เทพศิรินทร์: โตไปไม่โกง รับใช้ประชาชน

ข่าวอสังหา Monday November 30, 2015 16:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ และอดีตรองเลขาธิการสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เขียนบทความข้างต้นในหนังสือ "รำเพยจรัสแสง" ในโอกาสงานชื่นชุมนุมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2558 AREA แถลงฉบับนี้จึงนำบทความ "เทพศิรินทร์: โตไปไม่โกง รับใช้ประชาชน" มานำเสนอไว้ ณ ที่นี้ เทพศิรินทร์: โตไปไม่โกง รับใช้ประชาชน ดร.โสภณ พรโชคชัย* "เทพศิรินทร์ถิ่นนี้คือที่รัก เทพศิรินทร์พร้อมพรรคสมัครสมาน เทพศิรินทร์สามัคคีพลีดวงมาลย์ เทพศิรินทร์ถิ่นสถานสำราญใจ เทพศิรินทร์ถิ่นนี้มีชื่อก้อง เทพศิรินทร์แซ่ซ้องถึงไหน ๆ เทพศิรินทร์ถิ่นนี้มีชื่อไกล เทพศิรินทร์เปลี่ยนใจเราให้ดี" ผมจำบทกลอนข้างต้นได้ในสมัยที่ผมเรียนอยู่โรงเรียนเทพศิรินทร์ในช่วงปี 2515-2518 (แล้วไปสอบเทียบเข้าธรรมศาสตร์) ผมเชื่อว่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ของเราสอนให้เราภูมิใจในโรงเรียนของเรา เรามีศักดิ์ศรีของความเป็นเทพศิรินทร์ มีเกียรติ เราย่อมไม่โกงหรือทำสิ่งใดเสื่อมเสียต่อประเทศชาติ หรือในยุคสมัยนี้คงต้องบอกว่า "โตไป ไม่โกง" ดังคำรณรงค์ของสภาหอการค้าไทย ที่ผมเป็นกรรมการสาขาจรรยาบรรณ สาขาความรับผิดชอบต่อสังคม และสาขาต่อต้านการทุจริตมาหลายสมัยแล้ว บ่อเกิดการทุจริต เราจะสอนเด็กอย่างไรให้มีความสุจริต โตไปไม่โกงหรือเคารพสิทธิของผู้อื่น หากเราไปต่างประเทศโดยเฉพาะในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย จะพบว่าเวลาประชาชนข้ามถนน แม้เป็นช่วงไฟแดง ก็ยังหยุดรถให้คนข้ามก่อน ไม่ใช่ถือว่าตนมีรถ หรือมีรถคันใหญ่กว่า ทั้งนี้ต่างจากในประเทศไทยของเรา ที่รถมักจะเบียดเสียดไปก่อนคน เพราะถือตนเป็นเจ้าของถนน รถคันไหนที่จอดให้เราข้าม เรายังต้องค้อมศีรษะให้เพื่อแสดงความขอบคุณเสียอีก ทำไมในประเทศตะวันตกเขาให้เกียรติหรือเคารพคนข้ามถนนเกิดขึ้นได้ ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ หรือเพราะพวกฝรั่งเขา "เอาธรรมะเข้าข่ม" แบบที่สอนในบ้านเรา แต่เพราะกฎหมายของเขาแรงและต่อเนื่อง ใครฝ่าฝืนมีโทษสูง ทุกคนจึงปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัดจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ และถือเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเรา แต่ในประเทศไทยของเรา การบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เคร่งครัด ไม่เสมอหน้ากันเท่าที่ควร ถ้าตราบใดที่บ้านเรายังมีอภิสิทธิ์ชนที่เหนือกว่าชาวบ้านชาวช่องทั่วไป ไม่ใช่ถือคนเท่ากัน ตราบนั้นเราก็ยังไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยิ่งต้องจัดงานตบเท้าอวยพรวันเกิด ปีใหม่ สงกรานต์ เลื่อนขั้น ฯลฯ ซึ่งเป็นประเพณีที่ควรมีเฉพาะในบ้าน ในชุมชน แต่จัดกันเอิกเกริกกันในสถานที่ทำงาน ในเวลาราชการ ใช้ทรัพยากรของหลวงมาอวยกันส่วนบุคคล ก็ยิ่งเป็นการส่งเสริมการทุจริต เพราะการได้ดีของบุคคล ไม่ได้เกิดจากผลงาน เกิดจากการ "เลีย" หรือขึ้นอยู่กับ "ด.ว.ง." คือ "เด็กใคร" "วิ่งไหม" และ "เงินถึงหรือเปล่า" นั่นเอง รณรงค์โตไปไม่โกง พวกเราชาวเทพศิรินทร์มาร่วมกันสร้างสำนึกรู้คุณและรับใช้ประชาชน ให้เกิดขึ้นในหมู่นักเรียน นักศึกษาและข้าราชการทุกหมู่เหล่า เพื่อจะได้ไม่ทรยศ คดโกงประชาชน ด้วยความตระหนักรู้ด้านค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่ได้รับการอุดหนุนจากประชาชน โดยเฉพาะประชาชนคนเล็กคนน้อยที่ร่วมกันเสียภาษีเป็นหลัก ไม่ใช่ภาษีจากคนรวยส่วนน้อยเป็นหลัก อีกอย่างหนึ่งก็คือการเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน และไม่ได้ใช้ศาสนาเข้าข่มเพื่อให้ทำดีแต่อย่างใด โครงการ "โตไปไม่โกง" เริ่มมาตั้งแต่สมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และมาจนถึงนายกฯ ประยุทธ์ ที่ยังเสริมต่อด้วยการให้มีกลุ่มวิชาใหม่แก่นักเรียน นั่นคือกลุ่มวิชาเสริมสร้างความเข้มแข็งของประเทศ เพื่อให้เด็ก เยาวชน มีความสำนึก ตระหนักรู้ถึงหน้าที่พลเมืองและสิทธิ สร้างเสริมให้ประเทศมีความเข้มแข็ง" ผมเห็นว่าแนวทางการรณรงค์โตไปไม่โกงและการให้รู้จักสิทธิและหน้าที่ของนักเรียนนั้น ไม่ได้อยู่ที่การส่งเสริมแนวคิดด้านศีลธรรม หรือเอาความเชื่อทางศาสนามารณรงค์ เพราะอาจมีประเด็นอ่อนไหวทางด้านศาสนาได้ ตรรกะ "รับใช้ประชาชน" การที่จะรณรงค์โตไปไม่โกงหรือการมีสึกนึกตระหนักรู้ถึงหน้าที่พลเมืองและสิทธินั้น ต้องให้นักเรียน ตลอดจนข้าราชการทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงบุญคุณของประชาชนผู้เสียภาษี จะได้มีจิตใจ "รับใช้ประชาชน" อย่างแท้จริง โดยนำตัวเลขมาพิจารณาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ดังนี้: 1. จำนวนนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศ ณ ปี 2556 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดที่หาได้ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีถึง 13,606,743 คน (http://goo.gl/ysQwqQ) 2. ในแต่ละปีรัฐบาลใช้จ่ายเงินเพื่อการศึกษาเป็นจำนวนมาก เช่น จากข้อมูลของสำนักงบประมาณ งบประมาณด้านการศึกษาในปี 2556 คิดเป็นเงินถึง 493,892 ล้านบาท http://goo.gl/rufUVu) 3. โดยนัยนี้ นักเรียนนักศึกษาคนหนึ่งใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อการศึกษาเป็นเงินถึง 36,298 บาท เงินจำนวนนี้ นักเรียน นักศึกษาอาจไม่ได้เป็นเงินสด แต่ก็คือค่าจ้างครูอาจารย์ ค่าก่อสร้างอาคารเรียน ค่าคุรุภัณฑ์ อุปกรณ์การศึกษาและอื่น ๆ รวมกันนั่นเอง 4. สำหรับการศึกษาในชั้นก่อนอุดมศึกษานั้น นักเรียนคนหนึ่ง ๆ คงใช้เงินปีละไม่เกิน 5,000 บาท ส่วนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาเฉลี่ยอาจเป็นเงินปีละ 15,000 บาท (Eduzone:https://goo.gl/VqjiK3) ยกเว้นนักศึกษาแพทย์ วิศวกร นักศึกษาอาจจ่ายค่าเล่าเรียนสูงกว่านี้ 5. ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าในการเรียนแต่ละปีตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษา รัฐบาลออกเงินให้เป็นส่วนใหญ่ ในระดับอุดมศึกษา รัฐบาลก็ออกเงินให้ราว 2 เท่าของค่าใช้จ่ายที่นักศึกษาแต่ละคนออก โดยนัยนี้ นักเรียน นักศึกษาส่วนใหญ่จึงเป็นหนี้บุญคุณต่อประชาชนที่เสียภาษีให้ อย่างไรก็ตามบางท่านอาจเรียนโรงเรียนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน แต่ทางราชการก็ให้เงินสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับสถานศึกษาเอกชนเช่นในด้านการพัฒนาบุคลากร และอื่น ๆ เป็นจำนวนมากเช่นกัน ภาษีมาจากประชาชนจริงๆ เพื่อให้ได้ฐานเดียวกัน ในที่นี้จึงใช้ข้อมูลรายได้ของประเทศไทยแยกตามประเภทของภาษีประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 http://goo.gl/8K05Ym) ดังนี้: รายได้แยกตามประเภท ล้านบาท % ภาษีมูลค่าเพิ่ม 698,087 27% ภาษีเงินได้นิติบุคคล 592,499 23% ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 299,034 12% ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 113,291 4% ภาษีอื่นๆของสรรพากร 61,796 2% ภาษีสรรพสามิต (น้ำมัน รถ เบียร์ ยาสูบ ฯลฯ) 432,868 17% ภาษีกรมศุลกากร 113,382 4% รายได้รัฐวิสาหกิจ 101,448 4% รายได้หน่วยงานอื่น 159,016 6% รวมรายได้ประจำปีงบประมาณ 2556 2,571,421 100% ภาษีส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากบริษัทห้างร้านหรือประชาชนผู้เสียภาษีทางตรงนั้น นั่นเป็นความเข้าใจผิด จากยอดรายได้ของประเทศไทยทั้งหมดประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 จำนวน 2,571,421 ล้านบาท ภาษีนิติบุคคลเก็บได้เพียง 23% ของภาษีทั้งหมด ส่วนภาษีบุคคลธรรมดามีเพียง 12% เท่านั้น รายได้อันดับหนึ่งของประเทศมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 27% ส่วนที่ว่ากรุงเทพมหานครเสียภาษีมากกว่าเพราะมักเป็นแหล่งผลิตสุดท้ายหรือแหล่งส่งออก จึงทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติสูงถึง 44% ของรายได้ประชาชาติโดยรวม แต่ไม่ได้หมายความว่าบริษัทห้างร้านหรือคนในกรุงเทพมหานคร เป็นผู้เสียภาษีมากกว่าประชาชนในชนบทแต่อย่างใด อาจกล่าวได้ว่า ประชาชนทั่วประเทศส่วนใหญ่เสียภาษีทางอ้อมต่าง ๆ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีปิโตรเลียม ภาษีสรรพสามิต ฯลฯ ดังนั้นประชาชนส่วนใหญ่ทั่วประเทศซึ่งไม่ใช่คนร่ำรวยแต่เป็นคนธรรมดาจำนวนหลายสิบล้านคน จึงเสียภาษีมากกว่าบุคคลธรรมดาที่ร่ำรวย อันที่จริงนิติบุคคลต่างๆ (ยกเว้นบริษัทมหาชนซึ่งมีไม่กี่ร้อยแห่ง) มักเลี่ยงภาษีในรูปแบบต่าง ๆ หรือเสียภาษีให้น้อยที่สุด แม้แต่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ ยังอาจเสียภาษีมากกว่าคนรวย เพราะพวกเขาต้องเสียภาษีล้อเลื่อน (จักรยานยนต์ รถยนต์รายปี) ส่วนคนร่ำรวย มีที่ดินอยู่จำนวนมหาศาล มูลค่านับร้อย นับพัน นับหมื่นล้านบาท ก็แทบไม่เคยเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอะไรเลย โดยนัยนี้ ผู้ที่มีบุญคุณต่อนักเรียนนักศึกษามากที่สุดก็คือประชาชนคนเล็กคนน้อยที่เสียภาษีผ่าน VAT และอื่นๆ มากกว่าคหบดีที่อ้างตนว่าเสียภาษีทางตรงเฉพาะรายสูงกว่าประชาชนทั่วไป ดังนั้นเป้าหมายการศึกษาของเราจึงควรมุ่งไปที่การรับใช้ประชาชน อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน แนวคิดการศึกษาเพื่อรับใช้ประชาชนนั้น แทบไม่เคยมีใครสอนในสถาบันอุดมศึกษายุคใหม่ นี่แสดงว่าเราขาดการทดแทนคุณต่อประชาชนและประเทศชาติ เห็นเกียรติและศักดิ์ศรีของมนุษย์ ถ้าเราจำกันขึ้นใจว่า ที่เรามีระบบการศึกษานี้ ก็เพราะคนเล็กคนน้อยที่เสียภาษีให้เราได้เรียน เราก็จะไม่ดูหมิ่นดูแคลนคนเล็กคนน้อย ตาสีตาสา ยายมี ยายมา รู้จักคิดแทนคุณ ไม่คิดกล้าที่จะไปโกง ไปทำร้ายคนอื่น ยามที่เราจะช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก เราก็จะช่วยเหลือพวกเขาด้วยความรู้สึกเป็นมนุษย์ที่พึงช่วยเหลือกัน ไม่รู้สึกว่าเป็นการไปโปรดบุคคลที่ต่ำกว่า เราต้องปลูกฝังอุดมการณ์รับใช้ประชาชนตั้งแต่เด็ก ส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาจำให้ขึ้นใจว่าผู้มีพระคุณที่แท้จริงของพวกเขาคือประชาชนที่ทำให้เขาได้เรียน จะได้แทนคุณประชาชน แทนคุณแผ่นดิน ที่สำคัญต้องไม่ทรยศต่อประชาชนและประเทศชาติ ไม่ใช่มุ่งแต่กอบโกยเพื่อตนเองซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์ทำลายชาติ การรับใช้ประชาชนและประเทศชาติเป็นพันธกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของนักเรียน นักศึกษา การเริ่มต้นคิดเพื่อส่วนรวม ย่อมเป็นมงคลต่อตนเอง และทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนในที่สุด แนวทางการรับใช้ประชาชน การรับใช้ประชาชนมีหลายมิติ แต่สิ่งที่ควรพิจารณาในด้านอุดมการณ์ก็คือทุกคนต้องตระหนักถึงภาระนี้ ให้เห็นว่าผู้มีบุญคุณที่แท้จริงคือประชาชนผู้เสียภาษี หาใช่ใครอื่น เราต้องมีหลักยึดที่การทำดีต่อชาติและประชาชน มุ่งสร้างสรรค์ให้ดี ไม่ใช่ดูแต่ตัวเอง (เป็นพวก Self-centredness) ประเภท "พอถูกตะปูตำเท้าตัวเดียว ก็ (เจ็บปวดนึกถึงแต่ตนเอง) จนลืมโลกไปได้ทั้งโลก" เป็นต้น ในแง่ปฏิบัติก็คือ 1. ต้องทำธุรกิจหรือทำงาน ทำตัว ให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะเลี่ยงกฎหมาย ฉ้อฉลไม่ได้ เพราะเท่าก้บโกงประชาชน 2. ต้องมีจรรยาบรรณนักธุรกิจ นักวิชาชีพ ข้าราชการ ฯลฯ จะหลีกเลี่ยงเพื่อเอาประโยชน์ตนถ่ายเดียวไม่ได้ 3. ต้องบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม บริจาค ทำดีด้วยแรงที่เป็นการรับใช้ประชาชน รับใช้สังคมอย่างชัดเจนไม่ใช่ทำดีเอาหน้า หรือแทบไม่เคยทำดี เราต้องปลูกฝังอุดมการณ์รับใช้ประชาชนตั้งแต่เด็ก ส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาจำให้ขึ้นใจว่าผู้มีพระคุณที่แท้จริงของพวกเขาคือประชาชนที่ทำให้เขาได้เรียน จะได้แทนคุณประชาชน แทนคุณแผ่นดิน ที่สำคัญต้องไม่ทรยศต่อประชาชนและประเทศชาติ ไม่ใช่มุ่งแต่กอบโกยเพื่อตนเองซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์ทำลายชาติ การรับใช้ประชาชนและประเทศชาติเป็นพันธกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของนักศึกษา การเริ่มต้นคิดเพื่อส่วนรวม ย่อมเป็นมงคลต่อตนเอง และทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนในที่สุด การรับใช้ประชาชนมีหลายมิติ ไม่ใช่ว่าต้องไปเป็นอาสาสมัคร ทำงานสมาคม มูลนิธิอะไรเสียอย่างเดียว สิ่งที่ควรพิจารณาก็คือ ในด้านอุดมการณ์ก็คือทุกคนต้องตระหนักถึงภาระนี้ ให้เห็นว่าผู้มีบุญคุณที่แท้จริงคือประชาชนผู้เสียภาษี หาใช่ใครอื่น เราต้องมีหลักยึดที่การทำดีต่อชาติและประชาชน มุ่งสร้างสรรค์ให้ดี ไม่ใช่ดูแต่ตัวเอง (เป็นพวก Self-centredness) ประเภท "พอถูกตะปูตำเท้าตัวเดียว ก็ (เจ็บปวดนึกถึงแต่ตนเอง) จนลืมโลกไปได้ทั้งโลก" เป็นต้น ความสำคัญของครูเทพศิรินทร์ ในประเทศสแกนดิเนเวีย การเป็นครูที่นี่มีสถานะที่ดีในสังคม เขาคัดคนเก่ง ๆ มาเป็นครู คนมีอาชีพเป็นครูจะได้รับการยกย่องในฐานะนักวิชาชีพระดับสูงเช่นเดียวกับ หมอ วิศวกร สถาปนิก เป็นต้น ที่เขาคัดคนเก่ง ๆ มาเป็นครูก็เพราะจะได้อบรมบ่มเพราะเด็กๆ ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ แต่เชื่อว่ามีคนที่เรียนครู คนเป็นครูในไทยเราหลายคนที่อาจมีความรู้ ความสามารถจำกัด อนาคตของเด็กไทยจึงอาจกลายเป็น "อนางอ" ไป เราจึงต้องพัฒนาครูเทพศิรินทร์ของเราให้มีความรู้ความสามารถยิ่งๆ ขึ้นเพื่อเทพศิรินทร์ของเรา ในสแกนดิเนเวียอีกเช่นกัน การจัดการศึกษาที่นี่จัดอย่างดีท่าเทียมกันเพราะทุกคนได้เสียภาษีไปแล้ว บุตรหลานของคนรวยหรือคนจนก็รับการศึกษาที่ดีเท่ากัน ไม่มีระบบที่ผู้ปกครองต้องส่งเด็กไปเรียนพิเศษ เพราะเท่ากับเป็นสร้างความไม่เท่าเทียมกันในโอกาสการศึกษาของผู้ที่มีฐานะด้อยกว่า เราต้องตั้งเป้าหมายให้เรียนที่โรงเรียนแล้ว มีคุณภาพดีเยี่ยม ไม่ต้องไปเรียนพิเศษอีก การสร้างความเท่าเทียมกันเช่นนี้ เด็กเทพศิรินทร์โตไปก็จะไม่แสวงหาโอกาสพิเศษที่จะไปช่วงชิงอย่างไร้ยางอายกับคนอื่น ข้อคิดส่งท้าย คงต้องปิดท้ายด้วยเพลง "เป้าหมายการศึกษา" ซึ่งแต่งโดยคุณนเรศ นโรปกรณ์ ความว่า: "เพียงหวังจะเฟื้องฟุ้ง หรือจะมุ่งมาศึกษา เพียงเพื่อปริญญา เอาตัวรอดเท่านั้นฤา แท้ควรสหายคิด และตั้งจิตร่วมยึดถือ รับใช้ประชาคือ ปลายทางเราที่เล่าเรียน" เกี่ยวกับผู้เขียน * ดร.โสภณ พรโชคชัย เข้าเรียน ม.ศ. 1 ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2515 และสอบเทียบมัธยมปลายได้ตั้งแต่เรียน ม.ศ. 4 ในภาคการศึกษาแรกและสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เลย ดร.โสภณ จบปริญญาเอกด้านการวางแผนพัฒนาที่ดินและที่อยู่อาศัย จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย และยังได้รับการศึกษาต่อเนื่องจากมหาวิทยาลัยคาธอลิกลูแวง และสถาบันนโยบายที่ดินลินคอล์นด้านที่อยู่อาศัยและการประเมินค่าทรัพย์สิน ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริหารศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) และผู้อำนวยการโรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย และเคยเป็นที่ปรึกษาในโครงการของธนาคารโลก องค์การสหประชาชาติ กระทรวงการคลังเวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา และอื่นๆ สนใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ ดร.โสภณ พรโชคชัย ติดต่อได้ที่ Email: sopon@area.co.th หรือที่ http://www.facebook.com/dr.sopon4 อ้างอิง: AREA แถลง ฉบับที่ 363/2558:วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th; www.facebook.com/dr.sopon4) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ