รองนายกฯ สมคิด นำทีมจีบกลุ่มทุนยุโรป เล็งโมเดลเยอรมนีขับเคลื่อน “เอสเอ็มอี 4.0” พร้อมถกสภานายจ้างฝรั่งเศส

ข่าวทั่วไป Tuesday September 20, 2016 13:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี บีโอไอเผย รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลไทย เดินทางไปชักจูงการลงทุนที่ประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนี โดยจะพบปะหารือกับบริษัทชั้นนำของทั้งสองประเทศ รวมทั้งเยี่ยมชมศูนย์วิจัยเยอรมนี เพื่อยกระดับเอสเอ็มอีไทย ไปสู่ "เอสเอ็มอี 4.0" และพบหารือกับสภานายจ้างฝรั่งเศส ซึ่งมีนโยบายสนับสนุนให้ เอสเอ็มอีฝรั่งเศสไปลงทุนในต่างประเทศ นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ระหว่าง วันที่ 4-8 ตุลาคม 2559 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วย ว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะนำคณะรัฐบาลไทยเดินทางไปชักจูงการลงทุนที่ประเทศฝรั่งเศส และประเทศเยอรมนี โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การพบปะหารือกับบริษัทชั้นนำของทั้งสองประเทศ เพื่อชักชวนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และการหาแนวทางทางยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เพื่อผลักดันไปสู่นโยบาย "เอสเอ็มอี 4.0" สำหรับการพบปะหารือบริษัทชั้นนำของทั้งสองประเทศ จะเป็นการหารือรายบริษัท ซึ่งอยู่ในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพราะทุกรายต่างมีแผนที่จะขยายการลงทุนในเอเชีย และอาเซียน เพื่อเป็นฐานการผลิตป้อนสินค้าในตลาดเอเชีย แต่ทุกรายยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกประเทศที่จะเข้าไปลงทุน รัฐบาลจึงเล็งเห็นความสำคัญและเดินทางไปพูดคุย นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและคณะ จะเข้าเยี่ยมชมและหารือกับผู้บริหารของศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยเทคนิคดาร์มสตัด ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าศูนย์วิจัยของรัฐบาลเยอรมันจัดตั้งทั่วประเทศเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย เอสเอ็มอี 4.0 ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเยอรมัน ซึ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในกระบวนการผลิตและการทำงาน ซึ่งรัฐบาลไทยจะได้นำมาเป็นแนวทางในการส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยไปสู่ "เอสเอ็มอี 4.0" นางหิรัญญากล่าวด้วยว่า รองนายกรัฐมนตรีและคณะจะเข้าพบปะหารือกับสภานายจ้างฝรั่งเศส ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส มีสมาชิกกว่า 750,000 บริษัท และกว่าร้อยละ90 เป็นบริษัท เอสเอ็มอี ซึ่งสภานายจ้างฝรั่งเศสก็มีนโยบายและมีหน่วยงานพิเศษที่ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนสมาชิกไปลงทุนในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีในการสร้างความร่วมมือกับรัฐบาล และเชิญชวนให้สนับสนุนบริษัทเอสเอ็มอีฝรั่งเศสให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2556 – 2558) พบว่า โครงการลงทุนจากประเทศเยอรมนียื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 86 โครงการ เงินลงทุนรวม 16,490 ล้านบาท ส่วนโครงการลงทุนจากประเทศฝรั่งเศสที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 50 โครงการ เงินลงทุนรวม 1,390 ล้านบาท ส่วนในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม – กรกฎาคม 2559) พบว่า โครงการลงทุนจากประเทศเยอรมนียื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 15 โครงการ เงินลงทุนรวม 1,400 ล้านบาท ส่วนโครงการลงทุนจากประเทศฝรั่งเศสที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 12 โครงการ เงินลงทุนรวม 64 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ