สมศ. เปิดโมเดลการประเมิน 4 ประเทศ ยกระดับการประเมินคุณภาพการศึกษาไทยสู่สากล

ข่าวทั่วไป Tuesday September 6, 2016 16:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เปิดโมเดลการประเมินของ 4 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ โดยพบว่ากรอบการดำเนินงานในการประเมินคุณภาพการศึกษาของทั้ง 4 ประเทศ ล้วนมีความแตกต่างตามบริบทของประเทศ ทั้งนี้ สมศ. ยังเผยวาระเร่งด่วนในการทำงานของ สมศ. โดยกำลังดำเนินงานวางแผนรูปแบบวิธีการประเมินคุณภาพการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทประเทศไทยและนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาล โดยคาดว่ารูปแบบวิธีการประเมินของ สมศ. จะสามารถเปิดเผยต่อสาธารณชนได้เร็ว ๆ นี้ สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา สถานศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th ดร.คมศร วงษ์รักษา รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยซึ่งอยู่ในยุคที่มีการปฏิรูปการศึกษาในหลาย ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน การบริหารจัดการของสถานศึกษา รวมทั้งการประเมินคุณภาพการศึกษา ทั้งนี้ ในสถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นโอกาสดีที่ สมศ. ได้ศึกษาแนวทางการประเมินคุณภาพการศึกษาของนานาชาติตามคำแนะนำของท่านนายกรัฐมนตรี โดยล่าสุด สมศ.ได้ดำเนินการศึกษารูปแบบการประเมินคุณภาพการศึกษา จากประเทศชั้นนำด้านการศึกษาของโลก ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ ดังนี้ ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีมาตรฐานด้านการศึกษาในระดับสูง โดยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาอันดับ 2 ของโลก โดยระบบการศึกษาของญี่ปุ่นได้รับต้นแบบมาจากระบบการศึกษาของหลายประเทศ อาทิ ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ซึ่งจากการศึกษาพบว่าระบบการจัดการศึกษาของประเทศญี่ปุ่น แบ่งได้ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 คือ ปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ซึ่งได้กำหนดให้สถานศึกษาทุกแห่งต้องจัดทำรายงานการประเมินตนเองเสนอต่อกระทรวงการศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (Ministry of Education, Culture, Sports, Science and Technology หรือ MEXT) โดยพิจารณาจากเอกสารรายงานของสถานศึกษา และการเข้าตรวจประเมินเพื่อยืนยันผลการประเมินตนเอง ระดับที่ 2 อาชีวศึกษา การจัดการศึกษาอยู่ภายใต้การกำกับของ 2 หน่วยงาน ได้แก่ MEXT และกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ โดยมีการประเมินทั้งในระดับสถาบันและระดับหลักสูตร และระดับที่ 3 คืออุดมศึกษา ได้แก่ วิทยาลัย สถาบัน และมหาวิทยาลัย การศึกษาระดับนี้อยู่ภายใต้การกำกับของ MEXT โดยมีการประเมินทั้งในระดับสถาบันและระดับหลักสูตร อย่างไรก็ตาม การประเมินคุณภาพภายนอกของประเทศญี่ปุ่นด้านการอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษา กำหนดให้สถานศึกษาต้องได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกอย่างน้อย 1 ครั้งในรอบ 7 ปี แต่ถ้าเป็นระดับหลักสูตรวิชาชีพจะได้รับการประเมินอย่างน้อย 1 ครั้งในรอบ 5 ปี หากสถานศึกษาไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาจจะต้องเฝ้าติดตามโดยรับการประเมินบ่อยครั้งขึ้น รวมถึงช่วงเวลาของการรับรองมาตรฐานจะสั้นลง ประเทศสิงคโปร์ มีคุณภาพการศึกษาอยู่อันดับที่ 3 ของโลก และอันดับที่ 1 ในอาเซียน โดยรัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการศึกษามาก โดยถือว่าประชาชนเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ การเรียนการสอนในสิงคโปร์จะเน้นความสะดวก เรียนจากความเป็นจริง และสิ่งที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ 4 ด้าน คือ เทคโนโลยี คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษา โดยระบบจัดการศึกษาของสิงคโปร์แบ่งออกได้ 3 ระดับ คือ 1. ขั้นการศึกษาปฐมวัย มีระบบรับรองมาตรฐานเรียกว่า Singapore Pre-School Accreditation Framework (SPARK) ที่อยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งระบบนี้สะท้อนให้เห็นถึงหลักสูตร วิธีการสอน สุขภาพ ความสะอาดและความปลอดภัย ซึ่งการประกันคุณภาพการศึกษาและการรับรองมาตรฐานเพียง 3 ปีเท่านั้น 2. ขั้นพื้นฐาน (ประถมศึกษา-มัธยมศึกษา) โดยใช้ระบบที่เรียกว่า School Excellence Model (SEM) หรือต้นแบบการประเมินความเป็นเลิศของโรงเรียนในด้านการบริหารและการจัดการเรียนการสอนแบบองค์รวม ที่นำแบบอย่างมาจากประเทศอังกฤษ ประกอบด้วยการประเมินตนเองและการประเมินคุณภาพภายนอกด้วยคณะผู้ตรวจสอบจากกระทรวงศึกษาธิการเข้าไปตรวจสอบโรงเรียนที่คัดเลือกมา ซึ่งระบบ SEM มีเกณฑ์การประเมิน 9 ข้อ เช่น ความเป็นผู้นำ การวางแผนกลยุทธ์ ความสามารถ และคุณธรรมของเจ้าหน้าที่ เป็นต้น ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวจะสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้นำของผู้บริหารว่าจัดการบริหารอย่างไรให้สามารถได้ผลผลิตตามแผนที่วางไว้ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร 3. ขั้นอนุปริญญาและสายอาชีพ ใช้ระบบ EduTrust เป็นระบบการรับรองมาตรฐานแบบสมัครใจ ที่ให้การรับรองมาตรฐานโดยสภาการศึกษา ซึ่งเป็นภาคเอกชน มีการประเมินด้านการบริหารจัดการ และการให้บริการแก่นักศึกษา อย่างไรก็ตาม สถาบันการศึกษาภาคเอกชนต้องผ่านการรับรองก่อนจึงจะเปิดการเรียนการสอน เพราะเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการรับสมัครนักศึกษาต่างชาติ ให้นักศึกษาได้รับใบรับรองคุณสมบัติที่ถูกต้องก่อนที่จะเข้ามาเรียนในสิงคโปร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา นับเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ใหญ่และมีระบบการศึกษาที่หลากหลายแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับแต่ละรัฐ แต่สหรัฐอเมริกาก็ยังมีระบบการจัดการศึกษาที่ดีเพื่อให้การศึกษาของทั้งประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเห็นได้จากคุณภาพการศึกษาของสหรัฐอเมริกาปัจจุบันอยู่ในลำดับที่ 14 ของโลก ซึ่งขั้นตอนการประเมินและรูปแบบการประกันคุณภาพการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา แบ่งออกเป็น 2 ช่วงระดับคือ 1 การศึกษาขั้นพื้นฐาน การบริหารโรงเรียนของรัฐจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการเรียนการสอนภายใต้การดูแลของรัฐบาลแต่ละมลรัฐ ซึ่งจะเรียกว่า "Common Core Standards" มาตรฐานดังกล่าวระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาทุกรายวิชาที่นักเรียนควรได้รับ ในส่วนของโรงเรียนเอกชน จะทำการประเมินคุณภาพจากองค์กรภายนอกซึ่งเป็นองค์กรกลางระดับประเทศ เช่น National Council for Private School Accreditation (NCPSA) โดยการประเมินนี้แบ่งได้ 2 ประเภท คือการประเมินผลระยะยาว และการประเมินหลัก ซึ่งจะเน้นดูจากผลสัมฤทธิ์การศึกษาในวิชาคณิตศาสตร์ และการอ่าน ของนักเรียนระดับชั้นประถมปีที่ 4 มัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งทำการประเมินทุกๆ 4 ปี สำหรับระดับที่ 2 คือ อุดมศึกษา การประเมินผลจะพิจารนาจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักศึกษาเป็นหลักอาทิเช่น ผลการทดสอ ของนักศึกษา การวัดพัฒนาการความรู้และความถนัดทั่วไป และสมรรถนะเมื่อออกไปทำงานนอกสถานศึกษา จะประเมินโดยหน่วยงานหรือองค์กรกลางอิสระที่ได้รับรองจากรัฐบาลกลาง ขั้นตอนการประเมินของสหรัฐอเมริกานั้นจะมีรูปแบบที่หลากหลาย และเป็นการประเมินตามบริบทของสถานศึกษา การประเมินจะประกอบด้วยรายงานการประเมินตนเอง (Self-Study) การลงพื้นที่ (Site visit) จะประเมินถึงจุดแข็ง จุดอ่อนและศักยภาพในการปรับปรุงพัฒนาของสถาบันการศึกษานั้นๆ ประเทศนิวซีแลนด์ เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาก่อน จึงได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมและระบบการศึกษาแบบอังกฤษมาใช้จนถึงปัจจุบัน ทำให้นิวซีแลนด์เป็นประเทศหนึ่งที่มีการศึกษาที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก โดยติดอันดับที่ 16 ของโลก ซึ่งระบบการประกันคุณภาพการศึกษาสามารถแบ่งได้ 2 ระดับ คือ 1. การศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน สำนักงานประเมินคุณภาพการศึกษา Education Review Office (ERO) เป็นหน่วยงานของรัฐที่ประเมินและรายงานมาตรฐานการศึกษาของนักเรียนในโรงเรียนปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา จะตรวจสอบศูนย์พัฒนาเด็กและโรงเรียนเป็นประจำทุก ๆ 3 ปี หากพบว่าการดำเนินงานสถานศึกษายังต้องปรับปรุงและมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของเด็ก ก็จะเข้าไปประเมินถี่ขึ้น 2. ระดับอุดมศึกษา สำนักงานรับรองคุณวุฒิทางการศึกษาของนิวซีแลนด์New Zealand Qualifications Authority (NZQA) เป็นหน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานและคุณลักษณะของผู้จบการศึกษาทุกระดับ และเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินตนเองในการรักษาและปรับปรุงคุณภาพ ประเมินผลลัพธ์ที่ผู้เรียนจะได้รับ ซึ่งเครื่องมือการประเมินตนเองเน้นการระบุและการตอบสนองตามความต้องการของผู้เรียน ประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกระบวนการและแนวปฏิบัติของสถานศึกษา ที่ประเมินตนเอง จากการศึกษารูปแบบการประเมินคุณภาพการศึกษาจากประเทศชั้นนำของโลกดังกล่าว มีความแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมและบริบทของประเทศ ดังนั้น แต่ประเด็นหนึ่งที่ทุกประเทศเหมือนกัน คือ ระบบประกันคุณภาพภายในที่เข้มแข็ง ในส่วนของประเทศไทย ปัจจุบัน สมศ. กำลังดำเนินงานวางแผนรูปแบบวิธีการประเมินคุณภาพการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทประเทศไทย และให้ตอบสนองนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาล เพื่อให้ได้รูปแบบการประเมินคุณภาพใหม่ที่จะสามารถเป็นกรอบการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาที่มีมาตรฐานการศึกษาอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด รวมถึงยังสามารถเป็นเครื่องมือในการสะท้อนสภาพการศึกษาของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง ซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าวจะสามารถเป็นตัวกำหนดทิศทางและนโยบายการพัฒนาการศึกษาของประเทศได้ ทั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้คาดว่าประเทศไทยจะได้รูปแบบวิธีการประเมินที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าเหมาะสมกับบริบทประเทศไทยมากที่สุดตั้งแต่ที่เคยมีมา ดร.คมศร กล่าวทิ้งท้าย สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่www.onesqa.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ