ข่มขืน=ประหาร: แนวคิดดรามาเป็นภัยแก่หญิง สร้างภาพแก่ผู้เสนอ

ข่าวอสังหา Thursday February 4, 2016 09:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เมื่อมีคดีข่มขืนอุกฉกรรจ์เกิดขึ้นทีไร ก็มักมีดาราสาวคนหนึ่งออกมาเรียกร้องให้ประหารผู้ข่มขืน แต่นี่เป็นการตอบสนองในเชิงอารมณ์ ซึ่งยิ่งเป็นภัยต่อผู้ถูกข่มขืนแต่กลับสร้างชื่อในฐานะ "เทพ" แก่ผู้เสนอ เราจะแก้ไขกันอย่างไรดี ต้นตอของปัญหาอยู่ที่ไหน ว่าอาชญากรรมทางเพศ ในความเป็นจริงกรณีที่ชายแปลกหน้าข่มขืนหญิงเป็นกรณีส่วนน้อยนิด ถ้าเราขาดข้อมูล เข้าใจไม่ตรงความจริง ก็อาจแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด ปัญหาอาชญากรรมทางเพศในประเทศไทยในปีที่แล้วมีการข่มขืนกันถึง 31,866 ราย (วันละ 87 ราย) {1} และอีกการศึกษาหนึ่งระบุว่า มักเกิดขึ้นโดยคนรู้จัก (60.1%) เกิดในเวลากลางวัน (57.9%) และมักเกิดขึ้นในบ้านของตัวเอง (70.9%) {2} กรณีที่น่าสลดกรณีหนึ่งก็คือ ข่าวคุณตา น้องชายคุณตาอีก 2 คนและพ่อบังเกิดเกล้า รวม 4 คน ข่มขืนเด็กหญิงมา 5 ปีตั้งแต่เด็กอายุ 9 ขวบ จนกระทั่งเกิดเหตุพ่อกับตาเปิดศึกชิงนาง ใช้มีดไล่ฟันกัน เด็กกลัวมากจึงออกปากบอกแม่ เรื่องจึงแดงขึ้น {3} ความสลับซับซ้อนในการแก้ไขปัญหาจึงเกิดขึ้น เราจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ผู้หญิงตกเป็นเครื่องบำบัดความใคร่ทางเพศ ทางออกของปัญหา ด้วยภาวะทางอารมณ์จึงมีการรณรงค์ให้ 'ข่มขืน = ประหาร' ซึ่งว่าตามความหนักเบาของการกระทำผิดแล้ว คงไม่ถึงขั้นโทษประหาร แต่หากข่มขืน-ฆ่า หรือแม้ฆ่าอย่างเดียว โทษสูงสุดก็ถึงขั้นประหารอยู่แล้ว หลายฝ่ายออกมาชี้ให้เห็นว่า 'เราต้องมาหาวิธีป้องกันจากต้นเหตุไม่ใช่ปลายเหตุ ตัวบทกฎหมายเรื่องการประหารมีอยู่แล้ว' {4} และบางครั้งก็อาจประหารผิดตัวก็ได้ แม้แต่หญิงที่จบปริญญาโทและถูกข่มขืนบนรถไฟเมื่อ 13 ปีก่อน ก็ยังไม่เห็นด้วยเพราะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด 'คนที่กระทำการข่มขืน ณ ขณะนั้นล้วนขาดสติ. . .(ทางแก้เร่ง) ปรับปรุงระบบคุ้มครองความปลอดภัยของหญิงมากกว่า และควรเน้นรณรงค์การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น อาทิ จำคุกตลอดชีวิต. . .เราควรเน้นการแก้ไข ไม่ใช่การแก้แค้น {5} ทั้งนี้สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของเพื่อนบ้าน ที่เห็นว่าปกติคนร้ายที่ข่มขืนบนรถไฟเป็นคนเรียบร้อยดี อัธยาศัยดี {6} แต่ในแง่หนึ่ง ยาบ้าน่าจะเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดการก่อเหตุร้าย {7} กรณีศึกษาในต่างประเทศ ในบทความเรื่อง "ข่มขืนแล้วประหารไม่ช่วยอะไร?" {8} ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า: 1. จีนก็มีการลงโทษข่มขืน=ประหาร แต่ผู้ชาย 23% ยอมรับว่าเคยข่มขืนผู้อื่นอย่างน้อย 1 ครั้ง 2. เนเธอร์แลนด์ มีการลงโทษผู้ข่มขืนอย่างหนัก แต่กลับมีอัตราเฉลี่ยการข่มขืนเกือบสูงที่สุดในยุโรป 3. อินเดียเริ่มมีโทษข่มขืน=ประหาร อัตราการข่มขืนและการแจ้งความเท็จเพื่อแกล้งกันกลับเพิ่มขึ้น 4.ซาอุดิอาระเบีย ก็มีโทษทำนองนี้ แต่เกือบทั้งหมดของคดีกระทำโดยญาติหรือคนใกล้ชิดของพวกเธอเอง 5. อิหร่าน เหยื่อส่วนใหญ่ถูกฆ่าปิดปากและเผาใบหน้าเพราะกลัวถูกแจ้งความหรือกลัวจำหน้าเหยื่อได้ การลงโทษมักไม่สมควรแก่เหตุ กรณีการฆ่าบนรถไฟนี้ สมควรลงโทษคนร้ายอย่างยิ่ง แต่ที่ผ่านมา เคยมีเหตุการณ์ฆ่าที่เหี้ยมโหดกว่านี้มามาก แต่สุดท้ายได้รับการลงโทษไม่สมควรแก่เหตุ 1. คดีชาย 30 คนรุมข่มขืนหญิงจนตายแล้วนำร่างไปให้รถไฟทับตาย {9} แต่สุดท้ายผู้ต้องหาที่ถูกฟ้องได้จริงมีแค่ 8-9 คน ติดคุกกันไม่เกิน 10 ปีก็ออกจากคุก 2. คดีที่ก่อทั้งที่มีสติสัมปชัญญะ ไม่ได้เสพยาบ้าสักเม็ดและโดยปัญญาชนแท้ๆ ก็คือ นายเสริม นักศึกษาแพทย์มหิดล {10} และ นพ.วิสุทธิ์ โรงพยาบาลจุฬาฯ {11} ที่ฆ่าแล่เนื้อหั่นศพหญิง ปัจจุบันนี้นายเสริมออกจากคุกแล้ว ส่วน นพ.วิสุทธิ์ คาดว่าจะได้ออกมาภายในปี 2557 โดยทั้งคู่ติดคุกอยู่ประมาณ 13 ปี 3. คดี 'ไอ้หนุ่ย' ฆาตกรต่อเนื่องฆ่าขืนใจเด็ก 6 ขวบ รวมเหยื่อกว่า 10 ราย (ตาย 4 ราย) สุดท้ายศาลตัดสินประหารชีวิต แต่ลดโทษให้เพราะสารภาพเหลือจำคุกตลอดชีวิต {12} 4. ในอีกแง่หนึ่งมักจะมีผู้รอดพ้นคดีโดยสังคมเข้าใจว่าเป็นเพราะมีฐานะดี เช่น คดีลูก ส.ส.จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ข่มขืนสาวพม่าจนไส้แตก ข่มขืนนักศึกษา ฆ่าและพยายามฆ่า มียาเสพติด ฯลฯ ก็ไม่ถูกประหาร {13} และกรณีลูกนักร้องเพลงเพื่อชีวิตก็รอดคดีข่มขืน {14} เป็นต้น ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม คงต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของไทย เพราะหากเป็นในยุโรปและอเมริกา โทษของนักโทษเด็ดขาดก็ไม่มีการลดแล้วลดอีก สารภาพลดครึ่ง ฯลฯ ในยุคสมัยใหม่ อารยประเทศมักไม่ใช้การประหารชีวิต แต่ลำพังแค่โทษจำคุกตลอดชีวิตหรือ 50 ปีโดยไม่มีการลดโทษ ซึ่งหนักกว่าตายทั้งเป็น ก็ทำให้คนคิดก่ออาชญากรรม จะได้เตือนตนอยู่ตลอดเวลาก่อนเข้าสู่ภาวะขาดสติก็ได้ ในสังคมตะวันตก การบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัด เช่น การเข้าสถานบันเทิง/ดื่มของมึนเมา ต้องมีอายุ 21 ปีขึ้นไป ผู้เข้าใช้บริการต้องถูกตรวจบัตร สังคมตะวันตกค่อนข้างเปิดกว้างด้านเพศสำหรับผู้ใหญ่ (อายุ 18 ปีขึ้นไป) ที่ยังไม่แต่งงาน และหลายประเทศยังมีสถานบริการถูกกฎหมาย การฉุดคร่าข่มขืน จึงมีน้อย และหากมีคดีจะถูกลงโทษหนักให้เข็ดหลาบ (แต่ไม่มีประหารเพียงแต่ไม่มีการลดโทษเป็นระยะ ๆ เช่นในกรณีประเทศไทย) ปมคือทุจริต+กระจายทรัพยากร เราอยู่ในสังคมแห่งการเอารัดเอาเปรียบที่ 'รวยกระจุก จนกระจาย' อาชญากรรมและความรุนแรงเป็นผลพวงของความยากจน ประชาชนจึงต่าง 'ปากกัดตีนถีบ' พ่อแม่ก็ไม่ค่อยได้ดูแลลูก การใช้ยาเสพติด การ 'หากินแนวนอน' ตลอดจนการโชว์เนื้อหนังมังสา ก็เพื่อบำบัดความขาดแคลน แต่เป็นการกดขี่ทางเพศ ทำให้หญิงกลายเป็นแค่เครื่องบำบัดความใคร่ ชายไทยโดยเฉพาะที่ยากจน และเป็นปุถุชนที่ถูกจับได้ว่ากระทำความผิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดทางเพศ จะถูกประณามด้วยความโกรธแค้นจากสังคม ยิ่งหากเสพยา ก็ยิ่งถูกประณามหนักข้อยิ่งขึ้น แต่สังคมก็ไม่ค่อยกล้าไปตอแยกับคนรวยหรือผู้มีอิทธิพลที่กระทำผิดมากนัก และส่วนมากมักกลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งไปในที่สุด เงินไขกุญแจได้ทุกดอก ด้วยเหตุนี้เองการทุจริตและประพฤติมิชอบจึงกระจายไปทุกหย่อมหญ้า ในเชิงโครงสร้าง วิธีช่วยเหลือประชาชนให้มั่นคงปลอดภัย มีสวัสดิภาพก็คือการพัฒนาเศรษฐกิจที่ให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้โดยการจัดสรรทรัพยากร ทุน และภาษีอย่างเป็นธรรม แต่งบประมาณปี 2559 จำนวน 2.72 ล้านล้านบาทนั้น เป็นของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์เพียง 10,078 ล้านบาท (0.4%) เท่านั้น {15} นอกจากนี้ยังมีคนเข้าใจว่าคนรวยเสียภาษีมากกว่าคนจนซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิง {16} อย่าแก้ปัญหาด้วยอารมณ์แบบดรามา จนลืมปัญหาทุจริตและการกระจายทรัพยากรที่เป็นต้นตอของปัญหาอาชญากรรม (ทางเพศ) อย่าเห็นแต่ต้นไม้โดยไม่เห็นป่า ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ