“พลเอกฉัตรชัย”ร่วมถกรัฐมนตรีเกษตร ป่าไม้ อาเซียนครั้งที่ 38 ชงแผนแก้ประมงไอยูยูอาเซียน พร้อมขับเคลื่อนภาคเกษตร 4.0

ข่าวทั่วไป Monday October 10, 2016 13:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 38 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยท่าทีของประเทศไทยได้เสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ นอกจากจะยืนยันถึงความพร้อมของไทยในการสนับสนุนและร่วมมือด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ ให้มีความต่อเนื่องมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังหารือกับประเทศสมาชิกร่วมกับองค์กรระดับภูมิภาคและองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ในการเร่งรัดและผลักดันให้เกิดความร่วมมือแก้ไขปัญหาประมงไอยูยูในระดับภูมิภาคให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด รวมถึงการจัดทำ "นโยบายการประมงอาเซียน" เพื่อเสริมความเข้มแข็งของความพยายามร่วมกันในการทำการประมงอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบสู่ความเป็นหนึ่งของประชาคมอาเซียน ขณะเดียวกัน ประเทศไทยจะถือโอกาสนี้นำเสนอนโยบายของกระทรวงฯ ในบางประเด็น อาทิ การลดต้นทุนการผลิตในภาคการเกษตร นโยบาย "ประเทศไทย 4.0" เพื่อเปลี่ยนจากการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมมาเป็น "Smart Farming"และ "การทำการเกษตรแปลงใหญ่" ซึ่งประเทศไทยยินดีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับประเทศสมาชิกในเวทีต่างๆ ด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบใน 7 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การร่วมมือกันเพื่อมุ่งหน้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2568 ทั้งในด้านเศรษฐกิจระดับภูมิภาคในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน มีนวัตกรรมและมีพลวัต มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตเชิงผลผลิตสูงอย่างยั่งยืน ตามแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือของอาเซียนด้านปศุสัตว์ พืช และประมง ปี 2559-2563 รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือของอาเซียนด้านป่าไม้ ปี 2559-2568 รัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตัวชี้วัดของแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ ปี 2559-2568 2. ด้านความมั่นคงอาหาร โดยเฉพาะความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามกรอบนโยบายบูรณาการความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน (AIFS) และแผนกลยุทธ์ความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน (SPA-FS) ปี 2558-2563 เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารที่มีโภชนาการในภูมิภาคอย่างยั่งยืน 3. ผลักดันความร่วมมือภายใต้คณะทำงานด้านต่าง ๆ อาทิ การประสานงานในด้านมาตรฐานด้านอาหาร การเกษตร และผลิตผลป่าไม้ ในอาเซียนให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจเกี่ยวกับผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ รวมทั้งอำนวยความสะดวกด้านการค้า หารือแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านสหกรณ์การเกษตรของอาเซียน ปี 2558-2563 และการจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนด้านสุขภาพสัตว์และโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน เพื่อให้มีการดำเนินงานโดยเร็วต่อไป 4. ความร่วมมือด้านการดื้อยาปฏิชีวนะในภาคการเกษตร ทั้งในภาคปศุสัตว์และสาธารณสุขทำให้จำเป็นต้องสร้างยุทธศาสตร์ความร่วมมือ ความช่วยเหลือจากประเทศภาคีที่พัฒนาแล้ว และจากองค์กรที่สนับสนุนด้านงบประมาณ เพื่อที่จะกำหนดรากฐานสำหรับระบบสุขภาพสัตว์และคนที่ยั่งยืนในภูมิภาคนี้ด้วย 5.ความร่วมมือด้านป่าไม้ เช่น (1) การส่งเสริมการบริหารจัดการด้านป่าไม้ยั่งยืน (2) กระบวนการนโยบายป่าไม้สากล (3) การออกใบรับรองด้านป่าไม้ (4) การพัฒนาพืชสมุนไพรและพืชที่ใช้เป็นยา (5) การบังคับใช้กฎหมายสัตว์ป่าและความร่วมมือด้าน CITES เป็นต้น 6. ความร่วมมือด้านประมง ซึ่งเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยการบริหารจัดการด้านประมงอย่างยั่งยืน ส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัย และความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันของสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ประมงของอาเซียน 7.ความร่วมมือกับคู่เจรจาและองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่นFAO, UN, และ การประชุมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รวมทั้งการจัดตั้งกลุ่มเจรจาด้านการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ