สคร.10 จับมือ ศรีสะเกษ รณรงค์ไข้เลือดออก หลังพบยอดผู้ป่วย-เสียชีวิตพุ่ง

ข่าวทั่วไป Wednesday June 15, 2016 16:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 อุบลราชธานี วันนี้ 15 มิ.ย. 59 ณ อาคารเอนกประสงค์ไทเก๊ก สวนสาธารณะหนองกวางดีด อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ และเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอกันทรลักษ์ จัดกิจกรรมรณรงค์ "ศรีสะเกษร่วมใจ ขจัดภัยไข้เลือดออก" เนื่องในวันไข้เลือดออกอาเซียน (ASEAN Dengue Day) กิจกรรมประกอบด้วยการให้ความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออก บูธนิทรรศการ มอบสิ่งสนับสนุนการป้องกันควบคุมโรค การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและการควบคุมยุงลาย โดยได้รับเกียรติจาก นายเพิ่มศักดิ์ ฉวีรักษ์ ปลัดจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานในพิธี นายเพิ่มศักดิ์ ฉวีรักษ์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในจังหวัดศรีสะเกษยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากพบว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิต 4 ราย ในปี 2558 และเสียชีวิตแล้ว 2 ราย ในปี 2559 นี้ จากเดือนมกราคมถึงปัจจุบัน มีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกมากถึง 592 ราย อายุของผู้ป่วยไข้เลือดออกส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 10-34 ปี ซึ่งแต่เดิมผู้ป่วยไข้เลือดออกส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยเด็ก การที่ผู้ป่วยไข้เลือดออกเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นและที่น่ากังวลมากเมื่อทราบว่าในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษมีค่าดัชนีความชุกลูกน้ำยุงลายสูง จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกท่านร่วมกันกำจัดลูกน้ำ ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ด้าน นายสงวนศักดิ์ วิเศษศุกล รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ 1 มกราคม - 7 มิถุนายน 2559 มีผู้ป่วยแล้ว 18,337 ราย เสียชีวิต 16 ราย ส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 8 มิถุนายน มีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวน 592 ราย เสียชีวิต 2 ราย อัตราป่วยของจังหวัดศรีสะเกษสูงเป็นลำดับ ที่ 9 ของประเทศไทยและสูงเป็นลำดับที่ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มอายุของผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 15-24 ปี รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 10-14 ปีและ 25-34 ปีตามลำดับ คาดการณ์จากการพยากรณ์โรคว่าจะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มมากขึ้นอีก หากไม่มีการจัดการและการควบคุมโรคที่ดี ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา ลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของผู้ป่วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษได้มีการสุ่มประเมินค่าดัชนีความชุกลูกน้ำยุงลายในหมู่บ้าน โรงเรียน วัด และหน่วยงานต่างๆ พบว่าหมู่บ้านส่วนใหญ่มีค่าดัชนีความชุกลูกน้ำสูงเกินเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งพบลูกน้ำในวัด ในโรงเรียน ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีคนมารวมตัวเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้มีโอกาสเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกได้ ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการของประเทศไทย ในการป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออก กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้เน้นมาตรการสำคัญในการป้องกันโรคไข้เลือดออก คือ 1) การป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด โดยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดป้องกันยุงกัด กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า นอนในมุ้ง ทายากันยุง จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง และการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น 2) ป้องกันไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายโดยใช้วิธี 3 เก็บ (เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ) เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และ 3) การกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลายเป็นต้น ในโอกาสนี้ ขอแนะนำประชาชนให้สังเกตอาการของโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงและมักสูงลอยประมาณ 2-7 วัน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตัว เบื่ออาหาร ปวดจุกแน่นท้อง อาจมีเลือดกำเดา มีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง อาเจียนเป็นเลือด เป็นต้น ขอให้ประชาชนอย่าได้วางใจ ถ้ามีไข้สูงต้องรีบไปพบแพทย์ อย่าซื้อยาแก้ไข้กินเอง เพราะยาบางชนิดอาจมีฤทธิ์ทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่าย นอกจากนี้ ประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอพลิเคชั่น(Application) "พิชิตลูกน้ำยุงลาย" ได้ทั้งระบบ Android และ iOS โดยเข้าไปที่ Play Store หรือ App Store แล้วค้นหาคำว่า "พิชิตลูกน้ำยุงลาย" กดรับ/ติดตั้ง ฟรี ใช้งานง่ายและเป็นประโยชน์ หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ