สจล.ชี้แจงแบบร่าง วิมานพระอินทร์ มาจากเจดีย์ทรง"จอมแห"และพญานาคและยินดีถอนแบบร่างจากแผนที่ 11เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ

ข่าวทั่วไป Monday September 19, 2016 17:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya for All) ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่ชุมชน ภูมิทัศนวัฒนธรรม ส่งเสริมคุณภาพเชื่อมต่อให้เข้าถึงต่อเนื่องด้วยทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเชื่อมโยงนันทนาการ พื้นที่สีเขียว และระบบขนส่งสาธารณะ โดยกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เป็นที่ปรึกษาการสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทระยะทาง 57 กิโลเมตร และออกแบบรายละเอียดสำหรับระยะนำร่อง 14 กิโลเมตร ภายใต้แนวความคิดเจ้าพระยาเพื่อทุกคน นั้น ได้ดำเนินงานจัดทำ 12 แผนรองรับโครงการระยะนำร่อง โดยได้จัดประชุมรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชน ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 59 สจล.แจงตลอด 7 เดือน มีคำอ้างหลายเรื่องที่คลาดเคลื่อนข้อเท็จจริง รวมทั้งล่าสุดที่อ้างว่าแบบร่างพิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร หรือ วิมานพระอินทร์ มีการลอกแบบจากผู้อื่นนั้นไม่จริง แต่หากเกิดความไม่สบายใจ สจล.ยินดีถอนแบบร่างภาพประกอบจุดหมายตานี้ออกจากแผนที่ 11 คงเหลือแต่เนื้อหาของ จุดหมายตาริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในระยะดำเนินการระยะที่ 2 โดยกำหนดส่งมอบงาน 12 แผน แก่กทม.ในวันที่ 26 กย.59ขอความเห็นใจและร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ส่วนรวม รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำ (Chao Phraya for All) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ดำเนินงานผลิตบุคลากรจากคณะสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมศาสตร์ จำนวนหลายหมื่นคนออกมารับใช้ประเทศ เราพัฒนาคน พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยผลงานทั้งในด้านวิชาการและปฏิบัติ ตลอดจนเป็นที่พึ่งของสังคม สถาบันฯ ให้ความสำคัญต่อการเคารพและรักษาจรรยาบรรณของวิชาชีพ การที่เราได้รับความไว้วางใจจากกรุงเทพมหานคร ให้เป็นผู้ดำเนินโครงการเจ้าพระยาเพื่อทุกคนก็ด้วยเพราะความพร้อมในทุกด้านของเรา สถาบันให้ความสำคัญต่อการรับฟังความคิดเห็นที่ไร้อคติและเป็นความคิดเห็นที่อยู่บนหลักการของเหตุผลและเคารพซึ่งกันและกัน เราเป็นองค์กรการศึกษาที่ไม่แสวงหากำไร และคำนึงถึงการสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมและประเทศชาติ โครงการนี้จึงดำเนินมาด้วยความโปร่งใสงบประมาณของโครงการ 120 ล้าน ส่วนหนึ่งก็กลับมาพัฒนา มหาวิทยาลัยให้กับลูกหลานของเรา ขอให้ทกฝ่ายก้าวข้ามประโยชน์ส่วนตนหันมาร่วมมือกันทำโครงการครั้งประวัติศาสตร์เพื่อประโยชน์ของทุกคน ที่จะฟื้นฟูดูแลแม่น้ำพัฒนาภูมิทัศน์วัฒนธรรม คุณภาพชีวิต และการเชื่อมต่อเข้าถึงแม่น้ำของประชาชนทุกระดับอย่างเท่าเทียมกัน สัญญาจ้าง 120 ล้านบาท : มี 6 แผนในเฟส 1 ตาม TOR, ส่วนอีก 6 แผน เสนอเพิ่มเป็นเฟส 2 ในงบตามสัญญาจ้างจำนวนเงิน 120 ล้านบาท มอบหมาย สจล.และ มข.เป็นที่ปรึกษาสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บท นั้น มีข้อเข้าใจผิดว่ามีเพียงการออกแบบจุดหมายตาพิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร หรือ วิมานพระอินทร์ เท่านั้น ในข้อเท็จจริง สจล. มุ่งมั่นการพัฒนาในแนว อนุรักษ์ – สืบสาน– สร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง โดยมี 12 แผน แบ่งเป็น 2 ระยะ (แผนที่ 1-6 อยู่ในระยะดำเนินงานเฟสที่ 1ใน TOR ,แผน 7-12 อยู่ในระยะดำเนินงานในอนาคต เฟสที่ 2) ตามภาพดังนี้ ชี้แจงที่มาภาพร่างวิมานพระอินทร์ เมื่อเร็วๆนี้มีเพจหนึ่งได้แพร่ข่าวอ้างว่าร่างแบบพิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร หรือ อาคารวิมานพระอินทร์ ได้ลอกแบบ โดยครั้งแรกอ้างว่าลอกแบบจากบริษัท ฉมา ซึ่งมีนายยศพล บุญสม เป็นกรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งกลุ่ม Friends Of River และอีกไม่กี่วันถัดมาได้เปลี่ยนมาเป็นคำอ้างว่าลอกแบบโครงการ The Crystal Island ในรัสเซียซึ่งออกแบบโดยนอร์แมน ฟอสเตอร์ สถาปนิกชาวอังกฤษในปี 2007 ซึ่งหยุดการสร้างใน ปี 2009 นอกจากนี้ก่อนหน้ายังมีสถานีรถไฟนาโกย่า ในญี่ปุ่น สร้างในปี 2001 จึงมีข้อกังขาว่าแต่ละแบบ ก็คล้ายคลึงกันตามลำดับเวลา สำหรับเรื่องนี้ สจล. ยินดีเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย แบบร่างจุดหมายตาริมแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ในแผนที่ 11 เฟสที่ 2 "วิมานพระอินทร์" ไม่ได้ลอกแบบผู้ใด แนวความคิด มีที่มาจากสถาปัตยกรรมเครื่องยอด เจดีย์ทรง "จอมแห" ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยมาทุกยุคสมัยมาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการออกแบบ ขนาดสัดส่วนฐาน 1 ส่วนและความสูง 2.5 ส่วน ส่วนของผนังภายนอกอาคารได้แรงบันดาลใจจากเกล็ดของพญานาคและลายไทย นั้น เป็นเพียงทำภาพเป็นตัวอย่างประกอบแผน โดยเป็นรูปภาพสามมิติทำขึ้นเพื่อให้เกิดจินตภาพและความเข้าใจแผนได้ง่ายขึ้น มิได้เป็นการออกแบบรายละเอียดเพื่อการก่อสร้างแต่อย่างใด และเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย ก็จะถอนแบบออกจากรายงานที่จะนำส่งแก่ กทม. เนื่องจากแบบร่างพิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร เป็นเพียงแนวคิดและอยู่ในการดำเนินงานระยะที่ 2 ทาง สจล. จึงเสนอเพียงแผนงานพิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานครเท่านั้น ทั้งนี้ในอนาคตการพัฒนาพิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร อยู่ในการพิจารณาของ กทม. ในการกำหนดแนวทางและรายละเอียดการออกแบบต่อไป สจล.มีกำหนดส่งมอบงานแก่กรุงเทพมหานครทั้งหมด ในวันที่ 26 กันยายน 2559

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ