มรภ.สงขลา เสริมกึ๋นครู ตชด. สนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ ติวเข้มคณิต-ไทย-การศึกษาปฐมวัย แก้ปัญหาคะแนน “O-NET” ต่ำ

ข่าวทั่วไป Wednesday July 6, 2016 13:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.ค.--มรภ.สงขลา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงคุณภาพการศึกษาโรงเรียน ตชด. ครุศาสตร์ มรภ.สงขลา รับลูก จัดอบรมสนองพระราชดำริ ติวเข้ม 3 กลุ่มสาระ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย การศึกษาปฐมวัย หวังช่วยแก้ปัญหาคะแนน O-NET ต่ำกว่ามาตรฐาน นางเอื้อนจิตร สัมมา อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) รองประธานกรรมการโครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เปิดเผยถึงการอบรมครูโรงเรียน ตชด. ในกลุ่มสาระภาษาไทย สาระคณิตศาสตร์ และการศึกษาปฐมวัยว่า จากผลทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของโรงเรียน ตชด. ช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่ามีคะแนนเฉลี่ยในภาพรวมต่ำกว่าระดับชาติในกลุ่มสาระวิชา และเมื่อพิจารณาเป็นรายโรงเรียนแล้วส่วนใหญ่ยังมีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าระดับประเทศและเขตพื้นที่การศึกษาด้วย ซึ่งสาเหตุหลักน่าจะมาจากการที่ชุมชนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทำให้มีโอกาสเข้าถึงการพัฒนาน้อย รวมทั้งข้อจำกัดทางวัฒนธรรม ความเชื่อ และความยากจน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างการบริหารจัดการด้านการศึกษาของ ตชด. แล้ว พบว่าแต่ละแห่งขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการศึกษาที่จะทำหน้าที่ในการวางแผนพัฒนา ฝึกอบรมและนิเทศช่วยเหลือครูของตนเองให้จัดการเรียนการสอน ประกอบกับบุคลากรมีการโยกย้าย สับเปลี่ยนหน้าที่บ่อยจนขาดความต่อเนื่องในการจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตระหนักต่อสภาพปัญหาดังกล่าว จึงมีพระราชปรารภให้กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน โดยให้ดำเนินโครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาในโรงเรียน ตชด. เพื่อให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้น และเพื่อช่วยให้ครู ตชด. ซึ่งไม่มีวุฒิครูให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ คณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา จึงได้ร่วมกับกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 จัดโครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาโรงเรียน ตชด. ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยดำเนินการใน 4 กิจกรรมคือ กิจกรรมที่ 1 อบรมเตรียมความพร้อมทดสอบ O-NET ให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 200 คน ใน 15 โรงเรียน กิจกรรมที่ 2 พัฒนาห้องเรียนเด็กปฐมวัย จำนวน 3 โรง กิจกรรมที่ 3 อบรมเชิงปฏิบัติการครูโรงเรียน ตชด. ในกลุ่มสาระภาษาไทย สาระคณิตศาสตร์ และการศึกษาปฐมวัย กลุ่มสาระละ 30 คน รวม 90 คน และ กิจกรรมที่ 4 นิเทศและประเมินผลการสอนครูโรงเรียน ตชด. ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2559 "ผลที่ได้จากโครงการคือ ครูโรงเรียน ตชด. ได้รับการฝึกจัดบรรยากาศการเรียนรู้และสื่อการสอน ในกลุ่มสาระภาษาไทย คณิตศาสตร์ และการศึกษาปฐมวัย ได้ประสบการณ์จัดสภาพห้องเรียน ขณะเดียวกันตัวนักเรียนเองก็ต้องสามารถเขียนบทความภาษาไทย คิดคำนวณทางคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวันได้ ประการสำคัญ คณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา ได้แนวทางในการปรับปรุงการจัดการเรียนรู้และปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมกับนักเรียน ครู และผู้บริหารของโรงเรียน ตชด." นางเอื้อนจิตร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ