ทั่วโลกผนึกกำลังปกป้องสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ที่การประชุมไซเตส

ข่าวทั่วไป Tuesday October 11, 2016 12:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--WWF -Thailand ณ ที่ประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) ครั้งที่ 17 ซึ่งมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมมากว่า 180 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันตัดสินใจในประเด็นต่างๆ ที่จะนำไปสู่การช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างเป็นรูปธรรม และยกระดับการต่อสู้กับขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการร่วมกันกำหนดเป้าหมายและถ้อยแถลงเกี่ยวกับการซื้อขายสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า ที่มีถิ่นอาศัยในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง เช่น งาช้าง นอแรด ตัวนิ่มหรือตัวลิ่ม และเสือ ทั้งนี้ หนึ่งในข้อตกลงร่วมที่ทุกประเทศสมาชิกต่างเห็นพ้องตรงกัน คือการคงไว้ซึ่งกฎห้ามซื้อขายงาช้างและนอแรดระหว่างประเทศ และยังเพิ่มการคุ้มครองการค้าตัวนิ่มและนกแก้วแอฟริกันเกรย์ โดยประเทศเวียนนาม เป็นตลาดค้านอแรดที่ใหญ่ที่สุด ในแต่ละปีแรดแอฟริกาจำนวนมากต้องจบชีวิตลงเพื่อสังเวยความต้องการการบริโภคนอแรด ซึ่งในที่ประชุมได้มีมติกดดันให้ประเทศเวียดนามและประเทศโมซัมบิกหาหนทางหยุดยั้งการค้านอแรดอย่างผิดกฎหมายภายในเวลา 1 ปี มิฉะนั้นทางกลุ่มจะมีมาตราการลงโทษทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเรียกร้องให้ ประเทศซึ่งยังเปิดให้มีตลาดค้างาช้างอย่างถูกกฎหมายภายในประเทศ เช่น ประเทศไทย ดำเนินมาตรการทางกฎหมาย หรือวางกฎระเบียบกดดัน เพื่อปิดตลาดเหล่านั้นให้ได้โดยเร็วที่สุด อีกข่าวที่น่ายินดี คือรัฐบาลลาวประกาศจะปิดฟาร์มเสือในประเทศ และเพื่อให้แน่ใจว่าเสือจำนวน 700 ตัวที่อยู่ในฟาร์มจะไม่ถูกส่งต่อไปยังตลาดค้าเสือในต่างประเทศ ทางการประเทศลาวจะนำเสือเหล่านี้ไปปล่อยกลับคืนสู่พื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายด้านชีวิภาพแห่งชาติ (National Biodiversity Conservation Areas) ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้จำนวนเสือในป่าของประเทศลาวกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง นอกจากนี้ หัวข้อการประชุมยังครอบคลุมไปถึงการกำหนดกฎระเบียบเรื่องการค้าปลาฉลามซิลกี ปลากระเบนปีศาจ รวมไปถึงพืชในตระกูลโรสวู๊ดให้เคร่งครัดมากยิ่งขึ้น นายเตียกเส็ง ผู้อำนวยการหน่วยอนุรักษ์ลุ่มแม่น้ำโขงของ WWF ให้สัมภาษณ์ว่า " เราได้เห็นความก้าวหน้าที่สำคัญในหลายประเด็น เช่น การค้างาช้าง นอแรด และเสือ จากการที่รัฐบาลทั่วโลกผนึกกำลังร่วมกันในการประชุมครั้งนี้ หลายประเด็นเป็นประเด็นที่ก้าวหน้ามากกว่าถ้อยแถลง โดยเฉพาะความจำเป็นในการปกป้องสัตว์ป่าที่ถูกคุกคาม อีกทั้ง ยังเป็นการช่วยเสริมพลังในการดำเนินงานและวางมาตรการบังคับด้านกฎหมาย เพื่อให้แน่ใจว่ากฎระเบียบด้านการซื้อขายสัตว์ป่าจะเกิดการบังคับใช้จริงมากกว่าเป็นแค่เสือกระดาษ" ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมยังให้การสนับสนุนกระบวนการทำงานตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งชาติ (National Ivory Action Plan: NIAP) ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงกับไซเตส โดยแผนปฎิบัติการนี้ จะช่วยทำให้เห็นช่องโหว่ของแต่ละประเทศในการควบคุมการค้างาช้าง รวมไปถึงช่วยยังยั้งการค้างาช้างที่จะเกิดขึ้น อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ หลายประเทศสมาชิกเริ่มหันมาใช้ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการทำประมงแบบยั่งยืน โดยไม่ทำร้ายปลาฉลามและปลากระเบน รวมไปถึงจำกัดกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการทำฟาร์มเสือและการค้าสัตว์ป่าที่เกิดจากการเพาะพันธุ์ ซึ่งจะช่วยป้องกันการนำสัตว์ป่ามาปลอมปนเพื่อการค้า คุณเทเรซ่า ฟรานซ์ หัวหน้าตัวแทนผู้เข้าร่วมประชุมจาก WWF กล่าวว่า "มีการพยายามต่อรองในที่ประชุม แต่ท้ายที่สุดแล้ว ผลของการประชุมคือการที่ทุกประเทศเห็นชอบร่วมกันที่จะลงมือป้องกันการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ และช่วยกันตรวจสอบประเทศสมาชิกอื่นๆ ว่าได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ โดยต่อไปนี้ ทุกประเทศจะไม่มีข้ออ้างใดๆ เพราะมีเครื่องมือในการทำงานที่หลากหลายและมีเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้น ดังนั้น จึงถือเป็นความรับผิดชอบของทุกประเทศที่จะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่ให้ไว้" การประชุมครั้งนี้ ยังถือเป็นครั้งแรกที่เปิดให้มีเวทีการสนทนาและยอมรับข้อสรุปในหลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นเร่งด่วนที่เกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่า เช่น ปัญหาคอร์รัปชั่น หรือการลดจำนวนความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า "การประชุมไซเตสครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมที่สำคัญและทรงพลังมากที่สุด จนอาจพูดได้ว่าเป็นการประชุมที่ประสบความสำเร็จที่สุดนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการจัดประชุมมา" คุณฟรานซ์กล่าว "ทุกประเทศทั่วโลกควรหันมาพิจารณากันอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมในท้ายที่สุด"
แท็ก Trade  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ