รมว.พม. มอบเกียรติบัตรและให้โอวาทแก่เด็ก เยาวชน ที่เคยแข่งรถในทางสาธารณะ ที่เข้าร่วมกิจกรรมเสริมพลังบวก สร้างพลังจิตอาสา “มหกรรมเยาวชนจิตอาสา พาแม่ทำดี”

ข่าวทั่วไป Wednesday August 17, 2016 15:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันนี้ (15 ส.ค. 59) เวลา 11.30 น. พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตรและให้โอวาทแก่เด็ก เยาวชน ที่เคยขับรถในทางสาธารณะ จำนวน 72 คน ที่เข้าร่วมกิจกรรม เสริมพลังบวก สร้างพลังจิตอาสา "มหกรรมเยาวชนจิตอาสา พาแม่ทำดี" ซึ่งจัดขึ้น เพื่อป้องกันและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับเด็กและเยาวชน ณ ห้องประชุม ชั้น 2 กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า ปัจจุบัน เด็กและเยาวชนมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาทางด้านสุขภาพกายและจิตใจโดยสาเหตุสำคัญเกิดจาก ปัญหาภายในครอบครัว การใช้สารเสพติด การสูบบุหรี่ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และการทะเลาะวิวาทรวมทั้งการแข่งรถในทางสาธารณะ ซึ่งเด็กและเยาวชนเป็นช่วงวัยที่มีพลังมาก จึงต้องการแสดงออกเพื่อให้ได้การยอมรับ จากเพื่อนและสังคมอย่างเปิดเผย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน รวมทั้ง คุ้มครองสวัสดิภาพตลอดจนดูแลและแก้ไขปัญหา ที่อาจมีผลกระทบในทางลบต่อเด็กและเยาวชน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชนเป็นอันดับแรก จึงร่วมกับ กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ครอบครัว และชุมชน รวมทั้ง องค์กรภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมเพื่อป้องกันและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับเด็กและเยาวชน ในหัวข้อ เสริมพลังบวกสร้างพลังจิตอาสา "มหกรรมเยาวชนจิตอาสา พาแม่ทำดี" ระหว่างวันที่ 13 – 15 สิงหาคม 2559 ณ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินี จังหวัดสมุทรปราการ และที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดกิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกัน เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก เยาวชน และครอบครัว รวมทั้งได้ตระหนักและเห็นคุณค่าของตนเอง โดยร่วมทำกิจกรรมกับครอบครัวเพื่อให้เกิดความรัก ความผูกพัน มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน เอื้ออาทรต่อกัน และร่วมทำกิจกรรมจิตอาสา โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกิจกรรม จำนวนทั้งสิ้น 200 คน ได้แก่ เด็กและเยาวชน ที่เคยแข่งรถในทางสาธารณะ พร้อมด้วยพ่อ แม่ และผู้ปกครอง รวมทั้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีกิจกรรมที่สำคัญประกอบด้วย การเสวนา "เปิดโลกทัศน์ ปรับเปลี่ยนชีวิต" โดยวิทยากรที่เป็นบุคคลต้นแบบ ได้แก่ ทนายอารักษ์ พรประภา กรรมการบริหาร บริษัท AP HONDA จำกัด นายประดิษฐ์จรัส อสุชีวะ อดีตหัวหน้ากลุ่มมังกรดำ จังหวัดขอนแก่น และนายอังคาร ชัยสุวรรณ ครูอาสาสอนเด็กเร่ร่อนจากสำนักงานเทศบาลนครขอนแก่น พร้อมด้วยศิลปินดารา พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากภาครัฐที่ต้องดูแลและคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กและเยาวชนแล้วเด็ก เยาวชน และครอบครัวทุกคน ต้องรู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเองที่มีต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติด้วย คือ 1) ต้องรู้ว่าตนเองมีความสำคัญต่อสังคม ซึ่งทุกคนต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน จำเป็นต้อง มีความสามารถในการดำรงชีวิตทั้งภายนอกและภายในครอบครัวอย่างเหมาะสม สามารถเข้ากับผู้อื่นได้อย่างสร้างสรรค์ สามารถสื่อสารกันได้ โดยไม่เกิดความขัดแย้ง มีการปฏิสัมพันธ์และสร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ซึ่งจะส่งผลให้เด็กและเยาวชนมองเห็นคุณค่าในตนเอง มีความเชื่อมั่น รับผิดชอบต่อตนเองและสังคม และใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ 2) ความสำคัญต่อการศึกษา ซึ่งผู้เรียนในช่วงวัยรุ่นจะไม่ชอบให้ผู้ใหญ่ออกคำสั่ง ในขณะเดียวกันจะให้ความสำคัญกับเพื่อน ดังนั้น ผู้เรียนต้องกระตุ้นตนเองให้มีส่วนร่วมในการเรียนการสอน เกิดการเรียนรู้แบบคิดวิเคราะห์ได้ด้วยตนเอง แก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง รวมทั้ง ค้นหาแบบอย่าง เจตคติ ทักษะต่างๆ ที่ดีมาเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตประจำวัน 3) หน้าที่สำคัญของพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ครอบครัว และทุกภาคส่วน ในสังคมที่จะเข้ามามีส่วนร่วม ต้องร่วมกันสร้างให้บุตรหลานมองเห็นคุณค่าของตนเอง เกิดการยอมรับในความแตกต่าง เคารพสิทธิของผู้อื่น รู้จักคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผล ตัดสินใจและแก้ปัญหาต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ มุ่งมั่นพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องมีจิตสำนึกในการให้และมีจิตสาธารณะ และ 4) พ่อ แม่ ผู้ปกครอง เด็ก และเยาวชนทุกคน ต้องกลับมามองครอบครัวของตนเองที่เป็นสถาบันทางสังคมที่มีความสำคัญที่สุด โดยสมาชิกในครอบครัวต้องมีเวลาอยู่ร่วมกัน โดยทำกิจกรรมร่วมกัน รับประทานอาหารร่วมกัน พูดคุย ถามทุกข์สุข และร่วมกันป้องกัน แก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ดูแลกันและกันให้มากขึ้นเพื่อเติมเต็มความรัก ความอบอุ่นให้กัน "การดูแลเด็กและเยาวชน ในช่วงวัยที่มีพลังบวกมาก จำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง โดยให้เริ่มตระหนักถึงคุณค่า ของตนเองและครอบครัว สร้างทักษะชีวิตในด้านต่างๆ เพื่อให้มีความพร้อมกล้าเผชิญปัญหาในสังคมอย่างเข้มแข็ง ซึ่งภูมิคุ้มกันเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างครอบครัวที่มั่นคงและเข้มแข็งต่อไปในอนาคตของเด็กและเยาวชนอย่างไรก็ตาม ขอชื่นชมหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการบูรณาการการทำงานร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะพ่อ แม่ ผู้ปกครอง รวมทั้งเด็กและเยาวชน ที่ได้เข้ากิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งนับว่าเป็น ความร่วมมือที่ดีของทุกภาคส่วน และเป็นการแสดงออกที่สำคัญในการทำความดีอย่างสร้างสรรค์ ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนมุ่งมั่นทำความดีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติตลอดไป" พลตำรวจเอก อดุลย์กล่าวในตอนท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ