัดทำข้อมูลพื้นฐาน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณา จัดทำนโยบายด้านเศรษฐกิจและการจัดทำแผนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งช่วยให้ประชาชนในท้องถิ่นมีความพร้อมและความเข้มแข็ง
ทั้งนี้เห็นได้ชัดจากการดำเนินงานของหน่วยราชการในโครงการเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการภาครัฐ อาทิ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำดัชนีเศรษฐกิจใหม่ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จัดทำฐานข้อมูลดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจใหม่ เพื่อความแม่นยำในการประมวลภาพเศรษฐกิจ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการจัดการของสหกรณ์ภาคการเกษตรของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งส่งบุคลากรเข้าไปช่วยพัฒนาสมรรถนะการดำเนินงานและเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการผลิตและการตลาดให้เกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ชนบท โครงการศึกษาสถานการณ์และปัญหาผลผลิตพืชสวนราคาตกต่ำของกรมส่งเสริมการเกษตร รวบรวมข้อมูลปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ เพื่อนำมาใช้วางแผนการผลิตในช่วงพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดหาแรงงานไทยทดแทนแรงงานต่างด้าวของกรมการจัดหางาน ในการสำรวจข้อมูลตำแหน่งงานว่าง การจัดคนไทยเข้าทำงาน ซึ่งช่วยให้สถานประกอบการสามารถจ้างคนไทยทำงานทดแทนแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น เพื่อลดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น
นอกจากนั้นภายใต้การดำเนินโครงการไทยเที่ยวไทยและท่องเที่ยวเชิงเกษตร ยังคาดว่าจะมีการจ้างแรงงานท้องถิ่นในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวในระยะยาว เฉลี่ย 50,000 คน / เดือน
ขอขอบคุณในการเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์
รายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ
ศูนย์ประชาสัมพันธ์ มพช.
คุณสุภาพร หวานเสนาะ / คุณสร้อยนภา สงฆ์โนนเหล็ก
โทร. 279-8001, 616-2214-5--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ