“นิว” วงศกร เทศยรัตน์ นักธุรกิจหนุ่มรุ่นใหม่วัย 21 ปี ที่หันหลังให้กับรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อมาเป็นเจ้าของธุรกิจแอพพลิเคชันเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวหนึ่งเดียวในภูเก็ต ที่สร้างเงิน สร้างงานมูลค่าหลักล้านบนพื้นฐานของความสุข

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday July 5, 2016 14:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล สังคมทั่วไป สำหรับเด็กที่จบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 6 ส่วนหนึ่งจะเดินเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเส้นทางการศึกษาในระบบที่เปรียบเสมือนหลักประกันความั่นคงในอนาคตของผู้เรียน แต่สำหรับนายวงศกร เทศยรัตน์ แล้วเขาไม่ขอเลือกที่จะเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเหมือนคนอื่นทั่วไป แต่กลับเลือกเดินบนเส้นทางที่เขาตัดสินใจ คือ การทำธุรกิจซอฟต์แวร์ แล้วอะไรทำให้นิวมั่นใจกับเส้นทางนี้…? หากย้อนไปเมื่อวัยเด็กตั้งแต่อนุบาลนิวมีความสนใจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และเมื่อขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 นิวเริ่มมองเห็นเป้าหมายในชีวิตชัดเจนมากขึ้น จากการประกวด NSC (การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย) ทั้งๆที่นิวไม่ได้รับรางวัลชนะเลิศ แต่สิ่งนี้กลับเป็นตัวจุดประกายให้เขาทำในสิ่งที่ชอบและคิดว่าน่าจะใช่สำหรับตัวเอง เขามองเห็นโอกาสและอนาคตจากการประกวดด้านซอฟต์แวร์ในเวทีต่างๆ รวมถึงการได้รับแรงบันดาลใจมาจาก มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้ง facebook ที่ลาออกมาจากมหาวิทยาลัยมาบริหารกิจการของตนเองจนประสบความสำเร็จ นับตั้งแต่วันนั้นนิวก็ได้ตั้งเป้าหมายให้กับตัวเองว่า เขาต้องส่งผลงานเข้าประกวดอีก เพื่อพิสูจน์ความสามารถของตนเอง นิวจึงฝึกฝนและพัฒนาผลงานมาโดยตลอด จากที่นิวเข้าประกวดแข่งขันตั้งแต่ม.2 เขาได้เพียงรางวัลชมเชย เมื่อขึ้น ม.4 นิวได้ส่งประกวด NSC อีกครั้งและได้รับรางวัลชนะเลิศจากเวทีนี้ โดยระหว่างทางเขาก็ยังพัฒนาผลงานและส่งประกวดโครงการประกวดผลงานซอฟต์แวร์ดีเด่นแห่งชาติ หรือ TICTA และได้รางวัลชนะเลิศประเภทSecondary Students พร้อมทั้งได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันต่อในโครงการประกวดผลิตภัณฑ์ไอซีทีและซอฟต์แวร์ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก(APICTA)และได้รับรางวัลยอดเยี่ยมกลับมาอีกด้วย และเมื่อขึ้นม.5 นิวก็ได้เข้ามาสู่โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่สนับสนุนโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)และมูลนิธิสยามกัมมาจล จากเวทีนี้นิวได้ฝึกฝนและพัฒนาผลงานที่สามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งระหว่างที่พัฒนาผลงาน นิวก็เริ่มมองเห็นเป้าหมายของตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีโอกาสประกวดในเวทีต่างๆทั้งในและต่างประเทศ เขาเข้าร่วมและคว้าโอกาสทันที เพราะถือว่า นั่นคือการฝึกฝน… จากการประกวดนี่เองที่ทำให้นิวได้ประสบการณ์ ได้เจอโจทย์จริง ได้ลงมือทำและแก้ปัญหาจริง อีกทั้งยังได้คำแนะนำจากผู้รู้มาช่วยเติมเต็มผลงานให้สมบูณ์แบบยิ่งขึ้น "ตอนนั้นผมเป็นแค่เด็กอายุ 16-17 ที่ไปยืนอยู่ในเวทีระดับเอเชีย…ผมว่าตรงนี้แหละมันคือเส้นทางของผม ที่ต้องเดินไปให้ถึง" นิวเล่าด้วยน้ำเสียงที่ภูมิใจ เมื่อยิ่งถึงใกล้จบม.6 นิวตัดสินใจว่าจะไม่ขอเดินเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เพราะอยากจะสานฝัน และพัฒนาธุรกิจที่ขณะนั้นกำลังดำเนินมาสู่ถึงมือผู้ใช้จริงแล้ว จากประสบการณ์และความมั่นใจในศักยภาพของตัวเองที่ไปแข่งขันเวทีระดับเอเชีย และจากการมองเห็นโอกาสที่เขาสร้างผลงานขึ้นมา นิวจึงคิดว่านี่น่าจะเป็นธุรกิจที่เขาสามารถต่อยอดไปในอนาคต "ถ้าผมไม่เลือกทำตอนนี้ แล้วเข้าเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยจนจบ 4 ปี ผมคงเสียโอกาสที่จะทำธุรกิจ แต่ถ้าผมเรียนสิ่งที่ได้ก็คือความรู้จากในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งผมก็มีคำตอบในใจอยู่แล้วว่า เมื่อจบออกมา ผมก็ต้องออกมาเป็นนักธุรกิจซอฟต์แวร์ ผมก็เลยลองคิดกลับกันว่าถ้าอย่างนั้นผมเลือกไม่เรียน แต่มาเป็นนักธุรกิจ ซึ่งโอกาสนั้นมาหยุดอยู่ตรงหน้าแล้วทำไมผมถึงไม่เลือก…ทำไมผมต้องรออีก 4 ปีแล้วค่อยมาเริ่มใหม่…" นิวเล่า จากการพัฒนาผลงานในเวทีประกวดต่างๆตั้งแต่ ม.2 จนถึงม.6 ทำให้นิวมองเห็นพัฒนาการของตัวเองมาตลอด แต่เขาก็ไม่ได้ตัดสินใจหยุดเรียนบนความเพ้อฝัน เขากลับมองถึงความเป็นไปได้และเลือกตัดสินใจบนพื้นฐานที่เป็นเหตุและผล ทว่าไปชีวิตของนิวก็ไม่ได้ราบรื่นเท่าไหร่ เพราะพื้นฐานครอบครัวมีแม่เป็นอาจารย์ ส่วนพ่อแม้จะเห็นว่าเขามีศักยภาพ แต่ทุกคนก็ยังอยากเห็นนิวเรียนต่อ เพื่อมีหลักประกันความก้าวหน้าของชีวิต นิว เล่าว่า "ถ้าหากการเลือกไม่เรียนเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผมคนเดียวคงไม่เป็นไร แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ใช่เช่นนั้น เพราะยังมีคนข้างหลังที่รอและคาดหวังมองเห็นอนาคตของผมด้วยเช่นกัน…ยอมรับเลยครับว่า ช่วงนั้นครอบครัวไม่ค่อยมีความสุข แต่ผมก็เลือกที่จะจัดการปัญหาตามแนวทางของผม คือ การเดินเข้าไปสมัครสอบเข้าโควต้าของลาดกระบัง จนกระทั่งได้เป็นนิสิตคณะ IT ผมและครอบครัวเราพบกันครึ่งทาง" เมื่อทำภารกิจตรงนั้นได้แล้ว นิวก็ยังคิดว่า เขาไม่อยากจะเสียเวลาไปกับการเรียน แล้วมาเริ่มต้นใหม่กับการทำธุรกิจ ก็เลยเลือกที่จะหยุดเรียน " ซึ่งการเลือกดร็อปก็ดีกว่าการไม่ทำอะไรเลยครับ คือ อย่างน้อยผมก็ได้ทำหน้าที่ของผมในการมีสถานะเป็นนักศึกษา ซึ่งอาจจะทำให้พ่อและแม่ได้คลายความกังวลลงบ้าง และอีกเหตุผลหนึ่ง คือ ผมได้ออกมาทำตามฝันของผม เพราะผมคิดว่า หากออกมาทำธุรกิจแล้วล้มเหลวในปีแรก ผมยังกลับเข้าไปเรียนต่อได้…" นิวกล่าว ทางด้านนายสุรชาติ เทศยรัตน์ พ่อของนิว กล่าวว่า "ตอนที่นิวขอหยุดเรียนก็รู้สึกช็อกเหมือนกัน…แต่พอเขาได้มีโอกาสเป็นตัวแทนเดินทางไปประกวดในเวทีต่างประเทศ ประกอบกับเวลาที่เขาไปตามเวทีต่างๆ เราก็เห็นเขาคุยกับทางผู้ที่มาชมงาน ผู้ใหญ่ บริษัทห้างร้านต่างๆ ก็ดูว่าเขาเป็นคนที่มีความมั่นใจมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ดีที่สุดในด้านนี้ ซึ่งเราก็มองเห็นโอกาส และมั่นใจในตัวเขาระดับหนึ่งก็เลยปล่อยให้เขาได้ทำในสิ่งที่เขาฝัน ซึ่งเราก็มองดูเขาอยู่ห่างๆและคอยให้คำปรึกษาบางครั้ง" ปีกว่าๆที่ผ่านมา นิวได้ทำธุรกิจที่สร้างมูลค่างานมากถึง 7 หลัก มีทั้งเปิดบริษัทด้านซอฟต์แวร์ และก็เป็นหุ้นส่วนเปิดพื้นที่แบบ Co-Working Space (พื้นที่ทำงานนอกออฟฟิศ) รวมถึงกำลังทำ start up เกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยว ชื่อ Travelism ซึ่งตอนนี้ผลงานได้พัฒนามาถึงขั้นเป็นตู้ที่สามารถจำหน่ายโปรแกรมทัวร์ให้นักท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้ได้วางไปแล้ว 3 ตู้ และจะติดตั้งให้ครบ100 ตู้ทั่ว จ.ภูเก็ต ภายในปีนี้ นิว กล่าว "…วันนี้ผมมองว่าธุรกิจของผมมันก็ยังไปได้เรื่อยๆ และไม่ยังคงไม่สำเร็จได้ง่าย เพราะเพิ่งผ่านมาแค่ปีกว่าๆ เป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่ระหว่างทางในปีกว่าๆนี้ผมได้ประสบการณ์ ได้เรียนรู้จากการที่ได้ลงมือพัฒนาผลงานเพื่อไปสู่ลูกค้า แต่ในส่วนที่ประสบความสำเร็จในนั้นคงเป็นในด้านของการได้ทำตามความฝันในเส้นทางที่ผมเลือก…การเลือก Drop เรียนมันค่อนข้างคุ้มสุดๆเลย มันคือการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่คุ้มค่า…แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการที่ไม่เรียนแล้วเราจะไม่ทำอะไร คำถาม คือ ถ้าไม่เรียนแล้วเราจะจัดการกับอนาคตของเราอย่างไร หากเลือกที่จะไม่เรียน แต่เราก็ต้องทำให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ในขณะเดียวกันเราก็ต้องจัดการความรู้สึกของคนในครอบครัวให้ได้ด้วยเช่นกัน" ทว่าไป…ความสำเร็จของนิวนั้นไม่ได้หมายความว่าต้องมีเงินร้อยล้าน พันล้าน เพราะสิ่งที่นิวให้ความสำคัญมากกว่าเงิน คือ การสร้างสมดุลของชีวิต "…ผมคิดว่าชีวิตของการทำงานกับชีวิตครอบครัว มันต้องสมดุล..เพราะถ้างานประสบความสำเร็จแต่ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดี สุขภาพร่างกายไม่ดี นั่นอาจจะไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง เพราะความสุขที่แท้ของผม คือ การได้ทำในสิ่งที่ใช่ และการทำงานบนพื้นฐานของความสุขของคนในครอบครัว และคนรอบข้าง " นิวกล่าว ทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ