ครม. เห็นชอบกรอบปฏิญญาบาหลี ใช้วัฒนธรรมขับเคลื่อนสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ชูแนวคิดวัฒนธรรม พัฒนาด้านดิจิทัล-เศรษฐกิจสร้างสรรค์

ข่าวทั่วไป Wednesday October 12, 2016 10:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบรับรองเอกสารผลการประชุม World Culture Forum ครั้งที่ 2 ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ตามที่ วธ. เสนอ เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เชิญให้ประเทศไทย เข้าร่วมประชุม World Culture Forum จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "วัฒนธรรมเพื่อโลกที่ยั่งยืนเท่าเทียม (Culture for an Inclusive Sustainable Planet)" ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2559 เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนและแบ่งปันแนวคิดระหว่างผู้แทนรัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญนักวิชาการ ผู้จัดทำนโยบาย และภาคประชาสังคมจากทั่วโลก เกี่ยวกับประเด็นระดับโลกทางด้านวัฒนธรรมและการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดแนวทางร่วมกันในการที่จะนำวัฒนธรรมเป็นตัวขับเคลื่อนที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในการประชุมหารือระดับรัฐมนตรี จะมีการกล่าวถ้อยแถลงและรับรองร่างปฏิญญาบาหลี (Draft Bali Declaration) นายวีระ กล่าวต่อว่า สำหรับร่างปฏิญญาบาหลี ที่ประชุม ครม. เห็นชอบนั้น มีสาระสำคัญที่มุ่งเน้นการส่งเสริมบทบาทของวัฒนธรรมในการพัฒนาที่ยั่งยืนและการสงวนรักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรม สอดคล้องกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 โดยเน้นย้ำถึงการตอบสนองทางนโยบายต่อประเด็นทางวัฒนธรรม ซึ่งจะสามารถส่งผลต่อผลลัพธ์การพัฒนาที่เป็นธรรม ครอบคลุม ยั่งยืน และดียิ่งขึ้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการบูรณาการทางด้านวัฒนธรรมที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพในยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในทุกระดับ ผ่านข้อเสนอในการทำงานร่วมกัน อาทิ การขับเคลื่อนงานทางด้านวัฒนธรรมรูปแบบใหม่จากการพัฒนาด้านดิจิทัล และการเพิ่มพูนบทบาทของเยาวชนในกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมในทางบวก รวมถึงการส่งเสริมวัฒนธรรมทางด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตามการเข้าร่วมประชุม World Culture Forum ในฐานะผู้ประเทศไทยครั้งนี้จะเป็นการนำเสนอนโยบายและแนวทางการพัฒนาประเทศตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน รวมถึงการใช้มิติวัฒนธรรมในการส่งเสริมวัฒนธรรมทางด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการใช้ดิจิทัลมาอนุรักษ์ พัฒนางานวัฒนธรรม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ