สำนึกพลเมือง...สร้างได้ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน มูลนิธิสยามกัมมาจล

ข่าวทั่วไป Tuesday July 5, 2016 17:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล วิกฤตการณ์ต่างๆ ทั้งในระดับโลกและในระดับท้องถิ่น ส่วนหนึ่งเกิดจากคุณภาพและ กระบวนการในเชิงพฤติกรรมของประชากร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพของปัจเจก สู่การมีจิตสำนึกพลเมืองในบริบทประชาสังคม เป็นตัวอธิบายการแก้ปัญหาต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ และเป็นวิธีจัดการที่ยั่งยืนโดยภาคประชาชน ซึ่งควรส่งเสริมให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายมากขึ้น (วิรัตน์ คำศรีจันทร์ : จิตสำนึกพลเมืองในบริบทประชาสังคมไทย) หากแต่กระบวนการส่งเสริม "สำนึกพลเมือง" ลำพังปล่อยให้เป็นบทบาทของครูในโรงเรียน ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง อาจไม่เพียงพอ ดังนั้น ทุกภาคส่วนของสังคมควรช่วยกันคนละไม้คนมือ...เพราะ "เด็กในวันนี้...ต้องโตเป็นคือผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า" นี่คือ "ข้อเท็จจริง" ขณะที่ "ข้อเท็จจริง" ต่อมาคือ "กระบวนการ" พัฒนาเด็ก และเยาวชนในปัจจุบัน ไม่ได้ทำให้เด็กโตไปเป็นเยาวชนทีมีคุณภาพ โตแบบแยกส่วน และมีไม่น้อยที่ส่วนมากมักสนใจ "เรื่องตัวเอง" เหล่านี้ไม่ได้อยู่ที่ "ตัวเยาวชน" หากอยู่ที่ตัวกระบวนการหรือ "วิธีการ" ที่ไม่ได้บ่มเพาะให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสสนใจเรื่องอื่น ๆ "การเรียนรู้ในห้องเรียน และการอบรมในครอบครัวเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ" ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร์ ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะองค์กรที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาเยาวชนไปสู่ความเป็น Active Citizen กล่าว ดังนั้นมูลนิธิสยามกัมมาจลจึงจับมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย อย่างสงขลาฟอรั่ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น รวมถึงศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม น่าน และศรีสะเกษ เพื่อร่วมกันสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ "โครงการนี้มีจุดเริ่มต้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งต้องถือว่าเป็น active citizen รุ่นใหญ่ ที่มีใจอยากทำงานกับเยาวชน อยากเห็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ มีสำนึกความเป็นพลเมืองรักท้องถิ่น ทำงานเพื่อท้องถิ่น ด้วยจุดเริ่มต้นนี้มูลนิธิสยามกัมมาจลจึงไปหนุนฝันของสงขลาฟอรั่มให้เป็นจริง เราทำงานร่วมกันมาหลายปี เห็นภาพความสำเร็จ ก็ขยายไปที่น่าน ศรีสะเกษ และสมุทรสงคราม .....ความสำเร็จของสงขลาฟอรั่ม พอขยายผลอีก 3 จังหวัดภายใต้แกนนำที่แตกต่างกัน บริบทของจังหวัดที่แตกต่างกัน มันก็มีการเรียนรู้แล้วก็ไปปรับใช้ แต่หัวใจและแนวคิดยังเหมือนเดิม ก็คือผู้ใหญ่ 1 กลุ่มเปิดโอกาสให้เยาวชนในจังหวัดเรียนรู้จากท้องถิ่นของตนเอง และทำงานเพื่อท้องถิ่น แต่จะมีโจทย์อะไรของท้องถิ่นแต่ละพื้นที่แตกต่างกันแน่นอน" 4 ปี ของการ สร้าง "เยาวชนพลเมือง" ทั้งที่จังหวัดสงขลา น่าน สมุทรสงคราม และศรีสะเกษ เกิดโครงการที่ดำเนินงานโดยเยาวชน 173 โครงการ มีน้องๆ ที่เข้าร่วมพัฒนาศักยภาพของตัวเองกว่า 865 คน หลายคนเติบโตไปเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ไม่ก่อความวุ่นวานเดือดร้อน หลายคนก้าวขึ้นมาเป็นพี่เลี้ยงอาสาดูแลน้อง ๆ รุ่นถัดมา "4 ปีที่สงขลา และอีก 2 ปีที่ จังหวัดน่าน สมุทรสงคราม และศรีสะเกษได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พลังพลเมือง....สร้างได้" ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจลกล่าวยืนยัน กล่าวสำหรับ โครงการ พลังเยาวชนพลเมือง หรือ active citizen เกิดขึ้นมากจากความต้องการที่จะเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้แลพัฒนาศักยภาพตนเองโดยมี 21 century skill เป็นกรอบ ผ่านการเรียนรู้เรื่องราวจากชุมชนรอบตัวเอง ซึ่งตัวโครงการที่ทำจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพาเยาวชนหนึ่งกลุ่มเข้ามาเรียนรู้บ้านเกิดของตัวเอง สำนึกรักบ้านเกิดจะเกิดระหว่างทำโครงการ และจากความเข้าใจชุมชนของตัวเอง จากการลงมือทำ ก็เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีคิด และวิธีทำงานก็จะเกิดขึ้นที่ตรงนั้นจากการลงมือทำ จากนั้นก็กลับไปมองว่า มีความชอบ หรือความถนัดอะไร และต้องการใช้ความรู้ความสามารถหรือทักษะที่ได้จากการทำโครงการ เช่นการทำงานร่วมกันเป็นทีม การคิด การวางแผน หรือแม้แต่ทักษะการประสานงานกับคนหรือ หน่วยงานต่าง ๆ ไปช่วยคลีคลายปัญหาในชุมชนตัวเอง อย่างไรก็ตาม การสร้างสำนึกพลเมืองจะเกิดขึ้นได้มาจาก 3 ปัจจัยคือ กระบวนการที่ดี พี่เลี้ยงดี และการหนุนเสริมติดตามที่ดี ในส่วนของการออกแบบนั้น "หัวใจ" สำคัญคือ "เปิดพื้นที่ เปิดโอกาส" ให้เด็กได้แสดงออก ได้ลงมือทำ และต้องมีคนตั้งคำถามในสิ่งที่เขาทำ และต้องสรุปบทเรียนเป็นระยะๆ เพราะฉะนั้นการออกแบบกิจกรรมทีมทำงานต้องให้เด็กได้สัมผัสจากการปฏิบัติ มีการสรุปบทเรียน ที่สำคัญคือต้องมีการเติมความรู้เป็นระยะๆ โดยต้องคอยดูว่าระยะไหนต้องเติมอะไร ไม่ใช่นึกจะเติมอะไรก็เติม และที่สำคัญคือต้องรู้จักวางกระบวนการและวิเคราะห์ด้วยว่า เด็กอยู่จุดไหนแล้ว และต้องเติมอะไร เพราะแต่ละพื้นที่อาจะมีเงื่อนไข เบื้องลึก เบื้องหลัง สถานการณ์ เวลา และวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน ฉะนั้นคนที่จะติดตามเรื่องนี้หรือทำเรื่องนี้ต้องเข้าใจเด็กพอสมควร เด็กจะดีหรือไม่....แค่ให้โอกาส พรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม กล่าวว่า จากกการดำเนินงานตลอดช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมาพบว่า เด็ก ๆ ส่วนมากรักดี แต่พวกเขาแค่ไม่มีโอกาส ไม่มีคนหนุน ไม่มีคนให้คำปรึกษา "หน้าที่เราคือต้องเปิดโอกาสให้เด็ก เพราะฉะนั้นโครงการที่ส่งเข้ามาเกือบทุกโครงการ เราจะไม่คัดออกแม้แต้โครงการเดียว กรณีโครงการไหนยังไม่เข้าเกณฑ์ เราก็จะส่งพี่เลี้ยงลงไปชวนคุย ตั้งคำถามเพื่อให้เยาวชนเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองจะทำ" พี่เลี้ยงจึงมีบทบาทสำคัญที่จะพาน้อง ๆ สำหรับการเชิญชวนน้อง ๆ เยาวชนให้เข้ามาร่วมทำโครงการนั้น แต่ละพื้นที่ก็ใช้วิธีการที่แตกต่างกันออกไป บ้างใช้การประชาสัมพันธ์ผ่านภาคี เครือข่าย บางที่ใช้ควบคู่กับ Social media และบางพื้นที่ออกไป Road show ตัวโครงการสร้างความเข้าใจให้น้อง ๆ เยาวชนด้วยตัวเอง และเมื่อน้อง ๆ เข้าใจ และเห็นว่านี่คือ "โอกาส" ในการพัฒนาศักยภาพตัวเอง ก็จะร่วมกลุ่มกัน เขียนข้อเสนอโครงการเข้ามา เล็กบ้างใหญ่บ้าง แล้วแต่มุมมองของแต่ละทีม และโครงการที่เสนอเข้ามา พี่ ๆ คณะทำงานของแต่ละพื้นที...จะอ่านด้วยความตั้งใจ เพื่อทำความเข้าใจ "ความฝัน" ของน้อง ๆ ทุกโครงการ "เพราะการที่น้องตัดสินใจเขียนข้อเสนอโครงการเข้ามานั้น หมายความว่าน้องอยากทำ จะเป็นอะไรก็ตาม ในฐานะคนทำงานพัฒนาเยาวชนต้องระลึกเสมอว่า "เด็กอยากทำ" เมื่อเด็กอยากทำ ....ในฐานะโคช...ต้องไม่ปล่อยให้เด็กหลุดออกไปจากกระบวนการพัฒนา" ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ จากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงครามกล่าว ชิษนุวัฒน์ บอกต่อว่า การสร้างสำนึกพลเมืองไม่ใช่เรื่องที่ทำครั้งเดียวจบ แต่ต้องทำต่อเนื่องอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และต้องมี"กระบวนการ" ยิ่งถ้าหวังผลเรื่องความยั่งยืนก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งแกนนำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงสถานศึกษาในพื้นที่ที่จะต้องกลับมาเห็นประโยชน์เรื่องนี้ร่วมกัน คิดออกแบบเสริมหนุนกันเพื่อให้เรื่องการสร้างสำนึกพลเมืองนี้เดินต่อไปได้ เป็นการเชื่อมให้แต่ละฝ่ายหันกลับมามองเรื่องเดียวกัน ที่สำคัญคือมีกระบวนการและมีต้นแบบให้ทุกฝ่ายเดินไปด้วยกัน ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ชี้ว่า โครงการ active citizen ไม่ควรหยุดที่ตัวเด็กเพียงอย่างเดียว และต้องมีหลาย ๆ ภาคส่วนต้องมาลงขันร่วมกัน "เป้าหมายของโครงการนี้คือการเข้าไปปรับเปลี่ยน Mind set ของเยาวชน ผมมองว่าโครงการไม่ควรหยุดที่ตัวเด็ก แต่มันต้องเชื่อมโยงไปที่กระทรวง ทบวงกรมต่าง ทีรับผิดชอบเรื่องการพัฒนาเด็ก ๆ โดยตรง" อาจารย์หมอยังบอกว่า...อยากเห็นเด็กอยากทำเอง โดยที่ไม่มีใครไปชวนทำ แต่เด็กอยากทำ ก็ไปชวนหน่วยงานเช่น อบต.ให้การสนับสนุนจากภายนอกเป็นตัวเสริม ไม่ใช่การสนับสนุนจากภายนอกเป็นตัวหลัก "เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน" อาจารย์หมอกล่าวเชิญชวน.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ