สมาพันธ์ผู้ผลิตทองคำแห่งโลกชี้จัดโปรโมชั่นแจกทองหนุนยอดบริโภคทองคำในประเทศพุ่งพรวด

ข่าวทั่วไป Friday March 2, 2001 13:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--เอ็มดีเค คอนซัลแทนส์ (ประเทศไทย)
สมาพันธ์ผู้ผลิตทองคำแห่งโลก (World Gold Council) ทำการสำรวจปริมาณการใช้ทองคำในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายพบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปริมาณการใช้ทองคำเพื่อกิจกรรมทางการตลาดมากที่สุดในทวีปเอเชีย โดยผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ใช้ทองคำมาตรฐานหนักถึง 80,024 บาท มูลค่ารวมกว่า 436,130,800 ล้านบาท มอบเป็นของรางวัลในการจัดโปรโมชั่นตลอดปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ผู้ผลิตต่างๆ หันมาใช้ทองคำมาตรฐาน 96.5% และทองคำแท่งเป็นรางวัลในการจัดโปรโมชั่นต่างๆในปี 2544 นี้ เพราะไม่ต้องจ่ายค่ากำเหน็ดและภาษีมูลค่าเพิ่ม
สืบเนื่องจากที่ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและยานยนต์หันมาใช้กลยุทธ์การโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าของตนโดยการเป็นผู้สนับสนุนของรางวัลในรายการโทรทัศน์ต่างๆ รวมทั้งจัดรายการส่งเสริมการขายรูปแบบต่างๆ นั้น พบว่าของรางวัลที่เป็นที่นิยมมอบกันอย่างมาก ได้แก่ ทองคำในรูปแบบต่างๆ เช่น สร้อยคอทองคำ จี้ทองคำ และทองคำแท่ง ส่งผลให้ปริมาณการบริโภคทองคำภายในประเทศประจำปี 2543 สูงถึง 67.5 ตัน เมื่อเปรียบเทียบกับ 48.0 ตันในปี 2542
สมาพันธ์ผู้ผลิตทองคำแห่งโลกได้แบ่งกลุ่มธุรกิจที่ใช้ทองคำเป็นของรางวัลในรายการส่งเสริมการขายออกเป็นหลายกลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มรถยนต์และน้ำมัน กลุ่มอาหารและผลิตภัณฑ์นม กลุ่มเครื่องอุปโภคและเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มสุรา กลุ่มเกมโชว์ กลุ่มห้างสรรพสินค้า และกลุ่มที่ใช้ทองคำเป็นรางวัลสำหรับพนักงานขาย อาทิประกันชีวิตและเว็บไซต์ เป็นต้น จากสถิติพบว่ากลุ่มที่ใช้ทองคำเพื่อใช้ในกิจกรรมส่งเสริมการขายมากที่สุดได้แก่กลุ่มรถยนต์และน้ำมัน ใช้ทองคำ 49,544 บาทหรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 270 ล้านบาท โดยอีซูซุครองตำแหน่งแจกทองมากที่สุดถึง 39,036 บาทหรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 212.75 ล้านบาท อันดับสองได้แก่กลุ่มผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม ใช้ทองคำเป็นของรางวัล 14,956 บาท มูลค่า 82 ล้านบาท นมดัชมิลล์ครองแชมป์แจกทองของกลุ่ม โดยแจกทองคำจำนวน 5,000 บาท มูลค่า 27 ล้านบาท อันดับสามได้แก่กลุ่มเครื่องอุปโภคบริโภคและเครื่องใช้ ไฟฟ้า มีอัตราการใช้ทองคำจำนวน 9,996 บาท มูลค่า 54 ล้านบาท กางเกงในชายรอสโซ่มีอัตราใช้ทอง คำสูงสุดในกลุ่ม โดยแจกทองคำจำนวน 3,900 บาท มูลค่า 21.25 ล้านบาท อันดับสี่ได้แก่รายการเกมพิศวงที่แจกทองคำเป็นของรางวัลจำนวน 2,000 บาท มูลค่า 11 ล้าน อันดับห้าได้แก่กลุ่มสุราที่มีอัตราการใช้ทองคำจำนวน 1,400 บาท คิดเป็นมูลค่า 7.6 ล้านบาท โดยสุรายี่ห้อมาสเตอร์เบรนด์ ครองจ้าวการใช้ทองคำเป็นของรางวัล โดยแจกทองไปทั้งสิ้นจำนวน 400 บาท มูลค่า 2.2 ล้านบาท และอันดับสุดท้ายได้แก่กลุ่มบริษัทที่ใช้ทองคำเพื่อเป็นรางวัลสำหรับพนักงานขาย มีอัตราการใช้ทองคำจำนวน 2,128 บาท มูลค่า 11.6 ล้านบาท ทั้งนี้อัตราการใช้ทองคำของบริษัทผู้ผลิตสินค้าตลอด ปี 2543 คิดเป็นทองคำจำนวน 80,024 บาท หรือ 1.219878 ตัน มูลค่ารวมทั้งสิ้น 436,130,800 ล้านบาท
นายแดน ศรมณี ผู้จัดการประจำประเทศไทย สมาพันธ์ผู้ผลิตทองคำแห่งโลก กล่าวว่า “การ ที่บริษัทผลิตสินค้าต่างๆหันมาให้ความนิยมใช้ทองคำมอบของรางวัลแทนการมอบทรัพย์สิน ประเภทอื่นนั้นเนื่องจาก ทองคำเป็นวัตถุที่มีคุณค่าและราคาในตัวเอง และเป็นทรัพย์สินที่มีการ เสื่อมราคาน้อยมากเมื่อเทียบกับทรัพย์สินประเภทอื่น เช่น บ้านและรถยนต์ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินได้ในอัตราค่อนข้างสูง ดังนั้น การเลือกแจกทองคำที่ได้มาตรฐาน96.5% จึงเป็นการมอบทรัพย์สินที่ทรงคุณค่าและราคา อันจะนำมาซึ่งความพึงพอใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่าง ผู้ให้และผู้รับ”
“นอกจากทองรูปพรรณมาตรฐาน 96.5% ที่ผู้ผลิตนิยมใช้แล้ว ทองคำแท่งจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคต่าง ๆ เพราะทองประเภทนี้ไม่ต้องเสียค่ากำเหน็จและภาษีมูลค่าเพิ่ม จากข้อดีเหล่านี้จะส่งผลให้ตลาดทองคำในประเทศไทยเติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน” นายแดน กล่าวเสริม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
บริษัท เอ็มดีเค คอนซัลแทนส์ (ประเทศไทย) จำกัด
บราลี อินทรรัตน์
อารยา ศรีศิลป์โสภณ
โทร. 658-6111-20--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ