แม้เทคโนโลยีเปลี่ยนไป แต่ความห่วงใยต่อ “แม่” ไม่เปลี่ยนแปลง

ข่าวทั่วไป Thursday August 11, 2016 10:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--เทคสตาร์ แม้เทคโนโลยีเปลี่ยนไป แต่ความห่วงใยต่อ "แม่" ไม่เปลี่ยนแปลงลูกจ้างชาวไอทีวอนขอวันลาผู้ชายช่วยเลี้ยงลูกหลังคลอด เทคสตาร์ไทยแลนด์ดอทคอม เว็บไซต์หางานไอที เพื่อคนไอทีไทย 100% เผยผลสำรวจ "คนไอที คิดอย่างไรกับความเป็นแม่ในวันแม่แห่งชาติ" คนไอทีส่วนใหญ่ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกลกับคุณแม่ ยังเลือกที่จะไปหาและบอกรักแม่ในวันแม่แห่งชาติด้วยตัวเอง แทนการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีประเภทอื่นๆ ในขณะเดียวกันสวัสดิการจากบริษัทที่คนไอทีต้องการให้ลูกจ้างที่เป็นคุณแม่มากที่สุดคือ การสามารถยืนหยุ่นเวลาทำงานได้ นายจุลเดช มัชฉิมานนท์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เทคสตาร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าเว็บไซต์เทคสตาร์ดอทคอมได้สำรวจความคิดเห็นของคนทำงานไอทีอายุ 21 ปีขึ้นไป จำนวน 289 คน ในหัวข้อ "คนไอที คิดอย่างไรกับความเป็นแม่ในวันแม่แห่งชาติ" แบ่งเป็นหญิง 45% เป็นชาย 54% และอื่นๆ อีก 1% ผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มนี้ มีลักษณะการทำงาน เป็น พนักงานประจำ 78% ฟรีแลนซ์ 7% สัญญาจ้าง 6% รวมถึงว่างงาน 9% ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการจัดทำผลสำรวจเฉพาะสำหรับคนไอทีในหัวข้อนี้ ผลสำรวจนี้แบ่งคำถามเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกถามถึงการบอกรักแม่ของตัวผู้ตอบแบบสอบถามเอง เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติปีนี้ และส่วนที่ 2 จะเป็นมุมมองของผู้ตอบแบบสอบถามคนไอทีที่มีต่อบทบาทและหน้าที่ของคำว่า "แม่" รวมถึงความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามต่อสวัสดิการที่ต้องการเรียกร้องจากบริษัท รวมถึงข้อกฎหมายที่จะเอื้อประโยชน์ต่อลูกจ้างที่เป็นแม่ในปัจจุบัน ผลสำรวจในคำถามส่วนแรก พบประเด็นที่น่าสนใจ ถึงแม้กลุ่มคนไอทีจะเป็นกลุ่มคนที่น่าจะมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีมากที่สุด แต่การแสดงความรักต่อคุณแม่ 2 อันดับแรกยังคงเป็นพฤติกรรมแบบดั้งเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลง เมื่อถามว่า คุณเลือกที่จะบอกรักแม่ผ่านช่องทางไหนในปีนี้ (ผู้ตอบสามารถเลือกตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) คนไอทีส่วนใหญ่เลือกที่จะไปหาท่านเลย คิดเป็น 66% รองลงมาคือ โทรไปหา 46% ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกลจากแม่ โดยปัจจัยด้านระยะทางเป็นตัวแปร กล่าวคือ คนที่อยู่ห่างจากคุณแม่ (อยู่คนละจังหวัดหรือคนละประเทศ) เลือกที่จะโทรไปบอกรักแม่มากกว่าไปหาท่านเลย นายจุลเดช กล่าวต่อไปว่า ในส่วนที่ 2 มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็น ผู้ตอบแบบสอบถามคนไอทีผู้หญิงมากถึง 80% ไม่ต้องการลาออกจากงานเพื่อมาเลี้ยงลูก เพราะยังต้องการมีรายได้ (76%) รองลงมาคือ รักงานที่ทำ (19%) และต้องการความก้าวหน้าในอาชีพ (5%) ประเด็นเกี่ยวกับการให้ผู้หญิงลาออกจากงานมาเลี้ยงลูกพบว่า คนไอทีส่วนใหญ่คิดว่า ไม่ควรลาออกมาเลี้ยงลูกเต็มตัวและควรทำงานไปตามปกติ ประเด็นที่น่าสนใจคือ ความคิดเห็นรองลงมาที่แตกต่างกันระหว่างชายและหญิงกล่าวคือ ผู้ชายจำนวน 1 ใน 3 ต้องการให้ผู้หญิงเลิกทำงานในช่วงเวลาหนึ่งและกลับไปเมื่อพร้อม แต่ผู้หญิง 1 ใน 3 คิดว่า เปลี่ยนไปทำงานประเภทอื่นที่มีเวลามากขึ้นจะเป็นสิ่งที่เธอเลือกมากกว่า นอกจากนี้ ในแบบสอบถามยังถามถึงประเด็นที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายแรงงานที่มีต่อลูกจ้างที่เป็นแม่ จากผลสำรวจพบว่า คนที่มีลูกแล้วคิดว่าการกฎหมายอนุญาตให้ลูกจ้างสามารถลาคลอดได้ 90 วันนั้นเพียงพอแล้ว แต่ในขณะที่ลูกจ้างที่ยังไม่มีลูกกลับคิดว่าไม่เพียงพอ และเมื่อถามถึงค่าชดเชยตามกฎหมาย 45 วัน ที่ได้จากการลาคลอด คนส่วนใหญ่คิดว่าไม่เหมาะสม อีกทั้งผู้ตอบสอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ต้องการให้มีการออกกฎหมายเพิ่มเติมให้นายจ้างอนุญาตให้ผู้ชายสามารถลางานเพื่อช่วยภรรยาหลังคลอดบุตรด้วย ส่วนประเด็นความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับนายจ้าง ผลสำรวจพบว่า คนไอทีไม่ว่าจะมีบุตรแล้วหรือไม่ ต้องการเรียกร้องให้ลูกจ้างที่เป็นแม่ สามารถยืนหยุ่นเวลาเข้า – ออกงานได้เป็นอันดับหนึ่ง แต่มีความคิดเห็นที่แตกต่างในอันดับ 2 คือคนไม่มีลูกคิดว่าห้องปั๊มนมสำหรับลูกจ้างที่เป็นแม่สำคัญ แต่คนที่มีลูกแล้วกลับมองว่า การมีห้องสำหรับเด็กและพาลูกมาที่ทำงานได้สำคัญกว่า ส่วนสุดท้ายของผลสำรวจถามถึง "เทคโนโลยีกับการเลี้ยงลูก" 2 อันดับแรกที่ผู้ตอบแบบสอบถามในทุกกลุ่มเลือกที่จะสอนลูกคือ ต้องให้ลูกใช้เทคโนโลยีเมื่อถึงวัยที่เหมาะสมและใช้ในช่วงเวลาที่กำหนด ในขณะเดียวกับก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ไม่ใช้เทคโนโลยีมากจนเกินไปให้ลูกเห็น "ประเด็นเรื่องวันลาสำหรับผู้ชายเพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงลูกหลังคลอดเป็นสิ่งที่พูดถึงกันมานาน กฎหมายปัจจุบันให้สิทธิ์เฉพาะข้าราชการชายสามารถลาดูแลภรรยาคหลังลอดบุตรได้ 15 วัน แต่ในส่วนของพนักงานองค์เอกชนยังไม่มีกฎหมายรองรับตรงนี้ จากผลสำรวจพบว่า ผู้หญิง 88% เห็นด้วยกับการให้ผู้ชายสามารถมีวันลามาช่วยเลี้ยงลูก โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่มีลูกแล้วเห็นด้วยถึง 97% ในขณะที่เสียงส่วนใหญ่จากฝ่ายชายเอง 85% เห็นความสำคัญและอยากได้รับสิทธิ์การลางานไปช่วยเลี้ยงลูกเช่นกัน" นายจุลเดช กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ