ปิดฉากงาน “มหกรรรมงานวิจัยแห่งชาติ ๒๕๕๙ (Thailand Research Expo 2016)”ยิ่งใหญ่ วช.ส่งงานวิจัยสู่ชุมชนครบทุกมิติ

ข่าวบันเทิง Thursday September 8, 2016 08:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--SASI PR CONSULTANT สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศจัดงาน"มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ๒๕๕๙ (Thailand Research Expo 2016)" จัดแสดงผลงานวิจัยจำนวนกว่า ๖๐๐ ผลงาน ใน ๙ ประเด็นกลุ่มเรื่องวิจัย ได้แก่ งานวิจัยเพื่อการผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและอาหาร งานวิจัยเพื่อพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม งานวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับภาคอุตสาหกรรม งานวิจัยเพื่อสร้างธุรกิจ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม งานวิจัยเพื่อสุขภาพ การแพทย์ สังคมผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส งานวิจัยเพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรม ศิลปกรรม การศึกษา งานวิจัยเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการพัฒนาชุมชน งานวิจัยเพื่อความมั่นคงของรัฐและการเสริมสร้างธรรมาภิบาล และงานวิจัยเพื่อรองรับการสร้างความเข้มแข็งของประชาคมอาเซียน นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดงาน "มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ๒๕๕๙ (Thailand Research Expo 2016)" เป็นกิจกรรมสำคัญที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ ๑๑ แล้ว โดยความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ในการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมการวิจัยที่มีคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการ องค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ทั้งในมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม ชุมชน และพาณิชย์ อุตสาหกรรม ภายใต้แนวคิด "วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" สำหรับงานในปีนี้ มีผลงานวิจัยที่ผ่านการคิดค้น ทดลอง และนำออกมาใช้งานได้จริง รวมถึงเป็นผลงานที่รอการนำไปใช้ในภาคส่วนต่างๆอย่างมากมาย ซึ่งตลอดระยะเวลาที่จัดงานได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานเป็นจำนวนมาก อาทิ นวัตกรรมระบบการผลิตและการเพิ่มมูลค่าปลาหนังลูกผสมเพื่อชุมชน ผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลระดับ Platinum Award และ รางวัลถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี โดย ดร.เกรียงศักดิ์ เม่งอำพัน คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยอาจารย์เล่าถึงผลงานว่า คณะนักวิจัยได้ทำการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ปลาลูกผสมระหว่างปลาบึกและปลาสวายมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ จนได้ปลาลูกผสมสายพันธุ์ใหม่โดยให้ชื่อว่า "ปลาบึกสยามแม่โจ้" ในปัจจุบันเป็นรุ่นที่ ๓ จุดเด่นของปลาบึกสยามแม่โจ้ คือ เลี้ยงง่าย โตเร็ว เนื้อแน่น รสชาติดี กว่าปลาบึกและปลาสวาย และได้ทำการพัฒนาวิธีการเลี้ยงให้ได้การรับรองมาตรฐานสัตว์น้ำที่ดี (GPA) ก่อนนำไปส่งเสริมให้กับเกษตรกรเลี้ยงเพื่อสร้างรายได้ โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนโครงการจาก บริษัทเอสแอนด์พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ในการรับซื้อปลาบึกสยามแม่โจ้เพื่อนำไปปรุงอาหารเสิร์ฟให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นนับเป็นความสำเร็จของคณะผู้ทำวิจัยที่ต้องการให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลามีช่องทางการจำหน่ายเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร" นายกำธร ศิลาอ่อน รองผู้จัดการใหญ่ สายการผลิตและซัพพลายเชน บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า "ปลาบึกสยามแม่โจ้" ที่เอส แอนด์ พี รับจากเกษตรกรผู้เลี้ยงซึ่งได้รับการส่งเสริมการเลี้ยงจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นปลาที่มีอายุ 1 เดือน น้ำหนักต่อตัวประมาณ 1 กิโลกรัม จากที่เราได้นำมาทดลองทำอาหารพบว่ามีรสชาติดี เนื้อแน่น และยังเป็นปลาสายพันธุ์ลูกผสมที่คุณค่าทางโภชนาการสูงมาก เหมาะกับผู้ที่รักสุขภาพ เอส แอนด์ พี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารไทย ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการพัฒนาเมนูเป็นเวลากว่า ๑ ปี จนได้ ๓ เมนูเด็ด ได้แก่ ปลาบึกสยามแม่โจ้ผัดฉ่า ปลาสยามแม่โจ้ทอดกระเทียม และต้มยำปลาบึกสยามแม่โจ้ และยังจะมีเมนูอื่นๆ ตามมา ซึ่งลูกค้าร้านอาหาร เอส แอนด์ พี จะได้ลิ้มรส ๓ เมนูเด็ดจากปลาบึกสยามแม่โจ้ ในปลายเดือนตุลาคมนี้แน่นอน ซึ่งมั่นใจว่าจะต้องถูกปาก ถูกใจคนชอบทานปลา และผู้รักสุขภาพอย่างแน่นอน" เพชรบุรี : วิจัยและสร้างสรรค์โดย ศิลปากร เป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่ได้รับรางวัล ระดับ Platinum Award และ รางวัลถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราช ผศ.ดร.อลิศร์ เทียนประเสริฐ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า โครงงานวิจัยนี้เกิดขึ้นจากคณาจารย์จากคณะวิชาต่างๆ ได้ร่วมมือกันถ่ายทอดเทคโนโลยีและบริการวิชาการเพื่อตอบโจทย์ของชุมชนพื้นที่ในการพัฒนาท้องถิ่น โดยการนำ ต้นทุน และ ศักยภาพ ที่มีอยู่มาส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ เพิ่มรายได้ สร้างอาชีพ และ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเพชรบุรีมีอัตลักษณ์ที่สำคัญในการดำรงชีวิตที่สะท้อนให้เห็นได้จากอาหารทั้งคาวหวานที่มีชื่อ วิถีเกษตรที่เป็นแหล่งเพาะปลูก จนทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจจนสามารถพึ่งพาตนเองได้ จึงได้ดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และแปรรูปอาหารจากกล้วยหอมทอง มาแปรรูป อาทิ กล้วยหอมทองอบแห้ง กล้วยหอมทองทอดกรอบปรุงรส แยมกล้วยหอมทอง และอื่นๆอาทิ ไอศกรีมตาลโตนด ไซรัปตาลโตนด เป็นต้น ชุดโคมไฟแอลอีดีกำลังสูงสำหรับแก้ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด เป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่ได้รับรางวัล ระดับ Silver Award ผลงานของนักวิจัย จากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา นำโดย ผศ.ดร.นรรัตน์ วัฒนมงคล กล่าวถึงผลงานวิจัยชุดนี้ว่า ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก พบได้ประมาณ 25-50% ในเด็กทารกแรกคลอด นับเป็นปัญหาสำคัญที่แพทย์จะต้องวินิจฉัยและรักษาในเวลาที่เหมาะสม เพื่อลดอัตราการสูญเสียที่อาจจะเป็นอันตรายแก่ชีวิต หรืออาจทำให้เกิดความผิดปกติ วิธีการรักษาคือการส่องไฟรักษา เราจึงมักเห็นเด็กทารกแรกคลอดอยู่ในตู้อบนั่นเอง แต่ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะมีโอกาสได้รับการรักษาด้วยการส่องไฟอย่างทันท่วงที ถ้าเด็กคนนั้นเกิดในพื้นที่ห่างไกลหรือโรงพยาบาลขนาดเล็ก ที่ไม่มีงบประมาณในการจัดซื้อตู้อบมาให้การรักษาได้ "ตู้อบมาตรฐานที่ใช้ในโรงพยาบาลทั่วไปมีราคาอยู่ที่เครื่องละประมาณ 4-6 แสนบาท ในขณะที่ชุดโคมไฟแอลอีดีฯ นี้ มีต้นทุนในการผลิตประมาณ 1 แสนบาท เท่านั้น สามารถใช้งานร่วมกับตู้อบ (Incubator) ที่มีอยู่เดิม เพื่อเปิดไฟให้การรักษาได้ทันที นอกจากนี้ยังมีขนาดกะทัดรัดและเคลื่อนย้ายพกพาได้อย่างสะดวก จึงทำให้โคมไฟนี้สามารถทำงานได้ในรถยนต์ รถพยาบาลฉุกเฉิน หรือแม้แต่โซล่าร์ เซลล์ ได้ ช่วยลดความเสี่ยงจากอาการแทรกซ้อน และความพิการของทารกแรกเกิดที่เกิดสภาวะตัวเหลืองได้ ทำให้โรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงเครื่องมือชิ้นนี้ได้ ประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อและบำรุงรักษา"และผลงานวิจัยนี้ ได้รับการยืนยันจากสถาบันมาตรวิทยา และภาควิชากุมารเวชศาสตร์ หอผู้ป่วยวิกฤตทารกแรกเกิด โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา ว่าเป็นชุดอุปกรณ์ส่องไฟที่พัฒนาขึ้นผ่าน Clinical trial phase สามารถใช้รักษาอาการภาวะตัวเหลือในทารกแรกเกิดได้จริง และให้ประสิทธิภาพในการรักษาใกล้เคียงกับเครื่องมือราคาสูง นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจาก ๖๐๐ ผลงาน ของงานวิจัยที่มาจัดแสดงภายใน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ๒๕๕๙ ที่ได้เปล่งแสงอวด ออร่า อย่างอลังการตลอดระยะเวลา ๕ วัน ได้ปิดฉากลงอย่างสง่างาม ปีหน้า สำหรับผู้ที่พลาดการเข้าชมงาม โปรดติดตามตอนต่อไป ในปี ๒๕๖๐ เพราะงานดีๆ แบบนี้ จัดเพียงปีละ ๑ ครั้งเท่านั้น หรือจะติดตามชมผลงานย้อนหลังได้ที่เว็ปไซต์ ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) www.nrct.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ