กทม.เสริมสร้างศักยภาพชุมชนสู้ภัยไข้เลือดออก

ข่าวกีฬา Thursday May 24, 2001 09:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (23 พ.ค.44) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง นพ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการอบรม “โครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคไข้เลือดออก” โดยมี นพ.ปิยเมธิ ยอดเณร รองปลัดกรุงเทพมหานคร นพ.กฤษณ์ หิรัญรัศ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย , นพ.ชาญชัย คุ้มพงษ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมโรค สำนักอนามัย พร้อมด้วย ผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วย ฝ่ายพัฒนาชุมชนและผู้นำชุมชนทั้ง 50 เขต, หัวหน้าศูนย์บริการสาธารณสุข 61 ศูนย์ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง รวม 950 คน ร่วมในพิธี
นพ.ปิยเมธิ กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกของทั้งประเทศและกรุงเทพมหานครในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จำนวนนับแสนรายและมีผู้ป่วยตายจำนวนมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร เป็นจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด และตลอดทั้งปี 2543 มีผู้ป่วย 5,241 ราย เสียชีวิต 6 คน แต่สำหรับปี 2544 ตั้งแต่เดือน ม.ค. — พ.ค.44 มีผู้ป่วยถึง 4,339 ราย เสียชีวิต 6 คน ซึ่งจะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ป่วยในช่วงเดียวกัน โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่ออันตรายที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค หากผู้ป่วยได้รับการรักษาไม่ทันเวลาจะเสียชีวิตได้ โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยไม่ให้ยุงลายกัด วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ ต้องทำลายแหล่งเพาะพันธุ์และกำจัดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนทุกครัวเรือนร่วมดำเนินการ รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดโครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชน ในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคไข้เลือดออกครั้งนี้ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาของชุมชน ซึ่งสำนักอนามัยได้ดำเนินการจัดอบรมผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในวันนี้ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความสามารถสำรวจและควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก
นพ.ประพันธ์ กล่าวถึงนโยบายของกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับการควบคุมโรคไข้เลือดออกว่า กรุงเทพมหานครมุ่งเน้นที่จะลดความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรคนี้โดยเร็วที่สุด โดยมีเป้าหมายในการป้องกันและควบคุมโรคทุกท้องที่ ทุกชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย บ้านเรือนที่อยู่อาศัย โรงเรียน วัด สถานที่ทำงาน และสถานบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกระดับ ทั้งนี้มาตรการหลักในการควบคุมโรคนี้ คือ การควบคุมลูกน้ำยุงลายมากกว่าควบคุมยุงตัวแก่ โดยเห็นว่าทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร มีบทบาทสำคัญในการควบคุมโรคไข้เลือดออก เพราะการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายจะทำให้การควบคุมโรคนี้ประสบผลสำเร็จ รวมทั้งประชาชนควรมีส่วนร่วมในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่องในระยะยาว อันจะยังผลให้อันตรายจากโรคไข้เลือดออกทุเลาลง--จบ--
-นห-

แท็ก ญี่ปุ่น  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ