ปัญหาการปลดคนเลิกจ้างและประเด็นระบบการจ้างงานแบบเหมาช่วง

ข่าวทั่วไป Thursday July 14, 2016 11:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถานการณ์ภาวะการมีงานทำโดยรวมยังไม่น่าเป็นห่วงนัก คาดการณ์อัตราการว่างงานน่าจะเคลื่อนไหวในช่วง 1-1.7% ในปีนี้ เดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 1.2% แต่มีสัญญาณการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ในระดับสูงมากกว่า 25% มีการทำงานต่ำระดับ (underemployment) เพิ่มขึ้น และอาจมีการทยอยปิดงานเลิกจ้างในหลายธุรกิจอุตสาหกรรมขณะเดียวกันก็มีการขยายการจ้างงานในหลายกิจการ เรียกร้องให้กระทรวงแรงงานจัดระเบียนการจ้างงานแบบเหมาช่วงให้เป็นมาตรฐานเพื่อดูแลผู้ใช้แรงงานทักษะต่ำ และ ดูแลการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี พลวัตของระบบทุนนิยมโลก มีการคาดการณ์โดยนักอนาคตศาสตร์ว่า ในปี ค.ศ. 2030 ความก้าวหน้าเทคโนโลยีจะทำให้ตำแหน่งงานแบบเดิมในบางอาชีพหายไปไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านตำแหน่งงาน ขณะเดียวกันก็มีการสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆที่คนทำงานต้องมีทักษะใหม่ๆ ซึ่งระบบการศึกษาไทยต้องทำหน้าที่ในการผลิตคนรองรับตั้งแต่วันนี้ ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึง สถานการณ์การจ้างงานและการปลดพนักงานเลิกจ้างในขณะนี้ว่า สถานการณ์ภาวะการมีงานทำโดยรวมยังไม่น่าเป็นห่วงนัก คาดการณ์อัตราการว่างงาน 1-1.7% ในปีนี้ โดยเดือนพฤษภาคมอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.2% หรือมีผู้ไม่มีงานทำแต่พร้อมที่จะทำงานจำนวน 4.53 แสนคน แต่มีสัญญาณการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ปีนี้ในระดับสูงมากกว่า 25% ขณะนี้ผู้ว่างงานที่จบการศึกษาใหม่และไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานอยู่ที่ประมาณ 1.82 แสนคนโดยผู้สำเร็จระดับอุดมศึกษาว่างงานมากสุด 9.5 หมื่นคน นักศึกษาจบใหม่กลุ่มนี้หากไม่เลือกงานและยอมทำงานต่ำกว่าคุณวุฒิตัวเองจะยังสามารถหางานได้อยู่ในขณะนี้ เพราะไทยยังขาดแคลนแรงงานในหลายอุตสาหกรรมซึ่งต้องให้แรงงานต่างด้าวมาทำงานแทน หากสถานการณ์การว่างงานไม่ดีขึ้นในอนาคต รัฐบาลอาจต้องจำกัดจำนวนการนำเข้าแรงงานบางประเภทจากประเทศเพื่อนบ้านในระยะต่อไปเพื่อรักษาตำแหน่งงานให้คนไทยก่อน แนวโน้มในระยะนี้ อาจจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นของการทำงานต่ำระดับ (underemployment) ขณะนี้มีทำงานต่ำระดับ 2.68 แสนคนหรือร้อยละ 0.7 ของจำนวนผู้ทำงานทั้งหมด ซึ่งคนกลุ่มนี้จะทำงานไม่เต็มเวลาและต้องการทำงานเพิ่มเพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ส่วนการลดชั่วโมงการทำงาน OT ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมส่งออกที่หดตัวหรือมีการเติบโตต่ำ ทำให้รายได้ของผู้ทำงานจำนวนไม่น้อยไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย แนวโน้มของอัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอาจกลับมาสูงขึ้นอีกหลังจากอัตราเพิ่มขึ้นปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสสี่ปีที่แล้ว ระดับการเพิ่มของหนี้ครัวเรือนที่ชะลอลงอาจเปลี่ยนแปลงไปหากมีคนว่างงานเพิ่มขึ้น ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต คาดการณ์ว่าอาจมีการทะยอยปิดงานเลิกจ้างในอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ สิ่งทอ ธุรกิจโฆษณา สิ่งพิมพ์ และ ธุรกิจทีวีดิจิตอลอุตสาหกรรมน้ำมันของบรรษัทข้ามชาติในไทย ธุรกิจสถาบันการเงินระหว่างประเทศในไทย รวมทั้ง กิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชน การเลิกจ้างจะเกิดขึ้นมากในบริษัทเหมาช่วงของธุรกิจอุตสาหกรรมเหล่านี้ ขณะที่จะมีการขยายตัวของการจ้างงานเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมก่อสร้าง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมการแพทย์ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ เป็นต้น ผู้ว่างงานบางส่วนที่มีทักษะตรงหรือสอดคล้องกับธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีขยายตัวจะสามารถกลับไปมีงานทำได้ในเวลาไม่นานนัก ปัญหาการเลิกจ้างจึงยังไม่ใช่วิกฤติในระยะสั้นแต่อย่างใด จับตาอุตสาหกรรมยานยนต์ปรับตัวครั้งใหญ่จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า Tesla ขณะที่ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของบริษัทขนาดใหญ่ 17 แห่ง ซึ่งยังคงใช้เทคโนโลยีเดิม มีบริษัทผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ขนาดใหญ่ 390 แห่ง และบริษัทผลิตชิ้นส่วนขนาดเล็ก 1,250 แห่ง หากการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าขยายตัวมากๆ บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แบบเดิมก็หมดความจำเป็น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 750,000 ตำแหน่ง ร้อยละ 40-50 ของตำแหน่งงานเหล่านี้เป็นพนักงานเหมาช่วงหรือซับคอนแทรค ผู้ใช้แรงงานที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้ที่มีทักษะไม่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่เติบโตอยู่ในขณะนี้ แต่คนกลุ่มนี้จะได้รับการดูแลจากระบบประกันการว่างงานช่วงเวลาหนึ่งและต้องไปฝึกอบรมเรียนรู้ในการเปลี่ยนทักษะการทำงานให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน กลุ่มที่น่าเห็นใจมากที่สุด คือ บรรดาแรงงานทักษะต่ำและเป็นแรงงานนอกระบบทั้งหลายที่อยู่ภายใต้ระบบการทำงานในบริษัทเหมาช่วงจะได้รับผลกระทบจากความยากลำบากทางเศรษฐกิจมากที่สุด แม้นระบบการจ้างงานแบบเหมาช่วงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในการลดต้นทุนระยะสั้น มีความยืดหยุ่นในการจ้างงานสอดคล้องภาวะเศรษฐกิจ ภาวะการผลิตและยอดขาย ปัญหาในระบบการผลิตแบบเหมาช่วงเป็นปัญหาในระดับสากล เรื่อง ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้ใช้แรงงานกับผู้ประกอบการในระบบการผลิตแบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการเองก็แสวงหาวิธีในการลดต้นทุนการผลิต การผลิตที่มีความยืดหยุ่นตามภาวะเศรษฐกิจ จึงเลือกที่จะ ส่งออกงานในบางลักษณะให้บริษัทเหมาช่วงรับไปทำเพื่อให้มีการจ้างงานแบบยืดหยุ่น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงแรงงานไปจัดระบบให้ระบบการจ้างงานแบบเหมาช่วง มีมาตรฐานการจ้างงานที่เป็นสากล ไม่เช่นนั้นผู้ใช้แรงงานในระบบเหมาช่วงจะถูกเอาเปรียบอย่างมาก หลักคิดของการยกระดับมาตรฐานระบบการจ้างงานแบบเหมาช่วงเพื่อให้เกิดการคุ้มครองแรงงาน เพราะแรงงานแตกต่างจากสินค้าอื่นๆในระบบเศรษฐกิจ และเกี่ยวกับความอยู่รอดและคุณภาพของชีวิตของคนงานและครอบครัว การกำหนดมาตรฐานแรงงานในระบบเหมาช่วงต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมทางสังคมด้วยไม่สามารถกำหนดจากอุปสงค์อุปทานในตลาดแรงงาน ความผันผวนของภาวะการผลิตและเศรษฐกิจเท่านั้น อีกประการหนึ่งลูกจ้างโดยเฉพาะในระบบเหมาช่วงมีอำนาจต่อรองน้อย ลูกจ้างในบริษัทเหมาช่วงมักไม่มีสหภาพแรงงาน และอัตราการรวมตัวของลูกจ้างเป็นสหภาพแรงงานในประเทศไทยต่ำมากไม่ถึง 2% ของกำลังแรงงาน สะท้อน ระดับความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสถานประกอบการยังอยู่ในระดับต่ำ เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยในสถานประกอบการมากขึ้น รัฐบาลไทยควรทำสัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 หากเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ในระดับ 3% ขึ้นไป อัตราการว่างงานของไทยจะไม่เกิน 1.5-1.7% ของกำลังแรงงาน หรือ ตัวเลขการว่างงานโดยรวมจะไม่เกิน 6-6.5 แสนคน ปัญหายังอยู่ในระดับที่สามารถแก้ไขได้ไม่ยาก โดยรัฐบาลต้องเพิ่มงบประมาณใช้จ่ายลงทุนในประเทศเพิ่ม หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่า 1% และส่งออกติดลบมากกว่า 5% ปัญหาการว่างงานจึงเข้าขั้นเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ความเป็นไปได้ของปัญหาวิกฤติการจ้างงานแบบอียูบางประเทศ เช่น สเปน กรีซ อิตาลี ที่มีอัตราการว่างงานเป็นตัวเลขสองหลักนั้นไม่มีโอกาสเกิดขึ้นในประเทศไทยในระยะสั้นและระยะปานกลาง ส่วนในระยะยาว หากมี Disruptive Technology and Innovation การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่พลิกโฉมการผลิต ธุรกิจและเศรษฐกิจ บวกเข้ากับพลวัตของระบบทุนนิยมโลก แล้วเราไม่มียุทธศาสตร์ในตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างเหมาะสม และสิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในระบบการศึกษาไทยให้สามารถผลิตคนคุณภาพใหม่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงเร็วมากๆ หากเรามียุทธศาสตร์ที่เหมาะสม เราจะไม่เผชิญกับปัญหาวิกฤติการจ้างงานและเศรษฐกิจ มีการคาดการณ์โดยนักอนาคตศาสตร์ว่า ในปี ค.ศ. 2030 ความก้าวหน้าเทคโนโลยีจะทำให้ตำแหน่งงานแบบเดิมในบางอาชีพหายไปไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านตำแหน่งงาน ขณะเดียวกันก็มีการสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆที่คนทำงานต้องมีทักษะใหม่ๆ ซึ่งระบบการศึกษาไทยต้องทำหน้าที่ในการผลิตคนรองรับตั้งแต่วันนี้ ขณะเดียวกัน IMD คาดการณ์ว่า ตำแหน่งงานในประเทศไทยจะหายไปจำนวนมากในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีแบบเก่าในหลายกิจการอุตสาหกรรม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ