กพร.เผยอาชญาบัตรสำรวจแร่โพแทช แก่ไชน่า หมิงต๋า เพื่อสำรวจศักยภาพและคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ ยังไม่มีการอนุญาตผลิตแร่โพแทช

ข่าวทั่วไป Wednesday October 19, 2016 15:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เผยการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเพียงการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โพแทช มิใช่เพื่อการประกอบการและการผลิตแร่โพแทช โดยเงื่อนไขกำหนดว่าต้องได้รับการอนุญาตจากชุมชนในพื้นที่จึงจะสามารถดำเนินการสำรวจได้ โดยล่าสุด กพร. ได้ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปชี้แจงข้อมูลและข้อเท็จจริงแก่ประชาชนในพื้นที่ นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โพแทชตามปกติทั่วไป ให้แก่ บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ในพื้นที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร จำนวน 12 แปลง เนื้อที่รวม 116,875 ไร่ สำหรับอาชญาบัตรพิเศษดังกล่าวมีอายุ 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2558 และจะสิ้นอายุวันที่ 4 มกราคม 2563 ซึ่งเป็นการให้สิทธิเพียงสำรวจแร่ทางธรณีวิทยา โดยการขุดหรือเจาะสำรวจในพื้นที่เป้าหมายเพื่อนำข้อมูลมาประเมินศักยภาพแหล่งแร่ว่ามีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์หรือไม่ และต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ก่อนเข้าพื้นที่เพื่อทำการสำรวจ หากเจ้าของพื้นที่ไม่อนุญาตก็จะไม่สามารถเข้าสำรวจแร่ในพื้นที่ดังกล่าวได้ ทั้งนี้ แผนงานการสำรวจแร่จะมีการปรับเปลี่ยนไปตามข้อมูลธรณีวิทยาที่สำรวจพบในภาคสนาม และต้องทำการฝังกลบพร้อมกับฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังเสร็จสิ้นการสำรวจแล้ว อย่างไรก็ตาม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปชี้แจงประชาชนในพื้นที่ที่มีการอนุญาตอาชญาบัตรสำรวจแร่โพแทชดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเข้าใจและได้รับทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการสำรวจดังกล่าวไม่ได้เป็นสัญญาสำรวจและผลิตแร่โพแทช เนื่องจากบริษัทที่จะสามารถผลิตแร่ประกอบการเหมืองแร่ได้ เมื่อประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ขั้นตอนต่อไปต้องยื่นขอประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองซึ่งต้องดำเนินการตามระเบียบ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผ่านความเห็นชอบจากองค์การบริหารส่วนตำบลและชุมชนในพื้นที่ รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนการศึกษาวิจัยของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียเพื่อศึกษาข้อมูลโครงการและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ และการนำเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นขั้นตอนต่อไป นายสมบูรณ์ กล่าวสรุป สอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯโทรศัพท์ 0-2202-3555หรือเข้าไปที่www.dpim.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ