เพาะต้นกล้าสื่อ! อสมท ส่ง U. มี IDEAS ปลุกพลัง GEN Z ผลิตสื่อสร้างสรรค์

ข่าวบันเทิง Tuesday June 21, 2016 16:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--อสมท เทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องนั้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสื่อมีราคาถูกลง ประกอบกับการพัฒนาของระบบเครือข่าย Internet ที่ทำให้การ รับ-ส่ง ข้อมูล ผ่านช่องทาง "ออนไลน์" (online) มีความรวดเร็วมากขึ้น เกิดเป็นช่องทางการสื่อสารรูปแบบใหม่ที่เรียกกันติดปากว่า "สื่อใหม่" (New Media) ซึ่งเปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถเป็นผู้ผลิตสื่อ (Producer) นำเสนอผ่านช่องทาง ดังกล่าวอย่างแพร่หลาย บ้าง "ประสบความสำเร็จ" บ้าง "ล้มเหลว" โดยการที่รายการใดรายการหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้นั้น หัวใจสำคัญที่จะขาดไม่ได้คือ "ความคิดสร้างสรรค์" (Creativity) ความคิดสร้างสรรค์ สามารถแฝงอยู่ได้ในทุกมิติ ทั้งในเนื้อหา การนำเสนอ การออกแบบฉาก ฯลฯ ซึ่งการนำเนื้อหาที่มีคุณภาพ มา "ปรุงรส" เข้ากับความคิดสร้างสรรค์ จะทำให้เนื้อหาจานนั้น เป็นอาหารสมองที่ทั้ง "อร่อย" คือดูสนุก และ "มีประโยชน์" ดังนั้น อสมท ในฐานะองค์กรสื่อที่มุ่งหวังจะ "สร้างสรรค์สังคมอุดมปัญญา" จึงริเริ่มโครงการ "U. มี IDEAS" โครงการ CSR ปี 2559 ในรูปแบบของการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการออกแบบและผลิตรายการอย่างสร้างสรรค์ โดยเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาผู้เป็น "ต้นกล้า" ในแวดวงสื่อสารมวลชน ได้เข้าร่วมอบรมการออกแบบและผลิตรายการอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้พวกเขาได้เติบโตไปเป็นผู้ผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ หล่อเลี้ยงสติปัญญาของคนในสังคมต่อไป นายศิวะพร ชมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556-2558) เรามองเห็นถึงปัญหาด้านการนำเสนอเนื้อหา คือ มีเนื้อหามากมายที่ถูกนำเสนอผ่านหลากหลายช่องทาง มีทั้งเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์ และที่อันตรายที่สุดคือเนื้อหาที่ เป็นโทษ กับผู้รับสาร เราจึงได้จัดอบรมด้านการรู้เท่าทันสื่อขึ้น เพื่อให้เยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ สามารถรู้เท่าทัน เลือกรับ และเลือกใช้ข้อมูลข่าวสารได้ ในปีนี้ เรามองต่อยอดไปว่า การจะทำให้วงการสื่อของไทย "อุดม" ไปด้วยรายการที่มีประโยชน์ ซึ่งโดดเด่นและน่าสนใจ ได้นั้น จำเป็นที่จะต้องส่งเสริมการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเหล่านักศึกษาสาขานิเทศศาสตร์ เพื่อให้พวกเขาเติบโตไปเป็นผู้ผลิตสื่อที่สามารถสร้างสรรค์เนื้อหา (content) ที่ทั้งเป็นประโยชน์ สามารถดึงดูดความสนใจและเข้าถึงผู้ชมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การสร้าง Knowledge Base Society ในที่สุด เรา จึงได้จัด โครงการ U. มี IDEAS ขึ้น เพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้กับนิสิต นักศึกษา โดยมีผู้เชี่ยวชาญแถวหน้าของวงการโทรทัศน์และสื่อ ทั้ง คุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด, คุณวราวุธ เจนธนากุล ประธานกรรมการ บริษัท เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด, คุณนุษาร ทรรศนะพายัค Co-Executive Producer จากรายการ The Face Thailand, คุณชูพงษ์ รัตนบัณฑูร ผู้คร่ำหวอดในวงการ Advertising และ คุณธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการผู้เจนจัดในแวดวงสื่อมวลชน ร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิตสื่อสร้างสรรค์ให้นักศึกษาเหล่านี้" ต้น-นุษาร ทรรศนะพายัค หนึ่งในวิทยากร กล่าวถึงการผลิตรายการอย่างสร้างสรรค์ว่า "การจะทำให้รายการมีความโดดเด่น ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ การที่คิดสร้างสรรค์ได้เร็วคือ "พรสวรรค์" แต่ทุกคนก็สามารถมีความคิดสร้างสรรค์ได้แค่ขยันฝึกฝน คอยสังเกต และเรียนรู้จากสิ่งที่เห็น ซึ่งความคิดสร้างสรรค์จะทำให้เกิดผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำงานด้านสื่อมวลชน พวกเราจะประสบความสำเร็จในการชีวิตการทำงานหรือไม่อยู่ที่ผลงานของแต่ละคน" การจัดโครงการในปีนี้ มีผู้ร่วมอบรมกว่า 120 คน จากกว่า 30 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยการอบรมครั้งแรกในกลุ่มมหาวิทยาลัยในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 – 29 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ จังหวัดนครราชสีมา น้องต้อแต้-นายกรวิทย์ อินต๊ะหล่อ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงใหม่ เล่าถึงการมาร่วมอบรมว่า "การมาเข้าร่วมอบรมในโครงการฯ ของ อสมท ครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่หาไม่ได้ง่ายๆ นอกจากความสนุกสนานแล้ว ผมยังได้ความรู้ในเรื่องของการคิดสร้างสรรค์รายการ วิธีการทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ในทีม จากการอบรมทำให้ผมรู้ว่าสื่อที่สร้างสรรค์ควรจะเข้าใจง่าย ไม่ยืดเยื้อ ไม่สะเทือนอารมณ์ และควรยกระดับความคิดของคนไทยให้ดีขึ้น อยากให้มีการจัดต่อไปในปีที่ 2 อีก" น้องมิ้น-มนสิชา เขียวขจี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ. เชียงใหม่ เล่าว่า "หนูเป็นนักกิจกรรม ชอบร่วมกิจกรรม ชอบอะไรใหม่ๆ ซึ่งกิจกรรมในโครงการนี้ก็ทำให้ได้รับความรู้ใหม่ๆ ชอบวิทยากรทุกคน โดยเฉพาะพี่ต้น (คุณนุษาร ทรรศนะพายัค) เพราะสอนสนุกและเนื้อหาน่าสนใจ ส่วนรายการที่สร้างสรรค์ในความคิดของหนูจะต้องเป็นรายการที่มีเนื้อหาโดนใจกลุ่มเป้าหมาย จับใจผู้ชม และที่สำคัญต้องมีประโยชน์ ไม่ใช่แค่นำเนื้อหามาเล่าให้ผู้ชมได้ชมได้ฟัง" และน้องท็อป-ภาสกร สุขบุญญาสถิตย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม เล่าว่า "เคยทำสารคดีอยู่แล้ว เมื่อ อสมท จัดกิจกรรมขึ้นจึงสนใจเพราะจะได้นำความรู้จากการอบรมไปพัฒนา Content ของตนเองในอนาคต ซึ่งการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงของคนเก่งๆ ที่เป็นมืออาชีพ ทำให้เราคิดเป็นระบบมากขึ้น ทำงานได้ง่ายขึ้น ส่วนวิทยากรก็เป็นกันเอง สนุกมากครับ ทำให้ผมเกิดความคิดนอกกรอบจากการผลิตสื่อแบบเดิมที่เคยทำ" การอบรมครั้งที่ 2 ในกลุ่มมหาวิทยาลัยภาคกลางและภาคตะวันออกนั้น จะเริ่มขึ้นในวันที่ 17-19 มิถุนายน 2559 ที่จังหวัดกาญจนบุรี และหลังเสร็จสิ้นการอบรมทั้ง 2 ครั้ง น้องๆ ที่เข้าร่วมการอบรมจะได้นำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมมา "ประลองไอเดีย" สร้างเป็นแนวคิดการผลิตรายการ (Proposal) ที่เป็นประโยชน์ และสร้างสรรค์ สังคม ตามแนวคิด "Society Plus รวมพลังสร้างเมือง" เพื่อชิงรางวัล MCOT Awards 2016 ร่วมติดตามสุดยอดผลงานความคิดสร้างสรรค์รูปแบบรายการของน้องๆ เหล่านี้ได้ปลายปีนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ