กระทรวงอุตฯ ประกาศความสำเร็จโครงการ OPOAI ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ

ข่าวทั่วไป Wednesday October 12, 2016 15:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--คอร์ แอนด์ พีค สามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร คิดเป็นมูลค่ากว่า 326 ล้านบาท กระทรวงอุตสาหกรรมจัดพิธีมอบรางวัลและประกาศเกียรติคุณสถานประกอบการที่เข้าร่วม "โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค" ตามนโยบาย One Province One Agro – Industrial Product หรือโครงการ OPOAI ประจำปี 2559 โดยภาพรวมการประเมินโครงการฯ ได้ผลลัพธ์ (Outcome) ในระดับดีมาก ซึ่งก่อให้เกิดผลประโยชน์กับโครงการคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 326,418,755.44 บาท จากผู้เข้าร่วมโครงการ 137 ราย พัฒนา 200 แผนงาน นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยมาโดยตลอด ซึ่งการดำเนินโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาคตามนโยบาย One Province One Agro-Industrial Product หรือ OPOAI (โอปอย) ได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสถานประกอบการ เพื่อลดต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ /ระบบมาตรฐานสากล รวมถึงกำหนดให้มีกลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ รวมถึงการหาช่องทางการตลาด ซึ่งการดำเนินงานเชิงลึกเป็นการสนองนโยบายไทยแลนด์4.0 ของรัฐบาล เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกภาคส่วนในการต่อเครือข่ายเป็นจิ๊กซอว์ในลักษณะของการทำงานไตรภาคีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และเครือข่ายท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค เพื่อให้สถานประกอบการสามารถแข่งขันได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการ OPOAI นั้น กระทรวงฯ ได้จัดทีมที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ปรึกษาแนะนำสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการผ่านแผนงานพัฒนาที่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ใน 7 ด้านอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วย แผนงานที่ 1 การบริหารจัดการโลจิสติกส์ จำนวน 18 แผน มูลค่าผลประโยชน์ 31,879,291.50 บาท/ปี แผนงานที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จำนวน 56 แผน มูลค่าผลประโยชน์ 85,851,993.58บาท/ปี แผนงานที่ 3 การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน จำนวน 35 แผน มูลค่าผลประโยชน์ 37,297,631.88บาท/ปี แผนงานที่ 4 การลดต้นทุนพลังงาน จำนวน 19 แผน มูลค่าผลประโยชน์ 13,516,088.48 บาท/ปี แผนงานที่ 5 การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์/มาตรฐานสากล จำนวน 31 แผน มูลค่าผลประโยชน์ 70,500,000.00 บาท/ปี แผนงานที่ 6 กลยุทธ์การขับเคลื่อนทางการตลาด จำนวน 28 แผน มูลค่าผลประโยชน์ 77,373,750.00 บาท/ปี แผนงานที่ 7 การบริหารจัดการด้านการเงิน จำนวน 13 แผน มูลค่าผลประโยชน์ 10,000,000.00 บาท/ปี สำหรับสถานประกอบการดีเด่นจำนวน 12 ราย ที่ได้ขึ้นรับรางวัลประจำปี 2559 ได้แก่ แผนงานที่ 1 การบริหารจัดการโลจิสติกส์ บริษัท สารัชมาร์เก็ตติ้ง จำกัด จังหวัดเพชรบูรณ์ ผลิตภัณฑ์ : มะขามแปรรูป คลุกเกลือ บ๊วย กวน แช่อิ่ม บริษัท อรุณไรซ์เทรดดิ้ง จำกัด จังหวัดเพชรบูรณ์ ผลิตภัณฑ์ : ข้าว แผนงานที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ห้างหุ้นส่วนจำกัด แสงจันทร์ร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด ผลิตภัณฑ์ : ผลิตแป้งขนมจีนและเส้นขนมจีน บริษัท บุญเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด จังหวัดปทุมธานี ผลิตภัณฑ์ : ทำเต้าหู้และน้ำนมถั่วเหลือง โรงหมี่ตะคุ ตราแม่ตุ้ย จังหวัดนครราชสีมา ผลิตภัณฑ์ : เส้นหมี่โคราช แผนงานที่ 3 การปรับปรุงคุณภาพและปริมาณงาน บริษัท ศิริเรืองอำไพ จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ ผลิตภัณฑ์ : เครื่องเทศ สมุนไพร อบแห้ง บริษัท ไทยควอลิตี้สตาร์ช จำกัด จังหวัดกาญจนบุรี ผลิตภัณฑ์ : แป้งมันสำปะหลัง แผนงานที่ 4 การลดต้นทุนพลังงาน บริษัท สันติภาพอุตสาหกรรม จำกัด จังหวัดชลบุรี ผลิตภัณฑ์ : หีบน้ำมันพืชและผลิตอาหารสัตว์ แผนงานที่ 5 การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์/ระบบมาตรฐานสากล บริษัท ศิริเรืองอำไพ จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ ผลิตภัณฑ์ : เครื่องเทศ สมุนไพร อบแห้ง บริษัท นำชัยพาวเวอร์ ซัพพลาย จำกัด จังหวัดสุพรรณบุรี ผลิตภัณฑ์ : โรงอบข้าว สีข้าว แผนงานที่ 6 กลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด โรงงานจัมโบ้เอ จังหวัดสุโขทัย ผลิตภัณฑ์ : ผลิตและจำหน่ายไอศกรีม บริษัท วังมะนาวเกษตรภัณฑ์ จำกัด จังหวัดราชบุรี ผลิตภัณฑ์ : ป่น บด ร่อน พืช เมล็ดพืช และกากพืช สำหรับผสมเป็นอาหารสัตว์ นายสมชาย กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้ประกอบการที่เข้ารับรางวัลทั้งหมดมีผลการดำเนินงานที่เข้มแข็ง สามารถยกระดับธุรกิจของตัวเองให้มีศักยภาพทั้งเรื่องของการบริหารจัดการโลจิสติกส์ การเพิ่มประสิทธิภาพ และการลดต้นทุนพลังงานอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ทั้งนี้ทราบได้จากการลงพื้นที่ในแต่ละจังหวัด แต่ละสถานประกอบการ ซึ่งล้วนให้ความร่วมมือกับทีมที่ปรึกษาที่เข้าไปให้คำปรึกษาเป็นอย่างดี ทำให้ทีมที่ปรึกษาทราบเป้าหมาย ข้อเด่น ข้อด้อยของ แต่ละสถานประกอบการเพื่อระดมความคิดเห็นในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ตรงกับแผนงานที่สถานประกอบการนั้นๆ เข้าร่วมโครงการโอปอย ทั้งนี้เพื่อเป็นการเสริมจุดแข็ง และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นที่พึ่งของเกษตรกรในท้องถิ่นและเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับสถาบันการศึกษาหรืออื่นๆ ในการเข้าเยี่ยมชมสถานประกอบการนั้นๆ ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ