ส่องนกในป่าสน..สงขลา

ข่าวทั่วไป Wednesday September 7, 2016 11:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล มูลนิธิสยามกัมมาจล ความอุดมสมบูรณ์ของป่าสนเมื่อปี 2556 ในพื้นที่แหลมสนอ่อน ซึ่งเป็นแหลมที่เกิดจากโครงสร้างธรรมชาติที่งอกต่อจากแผ่นดินใหญ่ อยู่ใจกลางเมือง จ.สงขลา ปัจจุบันบริเวณนี้ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของป่าสนชายหาดที่มีความหลากหลายของพันธุ์พืช เช่น ผักบุ้งทะเล ปอทะเล หูกวางทะเล หญ้าลอยลม และสัตว์ท้องถิ่นที่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น นกกระปูด นกอีลุ้ม เหยี่ยวแดง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดของความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เพราะเหยี่ยวแดงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่แทบจะไม่มีให้เห็นในธรรมชาติ ความงดงามในป่าสนทำให้เยาวชน กลุ่มกอดสน ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วย นายนันทภพ ชูเสน นายภูวดล เวชชาชีวี นายประพันธ์ จันจม นายวชิรวิทย์ มณีศรี และนายจิรพันธ์ ปานด้วง มองว่าป่าสนบริเวณแหลมสนอ่อน เป็นทั้งแหล่งพักผ่อน หย่อนใจ พื้นที่สีเขียวของที่นี่มีคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมเปรียบเสมือนปอดของชุมชนที่สร้างอากาศบริสุทธิ์ให้กับชาวเมืองสงขลา แต่ปัจจุบันกลับถูกละเลยเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะบริเวณทางเข้าที่มีขยะถูกทิ้งประปราย ไม่ได้รับการเหลียวแล รวมทั้งการเข้ามาใช้พื้นที่ของนักเรียนนักศึกษาที่เข้ามาจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงเข้ามาทิ้งขยะ หรือล่าสัตว์บางชนิด กลุ่มกอดสนจึงเกิดแนวคิดทำโครงการ"ศึกษาระบบนิเวศป่าสนชายหาดเมืองสงขลา" เพื่อเชื่อมโยงกับโครงการ Beach for Life ภาคีเครือข่ายเยาวชน ซึ่งติดตามอนุรักษ์สภาพชายหาดสมิหลาทั้งระบบ เพราะระบบนิเวศหาดทรายและป่าสนชายหาดมีความเชื่อมโยงกัน และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการคุ้มครอง ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติที่มีให้คงอยู่ โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ดำเนินการโดยสงขลาฟอรั่ม สนับสนุนโดย มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) นันทภพ สมาชิกกลุ่มกลอดสน เปิดเผยว่า อาณาเขตที่กลุ่มกอดสนทำการศึกษามีจำนวน 350 ไร่ ในอดีตมีหน่วยงานต่างๆ จุดประกายให้คนสงขลาเข้ามาดูแลรักษาพื้นที่ป่าสน ต่อมากระแสอนุรักษ์ในพื้นที่ดังกล่าวลดลง บริเวณนี้จึงทรุดโทรมลงตามกาลเวลา ทางกลุ่มเห็นความสำคัญของระบบนิเวศในป่าสน จึงเกิดโครงการนี้ขึ้น ภายใต้ฐานทุนของชุมชนที่มีอยู่และนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือพัฒนาสิ่งดีๆ ในบ้านเกิด ผ่านการจัดกิจกรรมในรูปแบบการคิดวิเคราะห์ปัญหาร่วมกับคนในพื้นที่ "ส่องนก ส่องป่าสนกลางเมืองสงขลา"จึงเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่โครงการ"ศึกษาระบบนิเวศป่าสนชายหาดเมืองสงขลา" จัดขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้ร่วมกันระหว่างชุมชน นักวิชาการ และเยาวชนในพื้นที่เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ในระบบนิเวศของป่าสน รวมทั้งเป็นการสำรวจแบบเจาะลึกบริเวณโดยรอบป่าสนตลอดแนวไปจนถึงบริเวณชายหาด แล้วนำข้อมูลที่ได้มาศึกษาเพิ่มเติมร่วมกันกับนักวิชาการไม่ว่าจะเป็น นกหายาก แมลง พืชชายหาด หรือความเสื่อมโทรมของพื้นที่เพื่อนำไปเป็นแนวทางแก้ไขต่อไป ส่วนภูวดล กล่าวว่า กิจกรรมนี้นอกจากได้รับความรู้เรื่องนกหรือพันธุ์ไม้ต่างๆในระบบนิเวศแล้ว การพูดคุยหารือถึงในวงสนทนาประเด็น "เราจะใช้ประโยชน์ป่าสนชายหาดอย่างไรให้ยั่งยืน" เป็นการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงถึงที่มาของปัญหาและการอนุรักษ์พื้นที่ในอนาคต โดยข้อมูลดังกล่าวที่ถูกเสนอแนะจากนักวิชาการและชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียง ทางกลุ่มจะนำมาเป็นแนวทางจัดเวทีสัมนาสาธารณะเพื่อสร้างความรับรู้ของชุมชนในลำดับถัดไป เช่นเดียวกับประพันธ์ ระบุว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะน้องๆเยาวชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม ซึ่งเป็นการปลูกฝังให้น้องๆ หวงแหนพื้นที่ป่าสน ขณะเดียวกันหากมีการจัดกิจกรรมครั้งต่อไป ทางกลุ่มจะสอดแทรกกิจกรรม Workshop ที่หลากหลายรูปแบบเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ และทำให้ผู้ร่วมงานมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากขึ้น ด้าน Mr.Jonathan Moore Mres Conservation Biology Researcher Conservation Biology Current study focusing on Clouded Leopard in peninsula Malaysia นักวิจัยด้านชีววิทยาชาวต่างชาติหนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมสะท้อนถึงมุมมองว่า แม้กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมเล็กๆ แต่มีความสำคัญต่อชุมชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะนี่คือการสร้างคุณค่าในพื้นที่ด้วยการให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของที่ต้องดูแลปกป้องป่าสนแห่งนี้ และเป็นการบอกเล่าเรื่องราวแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติให้คนทั่วไปเห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าสนกลางเมืองสงขลาด้วย ทั้งนี้ บทสรุปวงเสวนาได้ร่วมกันเสนอแนะแนวคิดที่น่าสนใจ โดยพบว่า หากต้องการให้ป่าสนมีความสมดุล ต้องสร้างความเข้าใจต่อคนในพื้นที่เป็นหลัก เพื่อดึงศักยภาพและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเข้ามาคุ้มครอง ฟื้นฟู ทรัพยากรที่มีให้คงอยู่ ประสานกับแรงหนุนเสริมจากนักวิชาการในการให้ข้อมูลความรู้ในเรื่องต่างๆ อาทิ การจัดการระบบนิเวศ การป้องกันพื้นที่ป่า กลไกทางกฎหมาย การกำหนดระยะถอยร่นในป่าสนตลอดจนแนวชายหาด แล้วนำมาทบทวนและหาแนวทางแก้ไข นอกจากนี้การเชื่อมต่อแนวคิดจากโครงการของเยาวชนและแนวร่วมอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนทั้งระบบจะทำให้เกิดความมั่นคงในพื้นที่ในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าสนให้เกิดความยั่งยืนมากที่สุด โดยหลายคนระบุว่าอนาคตอาจจะมีการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม วงเสวนายังย้ำว่า โครงการดังกล่าวหากต้องการความยั่งยืนในระยะยาว โจทย์สำคัญที่สุดคือการทำให้"ท้องถิ่น"เห็น"ความสำคัญ"ของพื้นที่ และมีความรู้สึกในการเป็นเจ้าของ การทำให้ชุมชนเห็นคุณค่าของทรัพยากร และตื่นตัวที่จะเข้าร่วมกิจกรรมหรือแก้ปัญหาร่วมกัน สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่ป่าสนใจในอนาคต.
แท็ก ธรรมชาติ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ