ปภ.ประสานจังหวัดแก้ไขภัยแล้ง เน้นเพิ่มพื้นที่กักเก็บและสำรองน้ำขอความร่วมมือเกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่

ข่าวทั่วไป Tuesday June 14, 2016 17:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 28 จังหวัด 203 อำเภอ 1,086 ตำบล 8,850 หมู่บ้าน ประสานจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการรองรับกรณีฝนตกน้อย มุ่งเน้นการเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำและสำรองน้ำไว้ใช้ วางแผนการจัดสรรน้ำให้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง พร้อมขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด ส่วนเกษตรกรให้วางแผน การเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ หากฝนตกไม่สม่ำเสมอ ให้เลื่อนทำการเกษตรออกไปจนกว่าจะมีฝนตก ตามฤดูกาลปกติ เพื่อป้องกันผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า จากการตรวจสอบสถานการณ์น้ำ กับกรมชลประทาน พบว่า เขื่อนใหญ่บางแห่งโดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เริ่มมีน้ำไหลเข้าเขื่อนแล้ว แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ไม่มากนัก เนื่องจากปริมาณฝน ไม่กระจายตัว โดยเขื่อนใหญ่ทั้ง 4 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,085 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำที่ใช้การได้ประมาณ 1,389 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำรวมกันประมาณวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น จึงส่งผลให้บางพื้นที่ยังคงประสบปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ โดยปัจจุบันมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 28 จังหวัด 203 อำเภอ 1,086 ตำบล 8,850 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 11.81 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ แยกเป็น จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภค 9 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร ลำพูน ตาก สุรินทร์ ชัยนาท สระบุรี ชลบุรี ตรัง และประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา สุโขทัย มหาสารคาม กาญจนบุรี และจันทบุรี จังหวัดที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร 13 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ นครราชสีมา ตราด นครศรีธรรมราช หนองบัวลำภู สุพรรณบุรี ขอนแก่น ปราจีนบุรี อุทัยธานี กำแพงเพชร ราชบุรี และแม่ฮ่องสอน อย่างไรก็ตาม แม้จะเริ่มมีน้ำไหลเข้าเขื่อน แต่ปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้การได้ของแต่ละเขื่อนอยู่ในเกณฑ์น้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จึงต้องมีการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนอย่างรัดกุมและสอดคล้องกับปริมาณฝน เพื่อจัดสรรน้ำ ให้เพียงพอต่อการใช้งานของประชาชนในทุกกิจกรรม รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ห่วงใยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้ง จึงได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานจังหวัดและหน่วยงานทุกภาคส่วนเตรียมการรองรับกรณีฝนไม่ตกตามที่คาดการณ์หรือมีฝนตกน้อย โดยประสานการปฏิบัติการแก้ไขปัญหา มุ่งเน้นการเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำและสำรองน้ำไว้ใช้ การประสานปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เหนือเขื่อนช่วงสภาพอากาศเอื้ออำนวยอย่างต่อเนื่อง การนำรถบรรทุกน้ำนำน้ำสะอาดไปเติมยังภาชนะกลางประจำหมู่บ้าน และการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำระยะไกลส่งน้ำดิบ เพื่อผลิตน้ำประปาและน้ำเพื่อการเกษตร รวมถึง วางแผนการจัดสรรน้ำให้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั้งนี้ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด สำรองน้ำฝนและกักเก็บน้ำไว้อุปโภคบริโภค ส่วนเกษตรกร หากพื้นที่ใดมีฝนตกสม่ำเสมอและมีปริมาณน้ำเพียงพอ ขอให้วางแผนการเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ส่วนพื้นที่ที่ฝนตกไม่สม่ำเสมอ ให้เลื่อนทำการเกษตรออกไปก่อน จนกว่า จะมีฝนตกตามฤดูกาลปกติ เพื่อป้องกันผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ศูนย์ฯ เขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด 76 จังหวัด และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขา 30 สาขาใน 16 จังหวัด หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ