ภาษาไทย: ความเสี่ยงในสภาวะคลั่งไคล้เครือข่ายสังคมออนไลน์ Thai Language : Risk in the Social Network Addicted Society.

ข่าวทั่วไป Monday August 1, 2016 17:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--คณะมนุษยศาสตร์ ม.ทักษิณ รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๙ แถลงวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา แถลงผลการเฝ้าติดตามปัญหาการทักษะการใช้ภาษาไทย อันเนื่องจากการเติบโตก้าวหน้าเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร และการเชื่อมต่อในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๙ ความว่า จากการศึกษาและเฝ้าติดตาม พฤติกรรมการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของนักศึกษา พบว่าส่วนใหญ่ให้ความสำคัญและใช้เวลากับ Facebook Line Instragram ผ่านการใช้ Smartphone คอมพิวเตอร์พกพา (Tablet) มากถึง ๕ ชั่วโมงต่อวัน เป็นกิจกรรมสุดท้ายก่อนนอน กิจกรรมแรกหลังตื่นนอน และกิจกรรมระหว่างเรียน สำหรับการแสดงตัวตน โพสต์ แชร์ การสนทนา การติดตามความเคลื่อนไหว และเห็นว่าสังคมออนไลน์เป็นสิ่งที่จำเป็น สำคัญในชีวิตที่ขาดไม่ได้ หากไม่ได้เล่น/ ใช้งาน หรือตกอยู่ในเงื่อนไข สถานการณ์ที่ไม่สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้ ทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า "ภาวะคลั่งไคล้เครือข่ายสังคมออนไลน์รุนแรง" (Social Network Addiction) ที่โน้มนำไปสู่การเกิดกลุ่มอาการที่นักประสาทวิทยา เรียกว่า "Visiobibliophobia" อันเป็นอาการแสดงออกเนื่องจากความคลั่งไคล้เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างรุนแรง และสะท้อนออกมาในลักษณะอาการหมกมุ่น คลั่งไคล้ อยู่ไม่สุข หงุดหงิด ขาดสมาธิ กระสับกระส่ายต่อปฏิกิริยาตอบสนอง เช่น จำนวนการเข้ามาแสดงความคิดเห็น การกดไลค์ และหม่นเศร้า สูญเสียคุณค่า หากไม่เป็นดังที่คาดหวังตั้งใจ หรือหวั่นหวาดที่จะไม่ได้รับความนิยมในเครือข่ายสังคมออนไลน์ "ที่น่าตกใจคือ นักศึกษาให้ข้อมูลว่าหากวันใดลืมเครื่องมือเชื่อมต่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ จะต้องกลับไปเพื่อนำมาใช้งานต่อเนื่อง หรือหากตกอยู่ในสถานการณ์ พื้นที่ที่ไม่สามารถเชื่อมต่อได้ จะไม่มีสมาธิ รู้สึกที่ทุรนทุราย กระวนกระวาย หงุดหงิด หากวันใดวันหนึ่งลืมหนังสือ ตำราการเรียน จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นเรื่องเล็กน้อย ที่ไม่สำคัญอะไรมากมาย สามารถยืมเพื่อนๆ และรู้สึกเสียเวลาหากกลับไปนำมาสำหรับการเรียน นักศึกษาส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้สมาร์ทโฟน ถ่ายภาพขณะบรรยาย มากกว่าการจดหรือสรุปความเพื่อใช้สำหรับบันทึกการเรียนรู้หรือทบทวน" ๒. ผลกระทบต่อการใช้ภาษาไทย ความคลั่งไคล้เครือข่ายสังคมออนไลน์แบบรุนแรง ส่งผลกระทบและก่อให้เกิดสภาวะถดถอยของวัฒนธรรมการอ่าน ที่เชื่อมโยงถึงทักษะการฟัง พูด เขียน คิดวิเคราะห์ ที่ไม่มีประสิทธิภาพในหลายรูปแบบ ทั้งในแง่การเขียนไม่ตรงประเด็น วกไปวนมา การสะกดคำผิด แม้กระทั่งคำง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน การใช้พูดในภาษาเขียน การใช้ภาษาไม่ถูกต้อง ผิดกาลเทศะ การอ่านที่ไม่สามารถจับใจประเด็น และไม่สามารถสรุปสาระสำคัญจากการฟังได้ "กล่าวให้ชัดเจนในระดับมหาวิทยาลัย เครือข่ายสังคมออนไลน์ส่งผลกระทบต่อการคิดเชิงวิเคราะห์ การประกอบสร้างความรู้ (conceptualization) การคิด เขียนที่สื่อสารไม่ได้ ภาษาพูดที่ปะปนในภาษาเขียน ผสมปนเปเจือปนด้วยความรู้สึก นึกคิดทึกทักเอาเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคที่สำคัญในการเรียนรู้ ที่สำคัญคือทำให้กลายเป็น สังคมความรู้สึก ขาดการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ มุ่งความเป็นปัจเจกบุคคลและตัวตนเป็นที่ตั้ง ละเลยชีวิตสาธารณะ และมิติการสร้างสรรค์สังคมสาธารณะ ที่เหมาะสมกับบทบาท หน้าที่สถานภาพ และตำแหน่งแห่งที่ทางชั้นชนที่สังกัด" "ที่น่าหวั่นใจประการหนึ่ง มีข้อเท็จจริงที่ว่ากลุ่มผู้สอนก็มีการใช้ภาษาที่ขาดประสิทธิภาพ ขาดกาละ เทศะ มากขึ้น ตัวอย่างรูปธรรม เช่น อาจารย์ผู้สอนโพสต์สเตตัสว่า "กำลังใจเล็กๆจากคนเป็นครู" โดยถ่ายภาพข้อความที่นิสิตเขียนท้ายกระดาษคำตอบข้อสอบว่า "ขอชื่นชมความเป็นครูที่ดี ทุ่มเทกับกับการสอน" "หนูสัญญาจะเป็นเด็กดี ตั้งใจเรียน" แม้ข้อความเหล่านั้นอาจจะมีส่วนจริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีน้ำเสียงเรียกร้องความเห็นใจ และต่างสนับสนุนกันและกันให้มีการใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์ หลงสำคัญผิดมากขึ้นเรื่อยๆ ๓. ข้อเสนอแนะ ๓.๑ จัดระเบียบการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ให้เหมาะสมกับบริบท บทบาทหน้าที่ สถานการณ์ กาละ เทศะในชีวิตประจำวัน โดยอาจกำหนดให้มี "ธรรมนูญเครือข่ายสังคมออนไลน์" เพื่อกำกับ กระตุ้น สร้างความตระหนักในการใช้และการเชื่อมต่อในโลกชีวิตประจำวัน รวมถึง "การส่งเสริมความเป็นพลเมืองในเครือข่ายสังคมออนไลน์ และสื่อสังคมอื่นๆ" ๓.๒ เปิด/ สร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน ที่มีชีวิตชีวา อย่างจริงจังในสถานศึกษา ครอบครัว ชุมชน และพื้นที่สร้างสรรค์อื่นๆ เพื่อดึงผู้คนมาสู่การฟัง พูด อ่าน เขียนที่ใกล้ชิดกับโลกธรรมชาติ มากกว่าการจมดิ่งอยู่กับโลกเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่ในท้ายที่สุดแล้วไม่เพียงทำให้ทักษะการใช้ภาษาไทยที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไร้ประสิทธิผลเท่านั้น แต่คือ "การเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางสังคมไปสู่ความสัมพันธ์เสมือนจริงที่แหว่งวิ่นในความเป็นมนุษย์ ขาดมารยาท และทักษะการใช้ชีวิต การอยู่ร่วมกันในสังคม" มากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างการเปิด/ สร้างพื้นที่สาธารณะเชิงสร้างสรรค์ เช่น กิจกรรมส่งเสริมการอ่านและวัฒนธรรมการอ่าน ที่หลากหลาย มีชีวิตชีวา อาทิ วรรณกรรม กวีนิพนธ์ ภาพยนตร์ ฯลฯ โดยอาจเชื่อมโยงกิจกรรมการเรียนการสอนในรายวิชาและหลักสูตรต่างๆ โครงการเสริมสร้างการอ่านและวัฒนธรรมการอ่าน ที่สามารถแปลงไปสู่การปฏิบัติการ การเชื่อมโยงกับโครงการจิตอาสา บำเพ็ญประโยชน์ และการสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองและพลโลก เพื่อดึงดูด เบี่ยงความสนใจของผู้คนสู่โลกชีวิตประจำวัน อิงแอบ แนบชิดกับธรรมชาติ และการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมแบบชิดใกล้ ๓.๓ ส่งเสริม สนับสนุนการปรับเปลี่ยนวิธีการสอน การเรียนรู้ในสถาบันการศึกษา ให้มีลักษณะเป็นการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) และจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อสร้างปัญญารวมหมู่ (Collective Intelligence) ผ่านกิจกรรมการเรียนการสอน การเชื่อมโยงหลักสูตรทั้งในและนอกชั้นเรียนให้มากยิ่งขึ้น โดยสรุป การปล่อยเลยตามเลยให้ทุกองคาพยพของสังคม จมดิ่งกับความคลั่งไหลเครือข่ายสังคมออนไลน์ ไม่เพียงทำให้กลายเป็นสังคมก้มหน้าเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการนำความสัมพันธ์เสมือนจริง แทนที่ระบบและความสัมพันธ์ทางสังคมที่ตั้งอยู่บนมิตรภาพ ความรัก ความดีงาม และการสร้างสรรค์ชีวิตสาธารณะ ร่วมกัน นำไปสู่ปัญหาสังคมอื่นๆตามมาเป็นแบบเกี่ยวเนื่องในอนาคต แต่ยังไม่สายเกินไปที่สังคม สถาบัน กลไกในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน หน่วยงานท้องถิ่น เป็นต้น จะเข้ามาร่วมกันจัดระเบียบ เพื่อรื้อฟื้น ส่งเสริมการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ตื่นรู้ เท่าทัน สื่อ เทคโนโลยี และเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผ่านการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์การเรียนรู้ที่มีชีวิต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ