สธ. เล็ง!!ขยายการประชุมทางไกล ระบบวิดีโอ ลงพื้นที่ระดับอำเภอ

ข่าวทั่วไป Thursday September 8, 2016 14:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--โฟร์พีแอดส์ (96) รองปลัด สธ. เผย!ประโยชน์จากการนำเทคโนโลยีการสื่อสารมาประยุกต์ใช้ในระบบบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะการประชุมทางไกลระบบวิดีโอ หรือ Video Conference ที่ให้ทั้งภาพ เสียง และข้อมูลตัวอักษร เหมือนได้เข้าร่วมประชุมกันตามปกติ ช่วยลดภาระการเดินทางของผู้ร่วมประชุม สามารถสั่งการไปยังหน่วยงานในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที ช่วยให้บริการด้านสาธารณสุขรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และทันต่อสถานการณ์ เล็ง! ขยายการประชุมทางไกล วิดีโอ ลงไปในระดับอำเภอ 76 จังหวัดทั่วประเทศเร็วๆนี้ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย โฆษกและรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวหลังเป็นประธานการประชุมทางไกลระบบวิดีโอ (Video conference) "MCH Board Strengthening" ว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ นำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาประยุกต์ใช้ เพื่อขับเคลื่อนพัฒนางานในระบบบริการสาธารณสุขของไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยดำเนินงานใน 3 ประเด็นหลักๆประเด็นแรก คือการนำเทคโนโลยีการสื่อสารมาใช้ในการบริหารจัดการ อย่างเช่นตอนนี้ที่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม คือ การประชุมทางไกล ระบบ วิดีโอ หรือVideo conference เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่อยู่ต่างสถานที่ และห่างไกลกันโดยใช้สื่อทางด้านมัลติมีเดีย ที่ให้ทั้งภาพเคลื่อนไหว ภาพนิ่ง เสียง และข้อมูลตัวอักษร ในการประชุมเวลาเดียวกัน เป็นการสื่อสาร 2 ทาง จึงทำให้ดูเหมือนว่าได้เข้าประชุมร่วมกันเหมือนปกติ การดำเนินการในรูปแบบนี้ให้ประโยชน์ในการช่วยลดภาระการเดินทางของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้เป็นอย่างดี ทำให้ไม่ต้องเดินทางมาประชุมยังหน่วยงานส่วนกลาง และสามารถสั่งการไปยังหน่วยงานในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที ช่วยให้บุคลากรเหล่านี้มีเวลามากขึ้นในการให้บริการประชาชนในพื้นที่ ซึ่งแนวโน้มต่อไปจะพัฒนาขยายระบบการประชุมทางไกล วิดีโอ ลงไปพื้นที่ในระดับอำเภอ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ตามโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่จะมีการพัฒนาภายในไม่กี่ปีข้างหน้า ประเด็นที่สองเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะขับเคลื่อนต่อไปคือการพัฒนาด้านอุปกรณ์ เครือข่าย ความสามารถในการเขียนโปรแกรมต่างๆ เพื่อนำมาผนวกรวมเป็นรูปแบบการให้บริการผ่านอุปกรณ์ที่หลากหลาย เช่น การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ในทีมหมอครอบครัว ใช้เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลในการจัดบริการประชาชนให้เกิดความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้นรวมทั้ง เรื่องการนัดหมาย การให้คำปรึกษาทางไกล การดูแลฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ หรือติดตามสถานะการส่งต่อผู้ป่วยในรถพยาบาลเป็นต้น และประเด็นที่สาม คือการต่อยอดระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศต่างๆให้สามารถเข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการที่จะพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจหรือไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นปัจจัยเอื้อกลไกด้านเศรษฐกิจในเชิงบริการสุขภาพเพิ่มมากขึ้น นพ.สุวรรณชัยกล่าวต่อว่าการนำเทคโนโลยี สารสนเทศมาใช้ในงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขจะมีศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ ซึ่งเดิมนั้นจะเน้นทำงานด้านเทคนิคเกี่ยวกับซอฟแวร์ ฮาร์ดแวร์ต่างๆ แต่ปัจจุบันได้ผนวกเรื่องของข้อมูล หรือ Health Information Technology ทำให้การขับเคลื่อนในด้านนี้เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เป็นเพียงส่วนสนับสนุนกลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ในการผลักดันให้องค์กรเดินไปในทิศทางที่สอดคล้องกับภาพรวมของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการแพร่หลายของโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน เช่น Facebook, Line, Instagram ฯลฯ ที่เข้ามามีบทบาทช่วยให้การสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น งานด้านสาธารณสุขจึงต้องมีการปรับตัวให้ทันและรู้เท่าทันกับข่าวสารต่างๆ ที่แพร่หลายในโลกโซเชียล และยังสามารถดึงส่วนที่เป็นสาระสำคัญมาใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันก็ต้องนำเทคโนโลยีมาสื่อสารปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับการรับรู้ ทั้งภาคประชาชนและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือที่เรียกว่า ประชารัฐ เพื่อให้เกิดการยกระดับด้านการดูแลสุขภาพไปพร้อม ๆ กัน บรรลุผลลัพธ์สุดท้าย คือ ประชาชนทุกคน "รู้เท่าทันสุขภาวะ" มีสุขภาพดีและมีความพึงพอใจในบริการด้านสุขภาพ ด้านผศ.(พิเศษ) นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกล่าวว่าเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology : ICT) จะช่วยเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพของการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ช่วยให้ประเทศมีโอกาสในการพัฒนาทางการแพทย์และสาธารณสุขให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน เช่น เพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข เพิ่มคุณภาพการให้บริการดูแลผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยลดความเสี่ยง ลดความ แออัด ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและการให้คำปรึกษาทางไกล ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจะช่วยให้แพทย์สามารถเห็นการแสดงสีหน้าหรือท่าทางของผู้ป่วยได้ ช่วยส่งข้อมูลที่เป็นเอกสารหรือภาพเพื่อประกอบการพิจารณาของแพทย์ได้ ช่วยให้ระบบทางการแพทย์และสาธารณสุขมีข้อมูลที่ถูกต้อง สามารถวิเคราะห์ ประเมินผล วินิจฉัยอาการป่วยได้ดียิ่งขึ้น และยังนำมาใช้ประโยชน์ในการให้บริการประชาชนได้ตรงจุด มีประสิทธิภาพและทันเวลา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ