เอยูโพล (AU Poll) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ ดัชนีความเครียดของคนไทย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไป ในเขตกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองใหญ่

ข่าวทั่วไป Monday September 12, 2016 09:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง "ดัชนีความเครียดของคนไทย" กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่ จำนวนทั้งสิ้น 2,000 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม - 31 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ผลสำรวจพบว่า ตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ 56.38 เป็นหญิง และร้อยละ 43.62 เป็นชาย เมื่อจำแนกออกเป็น เจเนอเรชั่น พบว่า ร้อยละ 29.02 เป็นเจเนอเรชั่น X (ตัวอย่างที่มีอายุ 36-50 ปี) ร้อยละ 25.20 เป็นเจเนอเรชั่น B (ตัวอย่างที่มีอายุ 51-69 ปี) ร้อยละ 21.64 เป็นเจเนอเรชั่น Y (ตัวอย่างที่มีอายุ 25-36 ปี) ร้อยละ 15.71 เป็นเจเนอเรชั่น M (ตัวอย่างที่มีอายุ 19-24 ปี) และร้อยละ 8.43 เป็นเจเนอเรชั่น Z (ตัวอย่างที่มีอายุ 15-18 ปี) สถานภาพสมรส พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 48.58 สมรสแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 43.60 โสด และร้อยละ 7.82 เป็นหม้าย/หย่า/แยกกันอยู่ การศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุด พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.08 ระบุต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 37.66 ระบุปริญญาตรี และร้อยละ 6.26 ระบุสูงกว่าปริญญาตรี ผลสำรวจโดยภาพรวม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างมีความเครียดน้อย ซึ่งมีคะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.28 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดมากที่สุดคือ ด้านเศรษฐกิจ/การเงิน (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.85 คะแนน) โดยเฉพาะในเรื่องราคาสินค้าแพง ปัญหาหนี้สิน/รายรับไม่พอกับรายจ่าย และค่าครองชีพสูง ตามลำดับ รองลงมาคือปัจจัย ด้านการทำงาน (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.81 คะแนน) โดยเฉพาะเรื่องปริมาณงานที่ทำ/ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ สวัสดิการ/ค่าตอบแทน และความมั่นคงในงานที่ทำ ซึ่งอีกด้านที่มีคะแนนความเครียดเท่ากันคือ ด้านการเรียน (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.81 คะแนน) โดยเฉพาะเรื่องผลการเรียน อาชีพในอนาคต/อนาคตในการทำงาน เนื้อหาการเรียน และ ด้านสิ่งแวดล้อม (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.59 คะแนน) โดยเฉพาะเรื่องปัญหาการจราจร/รถติด ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพยสิน และสภาพแวดล้อม เช่น ขยะ เสียงดัง และน้ำเสีย เป็นต้น เมื่อพิจารณาจำแนกตามพื้นที่ พบว่า ตัวอย่างที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร มีความเครียดมากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด คือมีคะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.32 คะแนน โดยเครียดเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมากที่สุด รองลงมาคือเรื่องการทำงาน และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาการจราจร/รถติด ในขณะที่ตัวอย่างที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด มีระดับความเครียดน้อยกว่า คือมีคะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.24 คะแนน โดยเครียดในเรื่องการเรียนมากที่สุด รองลงมาคือ การงาน และเครียดเรื่องเศรษฐกิจ/การเงิน ตามลำดับ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบความเครียดแต่ละเรื่องในแต่ละเจเนอเรชั่น (Generation) พบว่า Gen Z (อายุ 15-18 ปี) มีความเครียดเรื่องการเรียน และเพื่อนมากที่สุด (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 3.06 และ 2.23 คะแนน ตามลำดับ) Gen M (อายุ 19-24 ปี) มีความเครียดเรื่องการงาน ความรัก และเรื่องตัวเองมากที่สุด (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.87, 2.63 และ 2.53 คะแนน ตามลำดับ) Gen Y (อายุ 25-35 ปี) มีความเครียดเรื่องการงาน สิ่งแวดล้อม เช่นสภาพอากาศ การจราจร และการเมืองมากที่สุด (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.87, 2.65 และ 2.54 คะแนน ตามลำดับ) Gen X (อายุ 36-50 ปี) มีความเครียดเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมากที่สุด (คะแนนความเครียดเฉลี่ย เท่ากับ 2.94 คะแนน) Gen B (อายุ 51-69 ปี) มีความเครียดเรื่องสุขภาพ ครอบครัว การเมืองและความเครียดที่เกิดจากตัวเองเช่น ไม่สามารถทำได้อย่างที่ตัวเองคาดหวัง หรือรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า มากที่สุด (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.71, 2.55, 2.54 และ 2.53 คะแนน ตามลำดับ) อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงแม้ว่าคะแนนความเครียดโดยภาพรวมของประชาชนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างอยู่ในระดับน้อย แต่เมื่อสอบถามถึงความรู้สึกเชิงลบในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมาพบว่า ตัวอย่างเกือบร้อยละ 70 ระบุ รู้สึกเบื่อหน่ายเป็นครั้งคราวถึงบ่อยๆ กว่าร้อยละ 60 ระบุรู้สึกไม่มีความสุขเลยเป็นครั้งคราว ถึงบ่อยๆ ร้อยละ 49.67 ระบุรู้สึกหมดกำลังใจเป็นครั้งคราวถึงบ่อยๆ ร้อยละ 45.18 ระบุรู้สึกไม่อยากพบปะผู้คนเป็นครั้งคราวถึงบ่อยๆ และตัวอย่างร้อยละ 30.42 ระบุรู้สึกตนเองไม่มีคุณค่าเป็นครั้งคราว ถึงบ่อยๆ ตามลำดับ ซึ่งสามารถสะท้อนความเครียดของตัวอย่างได้ในระดับหนึ่ง เมื่อสอบถามถึงวิธีการปฏิบัติตนเมื่อรู้สึกเครียดใน 3 เรื่องแรก พบว่า 1) เครียดเรื่องเศรษฐกิจ/การเงิน พบว่า ตัวอย่างครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50.00 ใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ประหยัด ลดค่าใช้จ่าย ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายแต่สิ่งที่จำเป็น รองลงมาคือทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดและทำงานหารายได้เพิ่มเพื่อแก้ปัญหาความเครียดที่เกิดขึ้น 2) เครียดเรื่องการงาน พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่คือร้อยละ 23.11 ระบุทำใจยอมรับ อดทน ร้อยละ 18.37 ตั้งใจทำงานและทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 8.33 มองหาอาชีพเสริมหรือหารายได้เพิ่มและหากิจกรรมที่ทำแล้วมีความสุข เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เที่ยว 3) เครียดเรื่องการเรียน พบว่า ตัวอย่างเกือบครึ่งหรือร้อยละ 48.11 แก้ปัญหาโดยใส่ใจการเรียนให้มาก ตั้งใจเรียน อ่านหนังสือ ทบทวนบทเรียน และพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่เรียน ร้อยละ 15.09 บริหาร/วางแผนการเรียนให้เป็นระบบ และร้อยละ 13.68 ทำกิจกรรมที่ทำให้คลายเครียดเช่น เล่นเกม ดูหนัง ฟังเพลง เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ