กระทรวงเกษตรฯ โดย กรมหม่อนไหม เปิดการประชุมวิชาการหม่อนไหมโลก ครั้งที่ 24 เวทีพัฒนางานวิชาการหม่อนไหมระดับนานาชาติ

ข่าวทั่วไป Monday August 15, 2016 19:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมวิชาการหม่อนไหมโลก ครั้งที่ 24 (The 24th international Sericulture : ISC) เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ภายใต้แนวคิด "ไหมรักษ์โลกและการพัฒนาอย่างยั่งยืน" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 - 14 สิงหาคม 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ว่า การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่า และผูกพันกับวิถีชีวิตของเกษตรกรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความผูกพันกับผ้าไหมมาเป็นเวลานานนับพันปี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการปลูกหม่อนไหมมาอย่างยาวนาน ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้า มีรายได้มั่นคง เกิดความภาคภูมิใจในอาชีพและความเป็นไทย ลดการเคลื่อนย้ายอพยพของแรงงานจากชนบทสู่สังคมเมือง ทั้งยังก่อให้เกิดความผูกพันและส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น สอดคล้องกับแนวคิดในการประชุมครั้งนี้ คือ "ไหมรักษ์โลกและการพัฒนาอย่างยั่งยืน" นอกจากนี้ ในปี 2555 รัฐบาลและปวงชนชาวไทย ได้ถวายพระราชสมัญญา "พระมารดาแห่งไหมไทย" แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อประกาศเกียรติคุณในพระมหากรุณาธิคุณ ต่อวงการหม่อนไหมไทย ด้านนายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า การประชุมวิชาการหม่อนไหมโลก ได้มีการจัดการประชุมขึ้นในไทยมาแล้ว 3 ครั้ง ได้แก่ 1. การประชุมวิชาการหม่อนไหมโลก ครั้งที่ 15 ปี 2530 2. การประชุมวิชาการหม่อนไหมโลกครั้งที่ 19 ปี 2545 ซึ่งเป็นครั้งที่ได้มีการทูลเกล้าถวายรางวัล หลุยส์ ปาสเตอร์ แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 3. การประชุมวิชาการหม่อนไหมโลก ครั้งที่ 22 ปี 2554 และครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 รวมทั้งให้นักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องด้านหม่อนไหมทั้งภาครัฐและเอกชน ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิชาการและนักวิจัยนานาชาติ พร้อมสร้างโอกาสและสนับสนุนให้นักวิจัยของไทย ได้แสดงผลงานวิจัยและสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่ประจักษ์ของนานาชาติ และเผยแพร่เอกลักษณ์ศิลปะวัฒนธรรมไทยและไหมไทย สำหรับการประชุม ประกอบด้วย การนำเสนอผลงานทางวิชาการหม่อนไหม ในภาคบรรยายและภาคโปสเตอร์ จำนวน 8 ด้าน ได้แก่ 1) หม่อน 2) ไหมชนิดที่กินใบหม่อนเป็นอาหาร 3) ไหมชนิดที่กินพืชอื่นเป็นอาหาร 4) พันธุศาสตร์หม่อนไหม 5) เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว 6) เศรษฐศาสตร์ 7) การแปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหม และ 8) ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมการค้าและการตลาด นอกจากนี้ ยังมีการทัศนศึกษา ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้แทนจากประเทศสมาชิก และนักวิจัยด้านหม่อนไหม ซึ่งเป็นชาวต่างชาติจาก 12 ประเทศ และนักวิจัยด้านหม่อนไหมของประเทศไทย รวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 300 คน นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการหม่อนไหมระหว่างประเทศ ยังได้พิจารณามอบรางวัล หลุยส์ ปาสเตอร์ ให้แก่นักวิจัยและบุคคลที่มีผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์ และการตลาด หรือผู้ทำคุณประโยชน์แก่วงการหม่อนไหม ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัล หลุยส์ ปาสเตอร์ ได้แก่ 1. ดร.ซันเจ คูมาร์ ปันดา ประเทศอินเดีย 2. ดร.มาซาฮิโร่ โทมิตะ ประเทศญี่ปุ่น และ 3. นายสุรินทร์ ศุภสวัสดิ์พันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทอุตสาหกรรมไทยไหม จำกัด ประเทศไทย ทั้งนี้ การประชุมวิชาการหม่อนไหมโลก ครั้งที่ 24 ยังได้จัดนิทรรศการ เพื่อให้ผู้สนใจเข้าร่วมชม ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ บริเวณ ฮอลล์ เอ ประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และนิทรรศการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประวัติการประชุมวิชาการหม่อนไหมโลก รางวัลหลุยส์ ปาสเตอร์ งานวิจัยหม่อนไหมจากประเทศสมาชิก ISC ที่เข้าร่วมประชุมในเรื่องเกี่ยวกับหม่อนไหม และเรื่องที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลิตภัณฑ์หม่อนไหมจากงานวิจัย และงานวิจัยหม่อนไหมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ