ทำธุรกิจหลักทรัพย์...ไม่ง่ายอย่างที่คิด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 28, 2016 15:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ต้องมีความพร้อมทั้งด้านเงินทุนและ Know-how โดยมีเงินทุนสำหรับการจัดให้มีระบบงาน บุคลากร รวมทั้งเงินทุนหมุนเวียนให้เพียงพอเพื่อรองรับการทำธุรกรรมต่างๆและการชำระราคา ขณะที่ผู้บริหารจะต้องมีความรู้ความชำนาญในธุรกิจด้วย เงินลงทุนขึ้นอยู่กับ Business Model ซึ่งอาจสูงระดับพันล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการบริการ ความหลากหลายของสินค้าและช่องทางการบริการ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะประกอบไปด้วย ต้นทุนจากเงินลงทุนในสินทรัพย์ถาวรและเงินทุนหมุนเวียน อัตราค่าธรรมเนียมควรอยู่ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับคุณภาพการให้บริการ ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์ให้บริการที่มีคุณภาพได้อย่างสอดคล้องกับต้นทุนของการประกอบธุรกิจ และยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ในปัจจุบันการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์มีความหลากหลายและสามารถจำแนกได้หลายรูปแบบ อาทิเช่น นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน การจัดการกองทุนรวมและการจัดการกองทุนส่วนบุคคล เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์อาจดำเนินธุรกิจทั้งหมดตามที่ได้รับอนุญาตหรือเลือกเพียงบางส่วนก็ได้ ทั้งนี้ ในส่วนของธุรกิจหลัก ซึ่งได้แก่ การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์นั้น เปรียบเสมือนการทำหน้าที่ตัวกลางให้กับลูกค้าในการซื้อขายหลักทรัพย์ ในการให้บริการลูกค้าจะมีกระบวนการตั้งแต่ก่อนทำการทำการซื้อขาย(Pre trade)ที่ต้องมีการทำความรู้จักลูกค้าและการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Know Your Customer/Customer Due Diligence หรือ KYC/CDD) การประเมินความเหมาะสมในการลงทุน(SuitabilityTest) การจัดทำบทวิเคราะห์เพื่อเป็นข้อมูลให้ลูกค้าใช้ประกอบการตัดสินใจ การให้บริการซื้อขายที่มีการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถส่งคำสั่งซื้อขายได้ทั้งผ่านผู้แนะนำการลงทุน และส่งคำสั่งด้วยตนเองผ่านช่องทาง electronic กระบวนการให้บริการหลังการขาย(Post trade)ที่จะต้องดูแลทรัพย์สินของลูกค้าไม่ว่าจะเป็นหลักทรัพย์ที่ลูกค้าลงทุนหรือเงินที่วางเป็นหลักประกันต่างๆ รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้มีช่องทางการชำระราคาการซื้อขายที่หลากหลาย ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ผู้ที่เข้ามาประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ต้องมีทั้งความรู้ความชำนาญ และต้องมีความพร้อมในเรื่องเงินลงทุนในด้านต่างๆเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุนในระบบงาน ประกอบด้วยเงินลงทุนในสินทรัพย์ถาวร อาทิเช่น อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ (ทั้งด้าน Hardware และ Software) สถานที่ทำการและสาขา เครื่องตกแต่งและอุปกรณ์ ค่าใบอนุญาตและค่าสมาชิกหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ เงินสมทบกองทุนประกันความเสียหาย รวมถึง เงินที่เตรียมไว้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียน และอีกส่วนสำหรับเตรียมไว้ให้ลูกค้ากู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (หาก บริษัทมีธุรกิจให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์) ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์สามารถที่จะนำเสนอบริการที่มีคุณภาพแก่ลูกค้าได้อย่างครบถ้วน ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ต้องมีความพร้อมทั้งด้านเงินทุน และ Know-how ในการทำหน้าที่เป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ให้กับลูกค้านั้น ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของลูกค้าโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นหลักทรัพย์ที่ลงทุน ทรัพย์สินที่นำมาวางไว้เป็นหลักประกันสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือการชำระราคา จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จะต้องมีความเข้มแข็งทางด้านเงินทุน โดยจะต้องมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีเงินทุนเพียงพอในการรองรับการประกอบธุรกิจ และมีสภาพคล่องในการดำเนินงาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าและผู้ที่เกี่ยวข้อง และไม่ทำให้เกิดปัญหาต่อระบบการซื้อขายโดยรวม นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จะต้องมีความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินของลูกค้าที่ตนดูแล มีการเก็บรักษาและดูแลทรัพย์สินของลูกค้าอย่างดี โดยในส่วนของบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งหมายถึงบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ถือเป็นสถาบันการเงินซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ซึ่งต้องมีการปฏิบัติตามเกณฑ์ทางด้านฐานะทางการเงินและการดูแลทรัพย์สินของลูกค้าตามที่สำนักงาน ก.ล.ต.กำหนดอย่างเคร่งครัดในประเด็นสำคัญเช่น · การมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง ในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบครบวงจรจะต้องมีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท และเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต.กำหนดตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจซึ่งต้องคำนวณเป็นรายวัน ซี่งเกณฑ์ปัจจุบันกำหนดว่ากรณีประกอบธุรกิจหลักทรัพย์อย่างเดียว บริษัทหลักทรัพย์ต้องดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิเมื่อสิ้นวันทำการไม่น้อยกว่า เกณฑ์ที่ทางการกำหนดและไม่น้อยกว่า 7%ของหนี้สินทั่วไป · การเก็บรักษาและดูแลทรัพย์สินของลูกค้าให้มีความปลอดภัย รวมถึงดูแลให้ลูกค้าได้รับอัตราผลตอบแทนจากทรัพย์สินที่นำมาฝากไว้ตามที่พึงได้รับ อีกทั้งมีการกำหนดระเบียบ/วิธีปฎิบัติในการดูแลทรัพย์สินลูกค้า จัดทำทะเบียนแยกทรัพย์สินของลูกค้าออกจากทรัพย์สินของบริษัท และจัดทำรายงานทรัพย์สินให้ลูกค้าทราบอย่างสม่ำเสมอ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการดูแลทรัพย์สินลูกค้าจะต้องเป็นอิสระจากหน่วยงานด้านการซื้อขายหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จะต้องมีการทำสัญญา/ข้อตกลงเกี่ยวกับการดูแลทรัพย์สินลูกค้าเป็นลายลักษณ์อักษรโดยที่ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดต่อลูกค้าในกรณีที่ทรัพย์สินของลูกค้าสูญหายจากการกระทำ/ละเลยการทำหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ นอกจากนั้นแล้ว บริษัทหลักทรัพย์ที่มีการให้บริการลูกค้ารายย่อยยังเป็นสมาชิกของกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ (Securities Investor Protection Fund: SIPF) เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นใจให้กับลูกค้าว่าจะได้รับความคุ้มครองทรัพย์สินที่มอบไว้ในความดูแลของบริษัทหลักทรัพย์ตามหลักเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนด นอกจากความพร้อมทางด้านเงินทุนแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ยังต้องมีความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ในธุรกิจเพื่อที่จะสามารถให้บริการที่ดีและมีคุณภาพแก่ลูกค้า โดยกรรมการและผู้บริหารควรจะต้องมีความสามารถและมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการธุรกิจในตลาดทุน มีความซื่อสัตย์และมีจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ และที่สำคัญต้องมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยมีการปฏิบัติตามจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ และหลักการของการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามที่กำหนดโดยหน่วยงานกำกับดูแล และสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากในการให้บริการลูกค้าครอบคลุมตั้งแต่การเปิดบัญชีซื้อขายไปจนถึงการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จึงต้องมีความพร้อมในการประกอบธุรกิจทั้งในด้านของระบบงาน ระบบ IT และบุคลากร ดังนี้ · การจัดให้มีระบบงานต่างๆที่เหมาะสม และน่าเชื่อถือ รวมถึงจัดให้มีระบบสำรองเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถดำเนินธุรกิจและให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถให้บริการที่ดีที่สุดแก่ลูกค้าและบุคลากรของบริษัทเองสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ทั้งระบบการรับลูกค้าที่จะต้องมีการทำ KYC/CDD ระบบงานด้านการซื้อขายหลักทรัพย์ การดูแลทรัพย์สินของลูกค้า การวิเคราะห์และให้คำแนะนำการลงทุนซึ่งรวมถึงการรวบรวมบทวิเคราะห์เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าไปสืบค้นได้ การจัดเก็บเอกสาร/ข้อมูลลูกค้า การบริหารความเสี่ยง รวมถึง จัดให้มีระบบการกำกับดูแลการปฏิบัติงาน (compliance) และระบบควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ · การให้ความสำคัญกับเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายหลัก 2 ด้าน ได้แก่ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และบุคลากร ดังนี้ - การพัฒนาระบบ IT ที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูง เป็นสิ่งจำเป็นในการให้บริการลูกค้า อาทิเช่น ระบบด้าน Front Office ที่เกี่ยวกับการส่งคำสั่งซื้อขายเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯที่จะต้องมีความรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ สะดวกต่อการใช้งาน และมีทางเลือกให้ลูกค้าส่งคำสั่งด้วยตนเองผ่านช่องทาง electronic ได้ไปจนถึงการพัฒนา application ต่างๆที่ประกอบไปด้วยเครื่องมือ/ข้อมูลให้กับลูกค้านำไปประกอบการตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ (อาทิเช่น บทวิเคราะห์ การแจ้งเตือนต่างๆเกี่ยวกับหุ้น งบการเงิน สัญญาณการซื้อขายทางเทคนิค) หรือระบบด้าน Back Office สำหรับการรายงานผลตอบแทนจากการลงทุนให้ลูกค้าทราบ การ Clearing and Settlement หรืองานทั่วไป ระบบฐานข้อมูลจาก data provider ต่างๆเพื่อช่วยในการจัดทำข้อมูล/บทวิเคราะห์ข้อมูลให้กับลูกค้าได้อย่างครบถ้วน เป็นต้น -การมีบุคลากรที่มีคุณภาพในจำนวนที่เพียงพอกับการประกอบธุรกิจ เป็นอีกประเด็นที่ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ต้องคำนึงถึง ทั้งในด้านจำนวนบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่แต่ละสายงานควรจะมีจำนวนที่เพียงพอที่จะสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบุคลากรต้องมีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนมีความซื่อสัตย์สุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งที่จะต้องมีการติดต่อหรือให้คำแนะนำกับลูกค้า หรือการ วิเคราะห์การลงทุนซึ่งต้องอาศัยความรู้ความชำนาญเฉพาะทางเป็นอย่างมากและส่งผลให้ค่าตอบแทนอยู่ในระดับที่สูง ได้แก่ นักวิเคราะห์การลงทุนและผู้แนะนำการลงทุน ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติและได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.ก่อนปฏิบัติหน้าที่ และต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณและมาตรฐานทางวิชาชีพที่กำหนด นอกจากนั้นแล้วจะต้องมีการเตรียมบุคลากรเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเพียงพอ และบุคลากรที่ทำหน้าที่บริหารงานภายในของตัวองค์กรเองด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล ราบรื่น เช่น การทำบัญชี การบริหารการเงิน การบริหารความเสี่ยง การบริหารงานทั่วไป และการบริหารบุคคลของบริษัทฯ เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องมีส่วนงานที่ทำหน้าที่ด้านกฎหมายและกำกับดูแลให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามและสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นข้อบังคับ รวมทั้งส่วนงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้อง และความสุจริตของการดำเนินงานภายในของบริษัทฯด้วย เงินลงทุนขึ้นอยู่กับ Business Model ซึ่งอาจสูงระดับพันล้านบาท การที่ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จะสามารถให้บริการผู้ลงทุนได้อย่างมีคุณภาพภายใต้มาตรฐานและสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนดจะต้องมีการลงทุนที่เพียงพอกับรูปแบบการดำเนินงาน โดยข้อมูลจากรายงานการศึกษาต้นทุนการประกอบธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ (2559) ซึ่งสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยมอบหมายให้ศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำขึ้นพบว่า ต้นทุนในการประกอบธุรกิจจะแตกต่างกันไปตาม Business Model ซึ่งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายด้าน อาทิเช่น ลักษณะของบริษัท – เป็นบริษัทเดี่ยว หรือเป็นบริษัทลูกของสถาบันการเงิน รูปแบบการประกอบธุรกิจ – ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเดียว หรือธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทอื่นๆด้วย มีการทำ Proprietary Trading ด้วยหรือไม่ กลุ่มลูกค้า - ให้บริการลูกค้าทั้งรายย่อยและลูกค้าสถาบัน หรือให้บริการเฉพาะลูกค้าสถาบัน ช่องทางการส่งคำสั่งซื้อขาย – เน้นการส่งคำสั่งผ่านผู้แนะนำการลงทุน หรือผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ขนาดของธุรกิจ – มีสาขาในการให้บริการลูกค้าหรือไม่ การให้ลูกค้ากู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ – มีการให้ลูกค้าเปิดบัญชีประเภท credit balance หรือไม่ การจัดให้มีบทวิเคราะห์ – จัดทำบทวิเคราะห์ขึ้นเอง หรือใช้บทวิเคราะห์ร่วมกับบริษัทแม่ ทั้งนี้ ในรายงานการศึกษาฯได้กำหนดสมมติฐานในการประเมินต้นทุนในกรณีบริษัทหลักทรัพย์มีส่วนแบ่งการตลาดในระดับกลาง และให้บริการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์แบบ full service มีรูปแบบบริการซื้อขายทั้งแบบการซื้อขายผ่านผู้แนะนำการลงทุน และผ่านระบบอินเทอร์เน็ต มีสาขาที่นอกเหนือจากสำนักงานใหญ่อีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งให้บริการลูกค้ากู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ได้ โดยในการวิเคราะห์ได้จำแนกที่มาของต้นทุนได้เป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. ต้นทุนที่เกิดจากเงินลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (Capital expenditure) 2. ต้นทุนที่เกิดจากการจัดเตรียมเงินทุนหมุนเวียน (Working capital) และ 3. ต้นทุนที่เกิดจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (Operating expenditure) ข้อสรุปจากผลการศึกษาฯพบว่า เงินลงทุนซึ่งประกอบด้วย ต้นทุน 2 กลุ่มแรก ได้แก่ ต้นทุนจากเงินลงทุนในสินทรัพย์ถาวรและเงินทุนหมุนเวียนรวมกันอาจสูงถึง 1.5 พันล้านบาท โดยคาดการณ์องค์ประกอบของเงินลงทุนเริ่มต้นว่าประกอบด้วย เงินทุนหมุนเวียน(เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด) เงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ เงินลงทุนในเทคโนโลยีสารสนเทศ(ด้าน Software และ Hardware) เงินลงทุนในสถานที่ทำการและสาขา เครื่องตกแต่งและอุปกรณ์สำนักงาน เงินค่าใบอนุญาตต่างๆ(ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ค่าสมาชิกตลาดฯ ค่าสมาชิกสำนักหักบัญชีและค่าสมาชิกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย) และเงินสมทบกองทุนคุ้มครองต่างๆ(กองทุนคุ้มครองผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯและตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า กองทุนทดแทนความเสียหายในระบบชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์) · ต้นทุนจากค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการดำเนินงาน นอกจากเงินลงทุนเริ่มต้นที่จะต้องจัดเตรียมขึ้นแล้ว บริษัท หลักทรัพย์ยังต้องเตรียมเงินไว้สำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ค่าธรรมเนียมและบริการจ่าย ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ IT สถานที่ทำการและอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยข้อมูลล่าสุดจากงบกำไรขาดทุนของบริษัทหลักทรัพย์ในไตรมาส 2/2559 ที่เผยแพร่โดยสำนักงาน ก.ล.ต.พบว่า ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่มาจาก ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน เป็นสัดส่วนมากที่สุดกว่า 50%ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด เนื่องจากลักษณะทางธุรกิจที่จะต้องจัดให้มีบุคลากรสำหรับให้บริการลูกค้าในแต่ละขั้นตอน โดยบุคลากรส่วนใหญ่ของบริษัทหลักทรัพย์เกือบ 70%จะอยู่ในกลุ่ม Front Office ซึ่งเป็นกลุ่มที่ติดต่อกับลูกค้าโดยตรงได้แก่ผู้แนะนำการลงทุน รองลงมาได้แก่ กลุ่ม Middle Office และ Back Office ได้แก่ นักวิเคราะห์การลงทุน พนักงานด้าน Risk Management พนักงานด้าน Back Office พนักงานด้านกฎหมาย และพนักงานด้านกำกับดูแลการปฏิบัติงานของบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายรองลงมาได้แก่ ค่าใช้จ่ายด้าน IT สถานที่และอุปกรณ์ ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายด้านค่าเช่า และค่าบำรุงรักษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศด้วย (Software และ Hardware) คิดเป็นสัดส่วน 14.1%ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ส่วนค่าใช้จ่ายลำดับถัดมา ได้แก่ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ คิดเป็น 13.6%ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด และค่าธรรมเนียมและบริการ (ค่าธรรมเนียมที่ให้กับตลาดหลักทรัพย์ฯและหน่วยงานกำกับดูแล ค่าธรรมเนียมการยืมหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมบริการทางการเงินจากธนาคาร)ซึ่งอยู่ที่ 12%ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตามลำดับ อัตราค่าธรรมเนียมควรอยู่ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับคุณภาพการให้บริการ จากที่กล่าวถึงในข้างต้นจะเห็นได้ว่าการให้บริการธุรกิจหลักทรัพย์ประกอบด้วยต้นทุนหลักที่เกี่ยวข้องหลายด้าน ซึ่งแม้ว่าในทางปฏิบัติแล้วต้นทุนที่บริษัทหลักทรัพย์แต่ละรายต้องจ่ายอาจจะมีความแตกต่างกันไปบ้างตาม Business Model ก็ตาม แต่โดยหลักการแล้ว บริษัทหลักทรัพย์ควรที่จะมีรายได้ในระดับที่เหมาะสมเพื่อให้ครอบคลุมกับต้นทุนเหล่านั้น และเพียงพอที่จะรักษามาตรฐานของการให้บริการที่มีคุณภาพแก่ลูกค้าในด้านต่างๆ อาทิเช่น การจัดให้มีผู้แนะนำการลงทุนและนักวิเคราะห์การลงทุนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ การพัฒนาเครื่องมือ/ application ต่างๆเพื่อช่วยลูกค้าประกอบการตัดสินใจลงทุน การพัฒนาระบบการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ มีผลิตภัณฑ์การลงทุนให้ลูกค้าเลือกได้อย่างหลากหลาย การจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้แก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น ส่งผลให้การกำหนดค่าธรรมเนียมจากการให้บริการต่างๆของแต่ละบริษัทแตกต่างกันไปตามรูปแบบและคุณภาพของการให้บริการด้วย ซึ่งในมุมของลูกค้าเองนั้นก็สามารถที่จะตัดสินใจเลือกใช้บริการของบริษัทหลักทรัพย์ที่มีรูปแบบการให้บริการสอดคล้องกับที่ตนเองต้องการ และชำระค่าธรรมเนียมในอัตราตามที่กำหนด ด้วยเหตุที่ในปัจจุบันรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทหลักทรัพย์ยังคงมาจากค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยคิดเป็นสัดส่วนที่ประมาณ 60% ของรายได้ทั้งหมด แม้ว่าสัดส่วนดังกล่าวจะมีแนวโน้มลดลงตามลำดับจากการที่บริษัทหลักทรัพย์แสวงหารายได้จากช่องทางอื่นๆเพิ่มมากขึ้นก็ตาม (อาทิเช่น รายได้จากค่าธรรมเนียมที่ปรึกษาทางการเงิน การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ รายได้จากพอร์ตการลงทุนของบริษัท) จึงกล่าวได้ว่า การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมนับเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ เพราะจะช่วยให้บริษัทหลักทรัพย์มีรายได้เพียงพอในการที่จะให้บริการที่มีคุณภาพต่อผู้ลงทุนอย่างสอดคล้องกับต้นทุนของการประกอบธุรกิจ โดยไม่เป็นอัตราที่ต่ำจนอาจทำให้ธุรกิจประสบภาวะขาดทุนและนำไปสู่การลดคุณภาพของบริการที่ควรมี และไม่เป็นอัตราที่สูงจนเป็นภาระแก่ผู้ลงทุน อีกทั้ง ยังช่วยเอื้อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในธุรกิจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักทรัพย์และตลาดทุนไทยในภาพรวมต่อไป **เนื้อหาหลายส่วนในบทความฉบับนี้มาจาก โครงการศึกษาต้นทุนการประกอบธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ โดยศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำให้แก่สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ทั้งนี้ สมาคมฯขอขอบคุณ อ.ดร. รัฐชัย ศีลาเจริญ และทีมวิจัยมา ณ โอกาสนี้**

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ