ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีปรากฏข่าวในสื่อสาธารณะวิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช.

ข่าวทั่วไป Monday October 10, 2016 11:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--สำนักงาน ป.ป.ช. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ชี้แจงว่าตามที่ปรากฏข่าวในสื่อสาธารณะวิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ในทำนองว่า ๑. สำนักงานป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระของไทย ถูกจัดอับดับอยู่อันดับที่ 12 ท้ายสุดในเอเชีย ตามรายงานขององค์กร PERC ทำให้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นจากนานาชาติ ๒. สำนักงาน ป.ป.ช. จ้องดำเนินคดีทุจริตกับฝ่ายพรรคเพื่อไทย แต่ละเลยคดีของพรรคประชาธิปัตย์ ๓. สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ค่าคะแนนคุณธรรมและความโปร่งใส ปี ๒๕๕๙ (ITA) ๗๓.๕๒ คะแนน อยู่ลำดับที่ ๑๐๐ ยังไม่โปร่งใสเท่าที่ควร สำนักงาน ป.ป.ช. ขอชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวข้างต้น ดังนี้ ประเด็นที่ 1 กรณีถูกจัดอับดับอยู่อันดับที่ 12 ท้ายสุดในเอเชีย ตามรายงานขององค์กร PERC ขอเรียนว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเก่าเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๗ ซึ่งจากการจัดอันดับองค์กรอิสระด้านตรวจสอบการทุจริต ของ PERC ไทยอยู่อันดับที่ ๑๒ จาก ๑๖ ประเทศ แต่ต่อมาในเดือนเมษายน ๒๕๕๘ PERC รายงานว่าองค์กรอิสระด้านตรวจสอบการทุจริตของไทยอันดับดีขึ้น โดยอยู่อันดับที่ ๑๐ จาก ๑๖ ประเทศ เรียงตามลำดับดังนี้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฮ่องกง มาเก๊า สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ ไทย จีน ฟิลิปปินส์ กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียตนาม ประกอบกับจากผลสำรวจขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ประเทศไทยได้ค่าคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ปี 2558 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2559 ได้ 38 คะแนน ซึ่งหากพิจารณาข้อมูลจากแหล่งข้อมูล 8 แหล่งข้อมูล ที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ นำไปใช้ประกอบการให้คะแนนและจัดอันดับ พบว่าประเทศไทย ได้คะแนนเพิ่มขึ้นถึง 3 แหล่งข้อมูล ซึ่งหนึ่งในสามแหล่งข้อมูลที่ไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น คือ แหล่งข้อมูล PERC ไทยได้ 42 คะแนน สูงขึ้นจากปีที่แล้ว 7 คะแนน (ปี ๒๕๕๗ ได้ ๓๕ คะแนน) ดังนั้น จากข้อมูลของ PERC ไทยจึงมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ PERC เก็บข้อมูลจากการสำรวจความเห็นของนักธุรกิจในท้องถิ่นและนักธุรกิจชาวต่างชาติที่เข้าไปทำงานหรือประกอบธุรกิจในไทยเกี่ยวกับระดับปัญหาการทุจริตว่ามีภาพลักษณ์อย่างไรเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สำหรับแหล่งข้อมูลที่ไทยได้คะแนนเท่าปีที่ผ่านมา มี ๔ แหล่งข้อมูล และได้คะแนนลดลงมีเพียง ๑ แหล่งข้อมูล นอกจากนี้ เมื่อดูผลการสำรวจความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อสำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจจากประชากร จำนวน 2,400 คน เป็นภาคประชาชน 50.9 % ผู้ประกอบการ/ภาคเอกชน 20 % และข้าราชการ/ภาครัฐ 25.1% จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ปรากฏว่า - ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสำนักงาน ป.ป.ช.และองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ด้านการต่อต้าน การทุจริต ได้คะแนน 5.71 จาก 10 ซึ่งนับว่าสูงที่สุด 6 รอบการสำรวจที่ผ่านมา - ประชาชนไม่สามารถที่จะทานทนต่อการทุจริต ซึ่งผลการสำรวจได้ค่าคะแนน 2.48 (คะแนน 0 = ไม่สามารถทนได้ คะแนน 10 = สามารถทนได้) รวมถึงผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพล (Master Poll) เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๙ เรื่อง ประสบการณ์ของแกนนำชุมชนต่อปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างแกนนำชุมชน จำนวน 1,076 ตัวอย่าง จากจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ได้ให้คะแนนผลการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (จากคะแนนเต็ม 10) พบว่ารัฐบาลได้คะแนนในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน 8.31 คะแนน ขณะที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ 8.12 คะแนน และสำนักงาน ป.ป.ท. ได้ 7.99 ประเด็นที่ ๒ สำนักงาน ป.ป.ช. จ้องดำเนินคดีทุจริตกับฝ่ายพรรคเพื่อไทย แต่ละเลยคดีของพรรคประชาธิปัตย์ ขอเรียนว่าการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยึดถือตามพยานหลักฐาน ไม่กลั่นแกล้งใคร และไม่ช่วยเหลือใคร ทั้งนี้เมื่อดูข้อมูลคดีโดยภาพรวมที่ผ่านมาของทั้งสองฝ่าย จะเห็นได้ว่า คดีของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดและมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไปในหลายคดี ตัวอย่างคดีที่ให้ข้อกล่าวหาตกไป เช่น (๑) กรณีคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้จ่ายเงินประกันตัวผู้ต้องขังคดีอาญาที่มีลักษณะเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองโดยไม่มีอำนาจและไม่มีกฎหมายรองรับ (๒) กรณีคณะรัฐมนตรีร่วมกันลงมติพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ (3) กรณีกล่าวหานายภูมิธรรม เวชยชัย เอื้อประโยชน์ให้บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด เป็นต้น ขณะที่คดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติทั้งชี้มูลความผิด ได้แก่ ชี้มูลนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กรณีแทรกแซงการปฏิบัติราชการของกระทรวงวัฒนธรรม (คดีถอดถอน) และให้ข้อกล่าวหาตกไป หลายคดีเช่นเดียวกัน ประเด็นที่ ๓ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ค่าคะแนนคุณธรรมและความโปร่งใส ปี ๒๕๕๙ (ITA) ๗๓.๕๒ คะแนน อยู่ลำดับที่ ๑๐๐ ยังไม่โปร่งใสเท่าที่ควร ขอเรียนว่า การวัดคุณธรรมและความโปร่งใสในระบบราชการ (ITA) มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจหน่วยงานของรัฐว่ามีมาตรฐาน คุณธรรมและความโปร่งใสในระดับใด ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานนั้นๆ ไปพิจารณาประเด็นที่มีค่าคะแนนน้อย เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น ดังนั้นหน่วยงานที่ได้รับค่าคะแนนน้อย จะต้องปรับปรุงองค์กรให้ดีขึ้น เพื่อคุณธรรมและความโปร่งใสในภาพรวมของประเทศจะดีขึ้น และได้รับการยอมรับจากสากล สำหรับสำนักงาน ป.ป.ช. สังคมอาจจะมองเรื่องความโปร่งใสเกี่ยวกับการขอข้อมูลหรือเปิดเผยข้อมูลทางคดี อันนี้จึงอาจเป็นจุดที่ทำให้ได้คะแนนประเมินในปีนี้ไม่สูง แต่เรื่องนี้ ป.ป.ช. มีความจำเป็นเนื่องจากข้อมูลทางคดีมีผลต่อการพิจารณา มีผลกระทบต่อบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในคดี ทำให้บางครั้งไม่อาจให้ข้อมูลหรือเปิดเผยได้ ซึ่งก็คงต้องมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป
แท็ก ป.ป.ช.   เอเชีย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ