นักปลูกสร้างสวนป่า 'คนธรรมดา...ที่รักธรรมชาติ’

ข่าวทั่วไป Wednesday September 14, 2016 12:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--มทร.ธัญบุรี "ธรรมชาติ ก็คือธรรมะ ใครเข้าถึงและได้สัมผัสก็มีความสุข" นี่เป็นประโยคบอกเล่าที่ออกมาจากหัวใจของนักปลูกสร้างสวนป่า ที่คลุกคลีกับเรื่องราวธรรมชาติมายาวนานกว่า 20 ปี ซึ่งมากด้วยประสบการณ์ องค์ความรู้ แนวคิดเพื่อการอนุรักษ์ป่า วิเชียร สัตตธารา นักปลูกสร้างสวนป่าและเกษตรกรด้านปศุสัตว์ วัย 59 ปี เล่าว่า ตนเป็นเด็กชนบท เกิดที่ตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ได้รู้ได้เห็นและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มายาวนานจากการเป็นคนในพื้นที่ รวมถึงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จึงทำให้มีความรู้ทางด้านเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้มากมาย "ปริมาณป่าไม้ของประเทศไทยลดลงไปเยอะ ผู้คนในพื้นที่เห็นประโยชน์ร่วมกันจากการปลูกป่าค่อนข้างน้อย อีกทั้งอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางกฎหมาย พ.ร.บ.สวนป่า ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าการลักลอบตัดไม้ยังเป็นปัญหาสำคัญและยังคงเกิดขึ้นอยู่ แต่ก็น้อยกว่าปีก่อน ๆ คำถามสำคัญคือเราจะเพิ่มพื้นที่สวนป่าได้อย่างไร เราก็ต้องชี้ให้เห็นถึงประโยชน์เพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่ปลูกป่ามองเห็นภาพได้ชัดเจน ก่อให้เกิดการสร้างอาชีพสร้างรายได้ และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น" วิเชียร กล่าว ผมมักจะสอนเสมอว่า "เราช่วยกันปลูกป่าในวันนี้ ถือว่าเราซื้อเวลาคืนความสมบูรณ์ของป่า ให้ลูกหลานเราได้เร็วขึ้น ถ้ารอไว้ให้พวกเขาปลูกกันเองในเวลานั้น มันอาจจะสายเกินไป" ผมได้ปลูกสร้างสวนป่าในที่ดินกรรมสิทธิ์จำนวน 28 ไร่ ตั้งปี พ.ศ.2537 จากนั้นได้ปลูกเพิ่มในพื้นที่อีก 34 ไร่ จนกระทั่งปี พ.ศ.2545 ปลูกเพิ่มอีก 50 ไร่ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเกินคาดหมาย สามารถเป็นแหล่งความรู้ด้านทรัพยากรป่าไม้ที่หลายหน่วยงานให้การยอมรับ ใช้เป็นสถานที่ศึกษาดูงานด้านวิชาการในเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ และเป็นการกระจายความรู้สู่ภาคประชาชน จากการศึกษาค้นคว้าและทดลองปลูกป่า ก่อให้เกิดองค์ความรู้สำคัญมากมาย ทำให้รู้และเข้าใจการปลูก การบำรุงรักษาต้นไม้แต่ละชนิด รวมถึงการปลูกเปรียบเทียบต่าง ๆ ต้นไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีใน ตำบลเมืองลีง จังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ สะเดา สัก ยางนา สำโรงและแดง แต่เนื่องจากการปลูกป่าต้องใช้ระยะเวลานานในการที่จะได้ใช้ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจจากที่ดินที่ดำเนินการ ดังนั้นในช่วงแรกจะต้องปลูกพืชล้มลุก ซึ่งได้ผลผลิตเร็วแซมไปในสวนป่าด้วย เช่น กล้วย ถั่วลิลงและพืชสมุนไพรต่าง ๆ ในลักษณะวนเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้ในช่วงแรก บทบาทอีกด้านหนึ่งที่สำคัญและโดดเด่นไม่แพ้การปลูกสวนป่า นั่นคือการสร้างเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชี ซึ่งได้มีโอกาสเข้าร่วมในการเป็นแกนนำเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งครอบคลุมสายน้ำหลัก 4 สาย ทั้งแม่น้ำชี แม่น้ำมูล ลุ่มน้ำห้วยทับลันและลุ่มน้ำห้วยระวี โดยรับผิดชอบในส่วนลุ่มน้ำชีตอนปลาย ซึ่งเป็นพื้นที่ของตนเองตามถิ่นฐานบ้านเกิด จากปัญหาที่พบต้นไม้ใกล้บริเวณนั้นถูกตัดโค่นเพื่อมาทำอุปกรณ์ดักจับสัตว์น้ำ พื้นที่บางแห่งถูกทำลายจนเกิดการพังทลายของตลิ่งริมน้ำ บ้างก็ใช้ยาเบื่อหรือไฟฟ้าซ๊อตปลา จัดว่าเป็นการทำมาหากินแบบทำลายล้างของธรรมชาติ จึงเข้าไปแก้ปัญหาโดยสร้างความรู้ความเข้าใจและให้บุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม สร้างกฎกติการ่วมกัน และจัดเวทีประชาคมขึ้นทั้งในระดับหมู่บ้านและระดับตำบล ซึ่งได้รับผลเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง แม้จะใช้เวลาพอสมควร ถือว่าคุ้มค่าเพราะทำให้ทรัพยากรป่าไม้ริมน้ำฟื้นคืนความสมบูรณ์ได้อย่างรวดเร็ว ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เกิดเป็นเครือข่ายดูแลสายน้ำ นอกจากนี้ยังช่วยขับเคลื่อนการเมืองภาคพลเมืองเพื่ออนุรักษ์พิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในเขตตำบลเมืองลีง ระดมความร่วมมือ ความคิดเห็นและปลูกจิตสำนึกคนในชุมชนให้มีความเป็นเจ้าของ เฝ้าระวังการลักลอบทำลายป่า และเมื่อต้องติดต่อ ประสานงานเพื่อขอความร่วมมือ อันจะนำมาซึ่งเครือข่ายดังที่ปรากฏ ต้องรู้จักวิธีการประสานงานอย่างถูกต้องและถูกคน ความร่วมมือจะไม่เกิดขึ้น หากเราเป็นปฏิปักษ์กับพวกเขา เราจะต้องทำงานในลักษณะที่ช่วยเสริมซึ่งกันและกัน รวมถึงตัวเราเองจะต้องทำเป็นตัวอย่าง เป็นต้นแบบเพื่อเกิดความศรัทธาเชื่อถือ แล้วเขาจึงจะยึดถือตามเรา ถ้าเราไม่ทำเลย แต่ไปบอกคนอื่นให้ทำ ลักษณะนี้จะไม่เกิดประโยชน์ เหนื่อย และเสียเวลาไปเปล่า ๆ หากมองลึกไปกว่านั้น ปัญหาและอุปสรรคการทำงานในด้านนี้ก็ยอมรับว่ามีอยู่ จากกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ที่พยายามขัดขวาง บิดเบือนข้อมูล และพยายามหาแนวร่วมเพื่อไม่ให้เกิดการความร่วมมือหรือเวทีประชาคมขึ้น แต่ด้วยความเข้มแข็งของการเมืองภาคพลเมืองที่ร่วมกันกำหนดกฎกติกา การรักษาปกป้องและใช้ประโยชน์จากป่า จึงสามารถผ่านปัญหานี้ไปได้ และสามารถเป็นต้นแบบด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้กับจังหวัดอื่น ๆ "ไม่ว่าโลกใบนี้จะพัฒนา หรือก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทิศทางใดก็ตาม เชื่อว่าทุกคนจะโหยหาความสุข ซึ่งความสุขที่ไม่ต้องลงทุนอะไร แค่เดินออกไปในพื้นที่สีเขียว ไปรู้จักและโอบกอดธรรมชาติของป่าไม้ คุณจะพบกับความสุขแบบธรรมชาติ ที่คนธรรมดาแบบเรา ๆ ต้องการ"วิเชียร กล่าวทิ้งท้าย นักปลูกสร้างสวนป่าผู้นี้ ยังมีโครงการต่าง ๆ ในด้านทรัพยากรธรรมชาติอีกมากมาย รวมถึงยังมีเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็ง พร้อมที่จะปกป้องรักษาป่าไม้ของประเทศไทยต่อไป และจะเข้ารับรางวัลราชมงคลสรรเสริญ ในฐานะผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในวันที่15 กันยายน 2559 เนื่องในวันราชมงคล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ