"สถาพร" นายกสมาคมไทย-ญี่ปุ่นคนใหม่ เน้นความสัมพันธ์อันดีช่วยดึงการลงทุน

ข่าวทั่วไป Wednesday May 30, 2001 15:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--บีโอไอ
ไทยและญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีความคล้ายคลึงกันในหลายด้าน กล่าวคือ เป็นประเทศเอกราช มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติและมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมประเพณีที่คล้ายกันอีกด้วย
อาจจะเป็นด้วยสาเหตุดังกล่าว ทำให้ไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมาโดยตลอดนับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา จนปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม หรือวัฒนธรรม
เป็นที่ทราบกันดีว่าชาวญี่ปุ่นเป็นชาติที่มาลงทุนในไทยมากที่สุด และอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่นมาลงทุนได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของไทยมากมายทั้งในแง่การจ้างงาน การส่งออก และการสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่าง ๆ มากมาย
การที่ญี่ปุ่นหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันมีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในประเทศไทยนับหมื่นคน จนกลายชุมชนต่างชาติที่มีความโดดเด่นชุมชนหนึ่งในสังคมไทย
เมื่อปี 2500 ชาวไทยและชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยได้ริเริ่มจัดตั้งสมาคมไทย - ญี่ปุ่นขึ้น และได้จดทะเบียนจัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงปี 2511 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งเสริมมิตรภาพและสัมพันธไมตรีระหว่างชนทั้งสองชาติ ส่งเสริมให้มีความร่วมมือระหว่างกันอย่างใกล้ชิด ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีกิจกรรมเพื่อสังคมต่าง ๆ ที่จะนำประโยชน์มาสู่สังคมส่วนรวมด้วย
ปัจจุบันสมาชิกของสมาคมไทย - ญี่ปุ่น ประกอบด้วยชาวญี่ปุ่นและบริษัทญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยรวมถึงบริษัทไทยที่ร่วมทุนกับญี่ปุ่น จำนวนกว่า 200 คน
"สถาพร" นายกสมาคมไทย - ญี่ปุ่นคนใหม่
การที่ประเทศไทยได้รับความสนใจจากนักลงทุนญี่ปุ่นจำนวนมากดังกล่าว หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการชักจูงให้เกิดการลงทุนก็คือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอนั่นเอง และบุคคลที่มีบทบาทโดดเด่นมากในเรื่องนี้คงไม่พ้นคนที่ชื่อ "สถาพร กวิตานนท์" ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ มานานกว่า 10 ปี
ด้วยภาระหน้าที่ด้านส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ทำให้นายสถาพรทำงานใกล้ชิดกับนักลงทุนจากต่างชาติจำนวนมาก จนเป็นที่ยอมรับของนักลงทุนต่างชาติ ๆ ที่สำคัญเกือบทั่วโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักลงทุนญี่ปุ่นด้วยแล้ว นายสถาพรได้รับความเคารพนับถือและไว้เนื้อเชื่อใจอย่างมาก ยิ่งกว่านั้นยังเคยได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นที่ 2 ของญี่ปุ่น ชื่อ The Order of Rising Sun, Gold and Silver Star เมื่อปี 2543 ในฐานะที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศญี่ปุ่นด้วย ซึ่งเครื่องราชย์ดังกล่าวถือว่าเป็นชั้นสูงสุดที่สามัญชนทั่วไปจะได้รับ และมีผู้ได้รับน้อยรายมาก
นายสถาพร ถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลคนหนึ่ง เป็นผู้มีประสบการณ์และความสามารถในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจการลงทุน การบริหารจัดการ การตลาดและการประชาสัมพันธ์เคยประสบความสำเร็จในการจัดงานใหญ่ ๆ อย่างบีโอไอแฟร์มาถึง 2 ครั้ง จนกลายเป็นแม่แบบของการจัดงานแสดงสินค้าของเมืองไทยก็ว่าได้ นอกจากนั้นยังเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้สร้างชื่อเสียงให้กับสมาคมฯ เป็นอย่างดี จนได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งเป็นเวลายาวนานถึง 12 ปี
ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวของนายสถาพรทำให้เมื่อท่านผู้หญิงนิรมล สุริยสัตย์ นายกสมาคมไทย - ญี่ปุ่น ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากปัญหาทางด้านสุขภาพ ทางสมาคมไทย - ญี่ปุ่น ในการประชุมสามัญประจำปี เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2544 จึงไม่ลังเลใจเลยที่จะเลือกนายสถาพร ให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมไทย - ญี่ปุ่นคนใหม่ โดยเชื่อว่านายสถาพรจะสามารถใช้เวทีนี้สร้างความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุน ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ในอันที่จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศได้อย่างกว้างขวาง
สำหรับผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมไทย - ญี่ปุ่น ในช่วงที่ผ่านมามี 5 คน โดยมี พระยามไหสวรรค์ เป็นนายกสมาคมคนแรก และนายกสมาคนที่ 5 ก่อนหน้านายสถาพรคือ ท่านผู้หญิงนิรมล สุริยสัตย์ ที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2539 จนถึงเดือนเมษายน 2543 ที่ผ่านมา--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ