ม.นเรศวรวิจัยใช้เงินเกือบ 98,000 ล้านบาท สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ข่าวทั่วไป Tuesday September 19, 2000 11:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--ม.นเรศวร
นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวรวิจัยการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่า ต้องใช้มาตรการเชิงบังคับจึงจะสำเร็จ ใช้แหล่งเงินจากภาครัฐและเอกชนร่วมกันในสัดส่วน 75 ต่อ 25 ขณะนี้มีหลายแนวทางในการเข้าสู่การประกันสุขภาพถ้วนหน้า คาดใช้เงินเกือบ 98,000 ล้านบาท
ศ.ดร.สุจินต์ จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) เปิดเผยถึงผลการวิจัย เรื่อง “ความเป็นไปได้และทางเลือกของระบบการคลัง เพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย” ว่า กระบวนการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะต้องใช้ทางเลือกแบบบังคับโดยอาศัยการตรากฎหมาย ขึ้นเป็นการเฉพาะอย่างเช่นประเทศไต้หวัน เกาหลีใต้ เป็นต้น จึงจะมีความเป็นไปได้ ในการผลักดันนโยบาย หรือกระบวนการดังกล่าวไปสู่ความสำเร็จ เพราะหากปล่อยให้เป็นแบบสมัครใจ รัฐคงไม่สามารถทำอะไรได้ หรือได้รับความสนับสนุนร่วมมือเท่าที่ควร เนื่องจากประชาชนทั่วไปยังไม่ให้ความสนใจในสุขภาพของตนว่า เป็นสิ่งจำเป็นและใกล้ตัว ซึ่งต่างจากเรื่องปากท้องหรือปัญหาเศรษฐกิจที่คนมักให้ความสำคัญมากกว่า ทั้งที่ ผลการวิจัยบ่งชี้ว่า การประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีความสำคัญและความเร่งด่วนในระดับสูงมาก และเป็นเรื่อง ของคนไทยทุกคนไม่เฉพาะแต่ผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น ขณะเดียวกันรัฐต้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล เรื่องสุขภาพเป็นหน่วยงานอิสระแต่อยู่ในกำกับของรัฐ เพื่อความคล่องตัวในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ โดยอาจปรับเปลี่ยนหรือขยายบทบาทของสำนักงานประกันสังคม และต้องพัฒนาระบบการจ่ายเงิน ที่เป็นมาตรฐาน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ทั้งนี้ แหล่งที่มาของเงินก็คือ แหล่งเงินจากภาครัฐ และแหล่งเงินจาก ภาคเอกชน ในระบบ 75 ต่อ 25 ซึ่งเป็นทางเลือกและวิธีการที่เหมาะสม
แต่ประเด็นปัญหาก็คือ ประชาชนจะได้รับบริการสาธารณสุขหรือสิทธิประโยชน์จาก การประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างไร มากน้อยเพียงใด จากที่มีทางเลือกอยู่ 2-3 แนวทาง ได้แก่ การได้รับความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน การคุ้มครองการเจ็บป่วยถึงขั้นล้มละลาย การคุ้มครองทั้งขั้นพื้นฐานและการเจ็บป่วยถึงขั้นล้มละลาย ทั้งนี้ จากการศึกษา พบว่า ควรดำเนินการทีละขั้น โดยเริ่มจากขั้นพื้นฐานก่อนแล้วค่อยขยายไปสู่การเจ็บป่วยในขั้นล้มละลาย ขึ้นอยู่กับงบประมาณ หรือแหล่งเงินและถ้าทำได้จึงให้สิทธิประโยชน์ครอบคลุมทั้งขั้นพื้นฐานและขั้นล้มละลายอย่างบูรณาการ ต่อไป โดยคาดว่าจะต้องใช้เงินทั้งสิ้น 97,919 ล้านบาท
ด้าน รศ.น.พ.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย ผู้วิจัยเรื่องนี้ ร่วมกับ รศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ และ น.พ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ กล่าวว่า ผลของการศึกษาวิจัยต้องการชี้ให้เห็นถึงทางเลือกและความ เป็นไปได้ ในการสร้างหลักประกันสุขภาพเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน อย่างไรก็ตาม การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะต้องเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ภาครัฐและประชาชน ดังนั้น จึงต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องของประมาณการค่าใช้จ่าย ด้านสุขภาพในระยะยาว การสร้างฐานข้อมูลประมาณการค่าใช้จ่ายที่มีความเที่ยงตรงมากขึ้น ประมาณการ โดยแบ่งชุดสิทธิประโยชน์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ประมาณการต้นทุนและผลลัพธ์ของการเข้าสู่หลัก ประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะบทบาทของการปกครองท้องถิ่นในการสร้างหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้าตามรัฐธรรมนูญ--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ