ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต ส่งเสริมเยาวชนผลิตอาหารปลอดภัย ถ่ายทอดองค์ความรู้บริหารจัดการผลผลิตอาหารอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Friday June 24, 2016 10:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--ซีพีเอฟ เด็กวัยเรียนเป็นช่วงที่ร่างกายมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว การส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้บริโภคอาหารและโภชนาการที่เหมาะสมในช่วงนี้ จะทำให้ร่างกายเจริญเติบโตและมีพัฒนาการได้เต็มศักยภาพ ดังนั้นการส่งเสริมให้เยาวชนได้รับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ในปริมาณและสัดส่วนที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย ควบคู่กับการออกกำลังกายเป็นประจำ จะทำให้เด็กมีภาวะโภชนาการที่ดี ในปัจจุบันมีหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ และเอกชน ได้หันมาให้ความสำคัญและดำเนินโครงการเพื่อร่วมสร้างโภชนาการที่ดีให้เด็กและเยาวชนไทย ดังเช่นบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ที่ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ และมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท ดำเนิน"โครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต" 60 โรงเรียน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 60 พรรษา ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อร่วมสร้างโภชนาการที่ดีและส่งเสริมการเข้าถึงอาหารแก่นักเรียนทั่วประเทศกว่า 14,000 คน ในพื้นที่ 67 โรงเรียนทั่วประเทศ สำหรับในปีนี้เข้าสู่การดำเนินโครงการฯ ปีที่ 2 มุ่งเน้นการส่งเสริมและจัดการผลผลิตอาหารอย่างยั่งยืน เพื่อส่งเสริมการบริโภคที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ถูกหลักโภชนาการอย่างต่อเนื่อง "โรงเรียนบ้านชำโสม อำเภอ กบินทร์บุรี จังหวัด ปราจีนบุรี" เป็น 1 ในโรงเรียนนำร่องที่เข้าร่วมโครงการฯ นี้ ที่อยู่ในความดูแลของซีพีเอฟสายธุรกิจไก่พันธุ์ มีนบุรี ได้ส่งพนักงานซีพีเอฟจิตอาสาสับเปลี่ยนกันเข้ามาดำเนินโครงการฯ ร่วมกับโรงเรียน เพื่อส่งเสริมให้น้อง ๆ อิ่มท้องด้วยอาหารปลอดภัยที่ผลิตมาจากฝีมือของพวกเขาเอง โดยนายไพศาล จันทรา ผู้อำนวยการ โรงเรียนบ้านชำโสม กล่าวว่า ทางโรงเรียนได้เปิดสอนตั้งแต่เด็กก่อนวัยเรียน และระดับชั้นอนุบาล 1- ประถมศึกษาปีที่ 6 กว่า 130 คน และมี นักเรียนที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยในโรงเรียนมากถึง 30% อย่างไรก็ตามเด็กเหล่านี้ต้องรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ทำให้งบประมาณอาหารกลางวันที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเพียง 2,000 บาท/วัน จึงไม่เพียงพอที่จะทำให้นักเรียนทุกคนในโรงเรียนได้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ตามหลักโภชนาการ "จากการสำรวจภาวะโภชนาการในนักเรียนในปีการศึกษา 2558 พบว่า มีจำนวนเด็กประสบภาวะโภชนาการขาด (ผอม/เตี้ย) จำนวน 6 คน ซึ่งหลังจากที่ ซีพีเอฟ เข้ามาส่งเสริมการเข้าถึงอาหาร ทำให้โรงเรียนสามารถพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตอาหารโดยมีปริมาณผลผลิตที่หลากหลาย ซึ่งการดำเนินโครงการฯ แบ่งเป็น โครงการปลูกผัก อาทิ ผักบุ้ง ผักชะอม มะนาว ฯลฯ จำนวน 12 แปลง, โครงการเพาะเห็ด 2,000 ก้อน และโครงการปลูกผลไม้ 1 ไร่ นับตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน มีผลผลิตอาหารปลอดภัยที่นำไปผลิตอาหารกลางวันให้นักเรียนเพื่อบริโภคภายในโรงเรียนอย่างเพียงพอและเหลือจำหน่ายช่วยลดค่าใช้จ่ายให้คนในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง" นายไพศาล กล่าวเสริม นายสุรชัย ชอบบุญ ครูผู้รับผิดชอบโครงการฯ โรงเรียนบ้านชำโสม กล่าวเสริมว่า ซีพีเอฟได้เข้ามาสร้างโรงเพาะเห็ดให้ รวมถึงดูแลระบบน้ำ–ไฟ รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้การดูแลเห็ดแบบอัตโนมัติ โดยในส่วนของนักเรียนจะรับผิดชอบดูแลการเพาะเห็ดตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การดูแลก้อนเชื้อเห็ด การแต่งหน้าเห็ด โดยขูดเอาข้าวฟ่างออกเพื่อให้เชื้อเห็ดสามารถเดินได้ดี ซึ่งโดยปกติการเพาะเห็ดจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ และใช้เวลาเปิดหน้าเห็ดอีก 1 สัปดาห์ จึงจะสามารถทะยอยเก็บเห็ดออกมาจากโรงเพาะได้ โดยโรงเรียนได้มอบหมายให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4- ประถมศึกษาปีที่ 6 คอยหมุนเวียนกันมาดูแลครั้งละ 3-4 คน โดยเห็ดที่ได้จะนำไปประกอบอาหารในโรงครัวให้นักเรียนได้รับประทานกัน และส่วนที่เหลือนำไปจำหน่ายให้นักเรียนและผู้ปกครอง "การที่เด็กมีหน้าที่ดูแลเห็ด หรือปลูกผัก จะทำให้พวกเขาได้เรียนรู้การเพาะ การปลูกอย่างถูกวิธี นอกจากความสนุกสนานที่เด็กจะได้รับแล้ว ยังได้รับความรู้ด้านอาชีพติดตัวไปด้วยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้เรียนรู้การผลิตอาหารปลอดภัย การเก็บผลผลิตอย่างถูกวิธี การจัดสรรผลผลิตเพื่อรับประทานในโรงเรียน และส่วนที่เหลือนำไปจัดจำหน่าย การทำบัญชี ทั้งยังได้เรียนรู้การทำแหนมเห็ดแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อีกด้วย ต้องขอขอบคุณซีพีเอฟที่คอยเอาใจใส่ดูแลโรงเรียนเป็นอย่างดี ทั้งความร่วมมือในการดำเนินโครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต และในกรณีที่โรงเรียนต้องการความช่วยเหลือและการสนับสนุนอื่น ๆ อาทิ ปั๊มน้ำ แสลนกันแดด ก็ได้รับความช่วยเหลือมาโดยตลอด ช่วยทำให้โรงเรียนมีความพร้อมในการดูแลเด็ก ๆ ต่อไป" นายสุรชัย กล่าวทิ้งท้าย ด้าน ด.ญ. ชลดา สาคร หรือน้องมายด์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กล่าวว่า ตนเองดูแลการเก็บเห็ดในแต่ละวัน เมื่อเก็บเสร็จต้องช่วยกันทำความสะอาดหน้าก้อนเชื้อโดยเขี่ยเศษเห็ดออกให้หมด เพื่อให้เชื้อฟักตัวขึ้นมาใหม่อีกครั้ง และจะช่วยกันคัดคุณภาพ ตัดแต่งรากเห็ดให้มีความสวยงาม พร้อมบันทึกปริมาณผลผลิตแต่ละวันในสมุดบัญชี ทำให้รู้และเข้าใจปริมาณเห็ดในแต่ละวัน และจดบันทึกรายรับรายจ่ายในแต่ละวัน มีการจัดกลุ่มนักเรียนแบ่งหน้าที่กัน ผลัดเปลี่ยนมาดูแลในช่วงวันหยุดเรียน เสาร์-อาทิตย์ อีกด้วย การที่พวกหนูได้มีโอกาสดูแลผัก ผลไม้ที่พวกหนูช่วยกันผลิตเอง และให้เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ในโรงเรียนได้รับประทานกันทำให้พวกเราต้องมีความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น แต่ก็มีความสุขค่ะ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ