ก้าวต่อไป “อย่าให้ใครว่าไทย” รุกสร้างพฤติกรรมใหม่...ลงลึกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อไทยยั่งยืน!!

ข่าวทั่วไป Wednesday July 13, 2016 11:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--พริสไพออริตี้ ถือเป็นแคมเปญดีๆ ที่สร้างกระแสที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมา สำหรับ "อย่าให้ใครว่าไทย" แคมเปญรณรงค์ที่มีจุดเริ่มต้นจากการพบว่าในปัจจุบัน มีคนไทยจำนวนหนึ่งที่อาจมีทัศนคติ นิสัย และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดปัญหาให้แก่ประเทศขึ้นในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ดังนั้น แคมเปญ "อย่าให้ใครว่าไทย" จึงริเริ่มขึ้น เพื่อลด ละ เลิก 4 พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ (โกง ฟุ้งเฟ้อ มักง่าย ขาดสติ) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติ นิสัย และพฤติกรรม จากกระแสตอบรับที่ดีเยี่ยมขนาดนี้ เชื่อว่าบิ๊กแคมเปญนี้ต้องมีแผนงานและแนวทางระดับชาติที่เตรียมไว้ในปีนี้อย่างแน่นอน จะมีอะไรดีอะไรเด็ดชวนให้สังคมฉุกคิดนั้น วันนี้ ธาตรี ลิขนะพิชิตกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันมั่นพัฒนา จะมาบอกเล่าถึงทิศทางและกิจกรรม ตลอดจนเป้าหมายระยะยาวที่จะมุ่งเน้น เพื่อสังคมในปี 2559 สำหรับ "อย่าให้ใครว่าไทย" ธาตรี ลิขนะพิชิตกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันมั่นพัฒนา เผยว่า "สืบเนื่องด้วยองค์กรจากภาคส่วนต่างๆ ต้องการเห็นประเทศมีการพัฒนาที่ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน จึงได้รวมตัวกันริเริ่มแคมเปญรณรงค์ ภายใต้ชื่อ "อย่าให้ใครว่าไทย" ขึ้น อันเป็นโครงการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุกให้คนบางกลุ่มในชาติ ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ลดเลิกพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ สร้างจิตสำนึกและวินัยอันจะเป็นพื้นฐานที่ทำให้ประเทศพัฒนาต่อไป โดยมุ่งเสริมทัศนคติและพฤติกรรมเชิงบวกใน 4 มิติ คือ การเงิน สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ในสังคมไทย ซึ่งองค์กรที่ริเริ่มโครงการดังกล่าวประกอบด้วย สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กรมประชาสัมพันธ์ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และมูลนิธิมั่นพัฒนา นอกจากนั้น ยังได้เชิญองค์กรจากภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน เข้าร่วมเป็นเครือข่ายอนาคตไทย เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนโครงการ "อย่าให้ใครว่าไทย" ซึ่งเป็นกิจกรรมเริ่มต้นของเครือข่ายฯ โดยปัจจุบันมีภาคีเครือข่ายรวมทั้งสิ้น 108 องค์กร" "กลยุทธ์การทำงานของแคมเปญ "อย่าให้ใครว่าไทย" มีเป้าประสงค์ที่จะมุ่งเน้นกระตุ้นให้ประชาชนหันกลับมาดูตัวเอง มีหลักคิดและหลักปฏิบัติในการใช้ชีวิตที่อยู่บนความพอดีชี้ประเด็นให้เห็นถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทั้ง 4 มิติข้างต้น เพื่อก่อให้เกิดการรับรู้ และที่สำคัญได้เน้นน้ำหนักในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความฟุ้งเฟ้อเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชน และคนรุ่นใหม่ ที่เป็น First Jobber เพราะคนเหล่านี้จะเป็นอนาคตของประเทศชาติต่อไป เขาจึงต้องมีจิตสำนึกในการบริหารจัดการการเงิน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตแข็งแรง ซึ่งจะเชื่อมโยงให้สังคมและประเทศชาติพัฒนาและแข็งแกร่งในที่สุด ภายใต้กลยุทธ์การสร้างเครือข่ายความร่วมมือขององค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้มาร่วมกันรณรงค์ภายใต้ทิศทางและแนวความคิดเดียวกัน โดยเริ่มต้นจากบุคลากรภายในองค์กรซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะบางองค์กรมีจำนวนคนเป็นพันเป็นหมื่นก็จะช่วยกันขยายผลไปเป็นทวีคูณ รวมไปถึงการขยายผลไปสู่สังคมภายนอกองค์กร ในปีที่ผ่านมามีหลายๆ องค์กรที่ขยายผลทั้งภายในและภายนอกองค์กร เช่น "อย่าให้ใครว่าไทยไม่รักษ์น้ำ" ของการประปานครหลวง, "อย่าให้ใครว่าไทยไร้เสน่ห์" ของการบินไทย, "อย่าให้ใครว่าไทยไม่ใช้ปัญญา" ของเอสซีจี, "อย่าให้ใครว่าไทยเลี้ยงลูกไม่เป็น" ของรักลูกกรุ๊ป, "อย่าให้ใครว่าคนมิตรผลฟุ้งเฟ้อ" ของน้ำตาลมิตรผล, "อย่าให้ใครว่าไทยไม่ออม" ของธนาคารไทยพาณิชย์, "อย่าให้ใครว่าไทยหูเบา" ของปตท. ล่าสุด จ.ขอนแก่นก็ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมเป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายอนาคตไทยโดยมี 19 องค์กรภายในจังหวัด เข้าร่วมเป็นเครือข่ายด้วย และจัดกิจกรรมรณรงค์ครบทั้ง 4 มิติ ภายในจังหวัดอย่างต่อเนื่อง นับเป็นต้นแบบของภาคีเครือข่ายในเขตภูมิภาค นอกจากนั้น เครือข่ายอนาคตไทยยังได้เดินทางไปที่ จ.สงขลา จัดเวทีเสวนา "คิดดี...มีตังค์" ให้กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และชมรมคนรักในหลวง มูลนิธิบุคคลพอเพียงจังหวัดสงขลาอีกด้วย "ในการทำงานจะมี 3 ยุทธศาสตร์ คือ 1. ยุทธศาสตร์การรับรู้ ผ่านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้เกิดการตื่นตัว สร้างกระแสสนับสนุน สร้างมาตรฐานของสังคม (Benchmark) และทำให้เกิดทัศนคติที่ถูกต้อง หรือทำให้เกิดความละอาย ความกลัว นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 2. ยุทธศาสตร์การเรียนรู้ จะเป็นการลงพื้นที่เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและประชาชนในกลุ่มต่างๆ จัดกิจกรรมเข้าถึงตัว เพื่อแนะแนวทางวิธีปฏิบัติที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน มุ่งหวังให้นำไปเป็นหลักคิดหลักปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีบนพื้นฐานของความพอเพียง เกิดวินัยทางการเงินและความขยันหมั่นเพียร ยุทธศาสตร์สุดท้าย คือ การร่วมแรง หมายถึง สร้างความร่วมมือที่ยั่งยืนและต่อเนื่องขององค์กรต่างๆ ที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายอนาคตไทย เพื่อให้เกิดกิจกรรมต่อเนื่องและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการขับเคลื่อนโครงการในแต่ละองค์กร ที่ผ่านมาได้เคยจัดกิจกรรมสานสัมพันธ์ไปแล้ว และเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมานี้ เราได้จัดให้มีสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อให้เครือข่ายทั้งหมดได้รับทราบถึงผลการดำเนินงานของเครือข่ายที่ผ่านมา อีกทั้งได้มาร่วมกันคิดถึงการขับเคลื่อนกิจกรรมต่อไปในอนาคต และแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ท้ายที่สุดแล้วก็เพื่อที่จะนำกลับไปทำกิจกรรมทั้งภายในและภายนอกองค์กร ลักษณะนี้ก็จะทำให้เกิดการทำงานที่เป็นเครือข่ายอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังมีแผนการที่จะจัดกิจกรรมภายใต้แคมเปญอย่าให้ใครว่าไทยร่วมกัน เป็นการรวมตัวกันทำกิจกรรมภายใต้มิติใดมิติหนึ่งของภาคีเครือข่าย ซึ่งกำลังพิจารณาว่าจะเป็นกิจกรรมอะไรและที่ไหนอย่างไร อยู่ระหว่างการเตรียมงานครับ" "แผนการดำเนินงานในปีนี้ เครือข่ายอนาคตไทยมีแผนการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ภาพยนตร์โฆษณาชุดเดิมจะนำไปเผยแพร่ในช่องทางใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้น จะจัดทำภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ เผยแพร่เนื้อหาที่เน้นการแนะนำวิธีปฏิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติฟุ้งเฟ้อ ซึ่งจะมีการเพิ่มสื่อและความถี่ ขยายการรับรู้ออกไปในวงกว้างเพื่อครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่มากขึ้น และให้เห็นถี่ขึ้นสร้างการรับรู้และจดจำ โดยเฉพาะในสื่อโทรทัศน์และวิทยุ รวมถึงในโรงภาพยนตร์ นอกจากนี้ จะมีการจัดเวทีเสวนาสัญจรใน 10 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, หรือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เป็นต้น และจะจัด "มหกรรม "คิดดี...มีตังค์"" ในหัวเมืองสำคัญของแต่ละภูมิภาค เช่น กรุงเทพฯ สงขลา ขอนแก่น และชลบุรี เป็นต้น โดยเชิญศิลปินดาราคนรุ่นใหม่มาถ่ายทอดเรื่องราว แนวคิดและวิธีการบริหารจัดการเงินให้ผู้เข้าร่วมร่วมงานฟัง เพราะบุคคลเหล่านี้ใกล้ชิดและเข้าถึงประชาชน เพื่อสร้างค่านิยมที่ดีให้กับคนไทยทั่วทั้งประเทศสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้คนไทยมีคุณสมบัติของความเป็นคนไทยที่ดีในด้านต่างๆ อย่างครบถ้วน" "ทั้งนี้ เป้าหมายระยะยาวของแคมเปญ "อย่าให้ใครว่าไทย" นี้จะเป็นการเสริมสร้างค่านิยมที่ดีงามและเหมาะสม ทั้งในด้านการดำเนินชีวิตและการอยู่ร่วมกันในสังคม บนพื้นฐานของความพอดี รวมถึงส่งเสริมให้คนไทยคิดและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสู่ความพอเพียง ตลอดจนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทยทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในสังคมไทย และผ่านต่อให้กับคนไทยรุ่นหลังต่อไป"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ