กทม.เตือนประชาชนระวังโรคฉี่หนู (เลปโตสไปโรซิส) ในช่วงหน้าฝน

ข่าวทั่วไป Thursday July 19, 2001 10:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--กทม.
สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ขอความร่วมมือประชาชนทุกครัวเรือนป้องกันโรคฉี่หนู (เลปโตสไปโรซิส) ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนและช่วงน้ำท่วม โดยการควบคุมและกำจัดหนูในบ้านเรือน ชุมชน และสถานที่ทำงาน
นพ.กฤษณ์ หิรัญรัศ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม.กล่าวว่า หนูเป็นพาหะนำโรคที่ก่อให้เกิดปัญหา และที่สำคัญเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมที่การสุขาภิบาลไม่ดี หนูจะสามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และยังนำโรคหลายชนิดมาสู่คนได้ สำหรับโรคฉี่หนู (เลปโตสไปโรซิส) เชื้อเลปโตสไปโรซิสจะออกมาทางปัสสาวะของหนูไปปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น ตามแหล่งน้ำ แหล่งน้ำท่วมขัง ตามดินทรายชื้นแฉะ เชื้อชนิดนี้จะเข้าสู่ร่างกายของคนตามรอยแผลทางผิวหนัง เยื่อบุตา ปาก จมูก นอกจากนี้ยังสามารถไชเข้าทางผิวหนังที่เปียกชุ่มจากการแช่น้ำนาน ๆ ได้ ซึ่งเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายประมาณ 10 วัน จะมีอาการ มีใข้ เยื่อบุตาบวมแดง กดเจ็บตามกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่อง บางรายอาจจะมีอาการรุนแรง ตัวเหลือง ตับและไตวาย
ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวต่อไปว่า ในช่วงปลายฤดูฝนต่อฤดูหนาวจะมีโรคนี้เกิดขึ้น จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังป้องกันตนเอง ด้วยการหลีกเลี่ยงการแช่หรือลุยน้ำ โดยเฉพาะถ้ามีแผลบริเวณผิวหนัง ควรใส่รองบู้ท ไม่แช่น้ำนาน ต้องรีบล้างชำระทันที นอกจากนี้ควรดื่มน้ำต้มสุก อาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ด้วยความร้อน และปกปิดอาหารและน้ำกันหนูมาปัสสาวะรด ภายในและนอกบริเวณบ้านจัดเก็บวัสดุสิ่งของให้เป็นระเบียบ กำจัดขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหาร และที่อยู่ของหนู รวมถึงสัตว์อื่น นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีอาการคล้ายโรคเลปโตสไปโรซิสข้างต้นให้รีบไปตรวจรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขที่ใกล้บ้านของท่านได้ทุกแห่ง--จบ--
-นห-

แท็ก น้ำท่วม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ